8 พ.ค. 2022 เวลา 04:50 • ประวัติศาสตร์
Jean Francois Berenguer ช่างหล่อปืนใหญ่ส่งออกระดับโลก
ภาพประกอบ : ฌอง-ฟรองซัวส์ เบเรงเยร์ วาดโดย โจฮันน์ แอร์นสท์ ไฮเชียส ภาพนี้อยู่ที่ เลอแซ็งวาลิด กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
หน้ากระทรวงกลาโหม มีปืนใหญ่ทั้งหมด 40 กระบอก มีอยู่ 7 กระบอก ได้แก่ พระอิศวรปราบจักรวาฬ คนธรรพแผลงฤทธ มหาจักรกรด ชนะหงสา ปราบอังวะ ลมประไลยกัลป์ และพรหมมาศปราบมาร จารึกชื่อ J.Berenger บนท้ายกระบอก เขาผู้นี้เป็นใคร? เกี่ยวกับวงการผลิตอาวุธอย่างไร? และผลงานของเขาอยู่ที่ไหนบ้างนอกจากที่ประเทศไทย?
ปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหม ถ่ายจากพิพิธภัณฑ์กระทรวงกลาโหม
J.Berenger คือชื่อย่อของ Jean-Francois Berenger (ฌอง-ฟรองซัวส์ เบเรงเยร์) นายช่างหล่อปืนใหญ่ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี ค.ศ.1725 ที่เมืองดวย (Douai) ราชอาณาจักรฝรั่งเศส เป็นบุตรของฟรองซัว์ส์-ซิมง เบเรงเยร์ (1690-1747) เจ้ากรมโรงหล่อปืนใหญ๋ ณ เมืองดวย ฌองเรียนรู้เทคโนโลยีการหล่อปืนใหญ่จากโจฮัน มาริตซ์ (1680-1743) นักประดิษฐ์ชาวสวิสเจ้ากรมโรงหล่อปืนใหญ่ ณ เมืองสตาร์สบูร์ก
แผนที่เมืองดวย เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโอตื เดอ นอร์ดของฝรั่งเศส
ฌองขึ้นมารับตำแหน่งเจ้ากรมแทนบิดาในปี ค.ศ. 1747 มีหน้าที่หล่อปืนใหญ่ให้กับราชสำนักฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เพื่อส่งไปประจำการตามดินแดนอาณานิคมในอเมริกา (ดังที่ปรากฏพบที่ป้อมทิคอนเดอโรก้าในมลรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา) และอินเดีย (ปรากฏพบที่พิพิธภัณฑ์สงครามวอเตอร์ลู ประเทศเบลเยี่ยม และพิพิธภัณฑ์อาวุธในหอคอยลอนดอน สหราชอาณาจักร)
ปืนใหญ่ที่หล่อโดยเบเรงเยร์ อยู่ที่ป้อมทิคอนเดอโรก้า ในสหรัฐอเมริกา
ปืนใหญ่ที่หล่อโดยตระกูลเบรังเยร์จะมีเอกลักษณ์ตรงที่ปากกระบอกแกะสลักลวดลายพันธุ์พฤกษา พร้อมชื่อภาษาฝรั่งเศส เช่น Le Sanguinaire (จอมกระหายเลือด) หรือ Japet (ยักษ์ไททันตนหนึ่ง) ส่วนท้ายกระบอกประทับพระปรมาภิไธยย่อของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และจารึกชื่อของเขาพร้อมเมืองดวยไว้ที่ส่วนท้ายสุดของกระบอก
พระปรมาภิไธยย่อของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และชื่อของเบเรงเยร์บนปืนคนธรรพ์แผลงฤทธิ์
ปืนใหญ่ที่พบหน้ากระทรวงกลาโหม ล้วนหล่อขึ้นในปี ค.ศ.1767-68 และคาดว่าน่าจะนำเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ค.ศ.1782-1809) ผ่านพ่อค้าชาวอังกฤษหรือฝรั่งเศส
ฌองดำรงตำแหน่งเจ้ากรมจนถึงปี ค.ศ. 1793 ก่อนที่คณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยจะดำรงตำแหน่งแทนที่เขาเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะเขากลับมาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมเป็นครั้งที่ 2 จนถึงปี ค.ศ. 1801 ฌอง-ฟรองซัวส์ เบเรงเยร์ ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1804 ในวัย 79 ปี โดยที่ตระกูลเบเรงเยร์ยังคงรับผิดชอบโรงหล่อแห่งนี้จนปี ค.ศ.1819
โรงหล่อแห่งเมืองดวยผลิตปืนใหญ่จนถึงปี ค.ศ.1867 ปลี่ยนเป็นผลิตกระสุนให้กับกองทัพฝรั่งเศสจนถึง ค.ศ.1918 และทางเมืองได้ซื้ออาคารแห่งนี้ให้เป็นโรงเรียนเทคนิคอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนเปิดให้นักโบราณคดีเข้าไปสำรวจแหล่งโบราณคดีบริเวณอาคาร และพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะและเปิดใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990
Jardin Public de la Fonderie ในเมืองดวย ประเทศฝรั่งเศส
โฆษณา