12 พ.ค. 2022 เวลา 15:09 • ข่าวรอบโลก
ยุทธศาสตร์จีนในยุคเงินเฟ้อโลก
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
3
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนได้จัดประชุมเวิร์คช็อปภายในกลุ่มผู้นำสูงสุดในหัวข้อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับรัฐ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า นักวิชาการที่ได้รับเชิญไปบรรยายให้กลุ่มผู้นำของจีนในครั้งนี้ คือ ศ.หลิวหยวนชุน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน
4
ไม่มีใครรู้ว่า ศ.หลิวหยวนชุน ฝากข้อคิดอะไรให้ผู้นำจีนบ้าง แต่ทุกคนรู้ว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ศ.หลิวหยวนชุนได้ออกมาให้ความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ ว่า โจทย์ใหม่ในการวางยุทธศาสตร์ของจีนคือ จีนจะอยู่อย่างไรใน “ยุคสมัยที่ต้นทุนการผลิตแพงทั่วโลก”
1
ท่านมองว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยของเงินเฟ้อโลกที่จะดันต้นทุนการผลิตและราคาข้าวของสูงขึ้นอย่างยาวนาน เงินเฟ้อและต้นทุนที่สูงไม่ใช่เรื่องระยะสั้น ก่อนหน้านี้ หลายคนเคยคิดว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องชั่วคราวเพราะวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน หรือเป็นเพราะสงครามยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน
2
แต่ท่านย้ำว่า เงินเฟ้อจะกลายเป็นเรื่องระยะยาวที่จะเป็นอีกหนึ่ง “ความปกติใหม่” (New Normal) ไม่ต่างจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
1
สาเหตุเพราะมีปัจจัยพื้นฐานที่จะดันเงินเฟ้อถาวร 5 ข้อ ด้วยกัน
หนึ่ง ต้นทุนการป้องกันโรคระบาดที่จะไม่หายไปไหน เพราะสุดท้ายเราต้องอยู่กับโควิดอีกหลายปี ต้นทุนก้อนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ ATK การฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง หรือมาตรการล็อคดาวน์ สมัยก่อนไม่มีต้นทุนเหล่านี้
2
สอง ต้นทุนจากการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ และการย้ายฐานการผลิตกลับบ้านเพื่อความมั่นคงของซัพพลายเชน จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทั่วโลกสูงขึ้น เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละพื้นที่เช่นในอดีต
1
สาม ต้นทุนสีเขียว หรือต้นทุนที่มาจากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดหรือการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดันต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นกว่าการใช้พลังงานจากถ่านหินราคาถูกเช่นในอดีต
6
สี่ ต้นทุนเรื่องการรักษาความมั่นคง เช่น การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเพิ่มกำลังการป้องกันความปลอดภัยของพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานนิวเคลียร์สูงขึ้น ตอนนี้งบประมาณของรัฐเองแทนที่จะใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ก็ต้องแบ่งเงินก้อนใหญ่ให้กับงบประมาณด้านการทหาร ดังที่เราจะเห็นประเทศในยุโรปเริ่มกลับมาเพิ่มงบประมาณซื้ออาวุธเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
5
ห้า หนี้ภาครัฐที่อยู่ในระดับสูง มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ อาจไม่กล้าใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างจริงจัง เพราะกลัวจะกระทบกับเศรษฐกิจ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะช่วยให้ก้อนหนี้มหึมาของสหรัฐฯ ลดค่าลงในความเป็นจริง และยังทำให้สหรัฐฯ เก็บภาษีได้มากขึ้น แต่การปล่อยเงินเฟ้ออย่างยาวนานก็จะดันต้นทุนต่างๆ ให้สูงขึ้นแบบกู่ไม่กลับ
2
ศ.หลิวหยวนชุน ให้ความเห็นว่า ในการคิดเชิงยุทธศาสตร์ ผู้วางแผนต้องเข้าใจภาพเมกาเทรนด์ระยะยาว
และหนึ่งในภาพระยะยาวนอกเหนือจากความผันผวนเชิงภูมิรัฐศาสตร์และการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นทั่วโลก และเงินเฟ้อจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว
โจทย์ใหม่ที่ท่านฝากไว้ในทุกเวที (เชื่อว่ารวมถึงเวทีเวิร์คช็อปของกลุ่มผู้นำจีนด้วย) ก็คือ ภาครัฐและธุรกิจจะปรับกลยุทธ์อย่างไรที่จะชนะคู่แข่งในยุคสมัยของเงินเฟ้อโลก
1
ท่านไม่ได้เฉลยคำตอบ แต่ให้ข้อมูลว่า ท่ามกลางปัญหาภายในมากมาย แต่จีนยังเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่ควบคุมเงินเฟ้อได้อยู่ในระดับร้อยละ 2 (เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 7.8 ในยุโรปที่ร้อยละ 5.8 ในรัสเซียที่ร้อยละ 12)
5
แถมจีนยังเป็นโรงงานโลกที่เลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งทำให้ต้นทุนของจีนควบคุมได้มากกว่าประเทศอื่น นี่ยังไม่นับว่าจีนมีความมั่นคงด้านอาหารจากการสต็อคคลังอาหารไว้พอเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งจะทำให้จีนสามารถรับมือวิกฤตขาดแคลนอาหารที่หลายคนบอกกำลังจะเป็นเรื่องใหญ่จากสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อ
7
หากคิดในทางยุทธศาสตร์ คำตอบอาจจะเป็นว่าจีนเริ่มหันมาเน้นที่เสถียรภาพและการสร้างระบบสวัสดิการช่วยเหลือคนจนที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดในยุคข้าวยากหมากแพง พร้อมทั้งปรับซัพพลายเชนการผลิตให้ตอบโจทย์การควบคุมต้นทุนภายในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกของจีนน่าจะยังไปได้ดีแม้จะอยู่ท่ามกลางสงครามการค้า เพราะของจากจีนก็ยังถูกกว่าที่อื่น
2
โจทย์ใหญ่ทางยุทธศาสตร์จะกลายมาเป็นเรื่องการควบคุมต้นทุน ซึ่งต้องคิดถึงการพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและการหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูก ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียจะช่วยกดต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบหลายอย่างได้ แต่ความเสี่ยงคือการสนิทกันมากไปอาจถูกตะวันตกคว่ำบาตรจีนไปด้วย
ถ้ามองว่าเงินเฟ้อคือจุดเปราะบางของสหรัฐฯ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจตัวอื่นของสหรัฐฯ ยังค่อนข้างดี แต่เงินเฟ้อจะเป็นจุดเปราะบางในทางสังคมและการเมืองอย่างแน่นอน เงินเฟ้อส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนจน ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่หนักหนาอยู่แล้วหนักหนาสาหัสขึ้นจนอาจนำไปสู่วิกฤตการเมืองและวิกฤตสังคมในสหรัฐฯ
หากมองในแง่นี้ จีนมีแต่จะดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้งจากการปรับซัพพลายเชนของตนมาตอบโจทย์ตลาดภายใน แต่อาจส่งออกสินค้าในราคาแพงขึ้น
1
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเจ็บหนักนั้นแน่นอน แต่ผลกระทบต่อราคาต้นทุนและซัพพลายเชน ซึ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อในสหรัฐฯ นั้นอาจหนักหนากว่าและซ้ำเติมแผลเดิมของสหรัฐฯ ขึ้นไปอีก เข้าทำนองเราเจ็บตัว แต่อีกฝ่ายเจ็บมากกว่าที่กลายเป็นแนวคิดของโลกยุคภูมิรัฐศาสตร์ผันผวนนี้
2
ส่วนในแง่ของภาคธุรกิจ นอกจากการยกระดับเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสินค้าแล้ว โจทย์ใหญ่วันนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการหาเทคโนโลยีที่จะช่วยลดต้นทุน เช่น การหาวัตถุดิบใหม่หรือวัตถุดิบสังเคราะห์ การใช้เครื่องจักรหรือ Automation ในการผลิตแทนแรงงาน รวมทั้งการพยายามจัดหาและซื้อวัตถุดิบ ทรัพยากร และพลังงานในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยในโลกยุคต้นทุนแพงที่จะทำให้ธุรกิจชนะคู่แข่งได้
5
โดยเฉพาะถ้าคู่แข่งยังหลอกตัวเองอยู่ว่า เดี๋ยวโควิดหาย เดี๋ยวสงครามจบ เงินเฟ้อก็จะหยุด และโลกใบเก่าก็จะกลับมาเหมือนเดิม
2
โฆษณา