16 พ.ค. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
รถยนต์ EV กำลังท้าทาย อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 มาจนถึงวันนี้
หลายคนคงเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เจอความท้าทายอย่างมาก
จากปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาขาดแคลนชิป, ปัญหาด้านซัปพลายเชนและโลจิสติกส์,
ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับขนส่งวัตถุดิบ รวมไปถึงราคาต้นทุนวัตถุดิบ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีการปรับตัวขึ้น
1
หลายคนอาจคิดว่า เมื่อวิกฤติโควิด 19 ค่อย ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ปัญหาที่ว่ามานี้ ก็น่าจะคลี่คลายในไม่ช้า และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก็น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา
แต่รู้หรือไม่ว่า
ความจริงแล้วสิ่งที่ดูเหมือนว่า เป็นปัญหา และเป็นความท้าทาย ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างแท้จริง
1
คือ การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม จากรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine)
ไปสู่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicles)
ทำไม เรื่องนี้ถึงสร้างความท้าทาย ให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ และเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
ลงทุนแมนได้เจอข้อมูลที่น่าสนใจจาก KKP Research จึงอยากจะมาเล่าให้ฟัง
1
หากพูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ
- อุตสาหกรรมยานยนต์
- อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
โดยในช่วงที่ผ่านมาหลายทศวรรษนั้น การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
เป็นผลมาจาก การลงทุนทางตรงและการย้ายฐานการผลิต ของบริษัทผลิตรถยนต์ต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เริ่มเข้ามายังประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการของภาครัฐที่พยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น ด้วยมาตรการทางภาษีต่าง ๆ
แล้วอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปัจจุบัน เป็นอย่างไร ?
ในปี 2562 อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย มีผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตกว่า 2,400 ราย
ขณะที่ในปัจจุบัน มีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมสูงถึง 700,000 ถึง 800,000 คน
1
ในปี 2564 ประเทศไทยผลิตรถยนต์รวมทั้งหมด 1.68 ล้านคน โดยแบ่งได้เป็น
- 57% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก
- 43% เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ
จะเห็นได้ว่าการผลิตเกินกว่าครึ่งนั้น เป็นการผลิตเพื่อส่งออก
ดังนั้น ความต้องการในตลาดต่างประเทศคือ จุดสำคัญที่จะชี้ถึงทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้
 
ในปี 2564 มูลค่าการส่งออกยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบนั้น มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 14% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
1
ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
นับเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก ที่ช่วยนำรายได้เข้าประเทศมาอย่างยาวนาน
และถือเป็นอุตสาหกรรม ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยพอสมควร
อย่างไรก็ตาม หากเราย้อนกลับไปในปี 2556 หรือเมื่อประมาณ 9 ปีก่อน ประเทศไทยเคยทำสถิติผลิตรถยนต์รวมกันทั้งหมด เกือบ 2.5 ล้านคัน เทียบกับปีล่าสุดที่ 1.68 ล้านคัน
นั่นเท่ากับว่า ในรอบเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยนั้น ลดลงไปเกือบ 1 ล้านคัน
ซึ่งหากเราลองย้อนกลับไปดูข้อมูล ในช่วงปี 2559 ถึงปี 2563
ก็จะพบว่า สัดส่วนการส่งออกรถยนต์ของไทยในตลาดโลก ลดลงจาก 1.7% เหลือเพียง 1.3% เท่านั้น
1
โดยปัญหานี้เกิดมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น
คู่แข่ง โดยเฉพาะประเทศจีน และประเทศอินโดนีเซีย ที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์มากขึ้น
3
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นความท้าทายของไทย คงหนีไม่พ้นเรื่อง
แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในต่างประเทศ ที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
จนทำให้ ความจำเป็นในการนำเข้ารถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน
ที่ไทยเชี่ยวชาญและผลิตอยู่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มลดลง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
รู้หรือไม่ว่า ในปี 2564 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านคัน
คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2563
ในปัจจุบัน มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทจากทั่วโลก นับรวมกันได้ 16 ล้านคัน
และถ้าถามว่ารถยนต์ไฟฟ้าประเภทไหน เป็นที่นิยมมากที่สุด ?
คำตอบคือ รถยนต์ไฟฟ้าแบบ Battery Electric Vehicle (BEV)
หรือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100%
ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานประมาณ 11 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 69% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ รถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ยังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกด้วย
จากในปี 2559 ที่มีจำนวนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV อยู่ที่ 1.6 ล้านคัน เทียบกับปัจจุบันที่ 11 ล้านคัน
คิดเป็นการเติบโต 8 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
1
นอกจากนี้รถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่มีการปลดปล่อยมลพิษและคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์โดยตรง
1
ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งเป็นการสนับสนุนมาตรการ “การใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ที่หลาย ๆ ประเทศเริ่มใช้กันบ้างแล้ว
ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
1
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่แนวโน้มความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต จะเติบโตสวนทางกับความต้องการรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายในที่จะค่อย ๆ ลดลง
เมื่อความต้องการรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน จากตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง
ประเทศไทยซึ่งมีการผลิตรถยนต์ส่งออกกว่า 57% ย่อมได้รับผลกระทบนี้
ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้รายได้จากการส่งออกยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
นั้นมีโอกาสลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ GDP ได้เช่นกัน
อีกประเด็นคือ การที่ประเทศไทยยังขาดปัจจัยสำคัญ อย่างเทคโนโลยีและทรัพยากร จนอาจทำให้ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ในห่วงโซ่อุปทาน ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโต เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญ อย่างประเทศจีนและอินโดนีเซีย
3
อย่างในกรณีของประเทศจีนนั้น ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ทันสมัย
และครองห่วงโซ่การผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีในการผลิตแบตเตอรี่แบบรีไซเคิล (Battery Recycling)
ซึ่งปัจจุบันจีนมีส่วนแบ่งในตลาดนี้ สูงถึง 80% ซึ่งการที่ต้องผลิตแบตเตอรี่ประเภทนี้ เนื่องจากแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อย่างนิกเกิลและลิเทียมซึ่งถือเป็นแร่ที่หายาก
หรือในกรณีของประเทศอินโดนีเซียนั้น เป็นประเทศที่มีความได้เปรียบในด้านทรัพยากร เนื่องจากมีแหล่งนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มากถึง 30% จากแหล่งแร่สำรองทั้งหมด
ยังไม่รวมต้นทุนค่าแรงของอินโดนีเซีย ที่ถูกกว่าประเทศไทยกว่า 3 เท่า ทำให้บริษัทรถยนต์ชั้นนำหลายราย มีการเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การที่ฐานการผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น เป็นบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีการขยับตัวเข้าสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ช้ากว่าค่ายรถยนต์จากยุโรปและสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่จีน
ทำให้การลงทุน การพัฒนา และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีพัฒนาการที่ช้ากว่าในหลายประเทศ
อ่านมาถึงตรงนี้เราจะเริ่มเห็นแล้วว่า
การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งระบบ
ตั้งแต่บริษัทที่ผลิตรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ไปจนถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มหลัง
ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่เปราะบาง และจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการ ที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ มีทุนสำรองน้อย
และด้วยความที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยนั้น มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทย เจอความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ให้ดี เช่น ในกรณีของผู้ประกอบการและแรงงาน ก็ต้องปรับตัวเร่งยกระดับทักษะ ด้านเทคโนโลยี ด้านคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ด้านภาษา
2
ที่สำคัญ ทางภาครัฐก็ต้องมีนโยบายที่ส่งเสริมการวิจัยและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว
 
สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อทำให้ไทย
สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์กับประเทศอื่นได้
ในยุคที่รถยนต์จะใช้พลังงานจาก แบตเตอรี่ แทน น้ำมัน..
2
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา