14 พ.ค. 2022 เวลา 12:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ
(บทความที่ 04) ทำไมการไม่ลงทุนจึงมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุน?
1
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของทั้งโลก ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคธุรกิจที่เกี่่ยวข้องกับการผลิต การขนส่ง และการจำหน่ายสินค้า หรือการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การที่เราจะเข้าถึงสินค้าหรือบริการนั้น ๆ จำเป็นจะต้องใช้ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ตัวกลางที่เราใช้กันอยู่บ่อย ๆ เรามักรู้จักกันดีในชื่อว่า "เงิน"
จากวลียอดฮิตที่มักจะวิ่งเข้าหูซ้าย และไม่ยอมทะลุออกไปทางหูขวา แต่กลับถูกเก็บไว้ในสมองส่วนที่เก็บความจำของเรา ครั้นพอถึงเวลาที่เรามีปัญหาทางด้านการเงิน เรามักจะนำประโยคนี้ออกมาหลอกสมองและปลอบใจตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่า "เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต" แต่เรากลับไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า มันเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตของเรา
1
อ่านมาตั้งยาว หลาย ๆ คนน่าจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่าตัวอักษรยาวเหยียดด้านบนที่พึ่งจะผ่านตามามันมาเกี่ยวข้องอะไรกับหัวข้อบทความนี้?
นั่นเป็นเพราะเงินถูกใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ แม้ว่าเราจะมีเงินออมอยู่จำนวนหนึ่ง แต่หากเงินออมเหล่านั้น ไม่ได้ถูกกำหนดสถานที่และเวลาให้กับมันได้อย่างถูกต้อง จะทำให้เงินออมที่เราใช้เวลาเก็บมาอย่างยาวนาน คงพลาดพลั้งเสียท่าให้กับ "เงินเฟ้อ"
"เงินเฟ้อ" คือ อะไร สรุปง่าย ๆ ด้วยภาษาที่เกือบจะเรียบง่ายว่า เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออยู่ 2 ปัจจัย คือ
1. ความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการเพิ่มมากขึ้น (สินค้าในตลาดมีน้อย ความต้องการเยอะ คนขายก็เลยปรับราคาให้สูงขึ้น)
2. ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ขายต้องปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (ณ วันที่เขียนบทความ เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้กันอยู่)
แน่นอนว่าการที่เรามีรายได้เท่าเดิม หนี้สินต่อเดือนเท่าเดิม แต่มีอัตราเงินเฟ้อสูงเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแต่ละชนิดเพิ่มขึ้น เท่ากับว่าปีนั้นเรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (ในมุมมองด้านการจัดการการเงินส่วนบุคคล ผมขอตัดจบด้วยภาพง่าย ๆ แต่เพียงเท่านี้ ที่จริงแล้วปัญหาของภาวะเงินเฟ้อจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกค่อนข้างมาก)
การไม่ลงทุนหรือการลงทุนที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนด้วยการเอาชนะเงินเฟ้อได้ ย่อมมีความเสี่ยงกว่าการนำเงินไปลงทุนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่า หากเรามีเงินออม 1,000,000 บาท และไม่นำเงินออมนั้นไปลงทุนเลย เก็บใส่ตู้เซฟไว้เฉย ๆ เป็นเวลา 10 ปี เงินออมของเราจะยังคงมีตัวเลข 1,000,000 บาท เท่าเดิม แต่มูลค่าของมันกลับน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากราคาสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป
ในอีกทางหนึ่ง ถ้าเรานำเงินออมดังกล่าว ไปลงทุนสร้างผลตอบแทนปีละ 1% (ดอกเบี้ยทบต้น) เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี จำนวนเงินจะกลายเป็น 1,104,622 บาท แต่มูลค่าของมันอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการเอาชนะเงินเฟ้อได้
ด้วยสาเหตุนี้ จึงเป็นคำตอบของคำถามข้างต้น ว่าเหตุใดการไม่ลงทุนจึงมีความเสี่ยงมากกว่าการนำเงินไปลงทุน เพราะหากเราเก็บเงินไว้เฉย ๆ หรือไม่สามารถหาผลตอบแทนได้มากกว่าอัตราค่าสินค้าหรือบริการที่เพิ่มมากขึ้นตามภาวะของเงินเฟ้อ จะทำให้เงินออมที่เรามีอยู่ลดลงไปโดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัว
บทความต่อไป เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "ความสัมพันธ์ระหว่างเงินออม สถานที่ และเวลา"
โฆษณา