17 พ.ค. 2022 เวลา 08:16 • การเมือง
สรุปจาก WIM EP.68: “ผู้ว่าฯ กทม./สก.” บทบาท ความสำคัญ และการเลือก 🗳 (รับชมวิดีโอตัวเต็มได้ที่: https://bit.ly/3wjLmtK)
======================
1. อธิบายการปกครองของระบบราชการประเทศไทย
======================
- การปกครองของระบบราชการประเทศไทยจะแบ่งออกมาเป็น 3 ส่วน คือ
*1. รัฐบาลกลาง
*2. ส่วนภูมิภาค
- ระดับจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด), ระดับอำเภอ (นายอำเภอ), ระดับตำบล (กำนัน)
*3. ส่วนท้องถิ่น
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), เทศบาล
- การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษมีสองที่คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ทั้งสองพื้นที่นี้จัดตั้งการปกครองขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเฉพาะ อย่างของกรุงเทพฯ จะเกิดจากกฎหมายพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหาร กทม. ฉบับปี พ.ศ. 2518 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ว่าฯ กทม. ด้วย
- ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการบริหารส่วนท้องถิ่นค่อนข้างน้อย ทั้งในเรื่องของทรัพยากร งบประมาณ และกำลังบุคคลากร
ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าการปกครองของไทยตั้งแต่มีการวางพื้นฐานการเมืองการปกครองกันมาตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2435 เรายึดเอาการปกครองแบบในประเทศอินเดียที่อังกฤษเป็นคนวางระบบการปกครองของอาณานิคมไว้ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับระบบการปกครองส่วนภูมิภาค โดยจะส่งคนจากส่วนกลางเข้าไปดูแลเป็นหลัก ทั้งเงินและงานก็จะเยอะในส่วนนี้ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทั้งหมดจะเป็นข้าราชการประจำของกระทรวงมหาดไทย
- ส่วน อบจ. อบต. นั้นแยกออกเป็นสองส่วนคือ ข้าราชการการเมือง (นักการเมือง) จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ กับข้าราชการประจำ เช่น ปลัดจังหวัด ปลัดอำเภอ หัวหน้าสำนัก กองช่าง จะอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย สามารถโยกย้ายระหว่างส่วนท้องถิ่นหรือภูมิภาค สลับกันไปมาได้
- ในส่วนของ กทม. จะต่างกันตรงที่ข้าราชการประจำของ กทม. เช่น ปลัดกทม. หัวหน้าสำนักต่างๆ จะเป็นโครงสร้างที่อยู่ภายใต้ กทม. เองเป็นหลัก ดังนั้นแล้วตัวผู้ว่าฯ กทม. จะมีอำนาจในการจัดสรรตำแหน่ง แต่งตั้ง ปรับเปลี่ยน ปลัด/รองปลัด กทม. ได้ ผู้ว่าฯ มีอำนาจในการให้คุณให้โทษกับข้าราชการประจำได้มากกว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
- แต่อำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ก็มีจำกัดเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ กทม. ได้กับภาระงานที่มี
- งบกทม. ปัจจุบันอยู่ที่ปีละ 80,000 ล้านกว่าบาท แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไปลงกับเงินเดือนของข้าราชการประจำที่ต้องจ่ายเป็นหลักทุกเดือน และงบที่จะมาพัฒนาท้องถิ่นถือว่ามีสัดส่วนที่ไม่เยอะ
======================
2. ประวัติและที่มาของตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.
======================
- จริงๆ แล้วแต่ก่อนฝั่งกรุงเทพฯ กับฝั่งกรุงธนบุรี จะแยกกันเป็นสองจังหวัด พึ่งมารวมเป็นจังหวัดเดียวกันในปีพ.ศ. 2515 กลายเป็นกรุงเทพมหานครแบบในปัจจุบัน
ยุคนั้นก็ยังเป็นยุคของจอมพลถนอม เป็นระบบแบบอำนาจนิยม เริ่มมีการให้กรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ ครั้งแรกในปี 2516 มันก็ค่อนข้างจะเข้ามาคาบเกี่ยวกับในช่วงของการที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเป็นระบบประชาธิปไตยแบบสั้นๆ สามปี คือช่วง 2516 - 2519 ผู้ว่าฯ 4 ท่านแรกมาจากการตั้งแต่งโดยรัฐบาลกลาง
ตัวกฏหมายจัดระเบียบกรุงเทพฯ ปี 2518 เป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และทำให้ผู้ว่าฯ ท่านที่ 5 ของกรุงเทพฯ มาจากการเลือกตั้งเป็นท่านแรกคือ คุณธรรมนูญ เทียนเงิน โดยการเลือกตั้งครั้งแรกมีคนมาใช้สิทธิแค่ 13% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าน้อยมาก คุณธรรมนูญชนะด้วยคะแนนแค่ 90,000 กว่าคะแนน จากจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ในยุคนั้นที่เป็นหลักล้านแล้ว
- คุณธรรมมนูญดำรงตำแหน่งอยู่เกือบๆ สองปี แล้วในช่วงปี 2519 - 2520 มีรัฐประหาร 6 ตุลา ที่ทุกคนพอจะทราบกัน คุณธรรมนูญไปมีความขัดแย้งกับรัฐบาลหลังรัฐประหาร เลยโดนสั่งปลดออกในปี 2520 และมีการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อมาอีก 8 ปี ก็จะคล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน
จนมีการเลือกตั้งกันใหม่อีกทีก็ปี 2528 ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งที่สองก็คือ คุณจำลอง ศรีเมือง คุณจำลองได้เป็นผู้ว่าฯ สองสมัย แต่สมัยที่สองอยู่ไม่ครบวาระ
พอถัดจากคุณจำลองมาก็เป็นคุณกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, คุณพิจิตต รัตตกุล, คุณสมัคร สุนทรเวช, คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน แล้วก็มาเป็นหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่โดนปลดออก แล้วก็มากลายเป็นผู้ว่าฯ ที่แต่งตั้งในรอบ 20 กว่าปีก็คือ คุณอัศวิน ขวัญเมือง
- ผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่ที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนก็อาจจะเป็นคุณจำลองที่ใช้วิธีหาเสียงด้วยเข่ง แล้วก็คุณพิจิตตที่ทำโครงการในเรื่องของการจัดคัดแยกขยะที่บอกว่าตาวิเศษเห็นนะ ก็ยังมีคนจำได้จนถึงทุกวันนี้
- หลายๆ ท่านก็เรียกว่ามีบทบาทมากบ้างน้อยบ้าง แต่โดยส่วนตัวมองว่าผู้ว่าฯ กทม. เป็นงานที่ค่อนข้างเสี่ยงกับการโดนฟ้องร้องเยอะ ส่วนใหญ่มักจะมีโครงการที่ถูกกล่าวหาว่าส่อในการใช้เงินโดยมิชอบบ้าง แต่ว่ากระบวนการใช้เงิน กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด มันก็มีข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมืองเกี่ยวข้องก็พูดได้ยากเหมือนกันว่าปัญหามันเริ่มที่ใคร
แต่กลายเป็นว่าผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะที่เป็นทั้งผู้นำนโยบายและเป็นผู้นำในส่วนบริหารของฝ่ายการเมืองกลายเป็นต้องเข้ามารับผิดชอบโดยออกหน้าตลอดแทบทุกครั้งในช่วงหลังๆ
======================
3. อำนาจและขอบเขตของผู้ว่าฯ กทม.
======================
- หลายๆ ครั้งผู้ว่าฯ กทม. จะถูกพูดถึงในระดับที่มันใหญ่กว่าขอบเขตของงานและงบประมาณที่ กทม. สามารถทำได้
3.1 การจราจร
- ปัญหาคลาสสิคก็คือเรื่องปัญหารถติด กทม. เข้าไปจับพื้นที่ผิวถนนทางเดินรถไม่ได้ พื้นที่ผิวถนนการเดินรถเป็นของกระทรวงคมนาคม, คนจัดการเรื่องสัญญาณไฟจราจรก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ งานก็ยังอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งขึ้นกับรัฐบาลกลาง, พวกรถขนส่ง ขสมก. อยู่ใต้กระทรวงคมนาคม, เรือขึ้นอยู่กับการเจ้าท่าฯ,
พื้นที่ที่ กทม. สามารถดูแลได้จริงๆ คือฟุตบาท โดยคนที่ดูแลก็คือเทศกิจ ซึ่งถ้ากทม. ทำพื้นที่ฟุตบาทได้ดี ผมว่ามันก็เต็มศักยภาพที่ปัจจุบันกทม. มี ไม่อย่างงั้นก็คือต้องโอนย้ายถ่ายทั้งในส่วนของตำรวจ พื้นที่ถนนต่างๆ มาให้ กทม.
- เรื่องรถไฟฟ้า BTS อันนี้ กทม. เกี่ยวข้อง เพราะ กทม. มีบริษัทลูกคือ บริษัทกรุงเทพธนาคม เป็นคนดูแล แล้วก็ไปให้สัมปทานกับบริษัท BTS ในการเดินรถ สัมปทานที่ให้กับ BTS ตอนนั้น วันที่ก่อสร้างรัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้เอาเงินตัวเองไปลงในการก่อสร้าง BTS เป็นคนที่จ่ายค่าก่อสร้างเองทั้งหมด เพราะว่ารัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในยุคนั้นที่ต้องการคัดค้านการจะสร้างรถไฟฟ้า
อันนี้เป็นมุมมองของรัฐบาลเมื่อ 30 ปีก่อน แต่วันนี้พอสร้างขึ้นมาแล้วมันก็เกิดประโยชน์ เพิ่มผลขึ้นมาเยอะ ราคาค่าโดยสารก็แทบจะไม่ได้ขึ้นจาก 30 ปีที่แล้วเลย ยกเว้นส่วนต่อขยาย
แต่ในส่วนที่ว่าในอนาคตควรจะลดค่าโดยสาร ควรจะอยู่สัมปทานอะไร ผมก็เห็นด้วยทั้งหมด ซึ่งมันก็เป็นงานที่ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าต้องแก้ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะแก้ได้มากและเร็วเท่าไหร่ ตัวสายสีเขียวก็มีประเด็นว่าพื้นที่ที่ก่อสร้างในช่วงเฟสแรกทั้งหมด คนที่ออกเงินก่อสร้างคือตัว BTS
แล้วส่วนตัวขยายวันนี้ กทม. ก็พึ่งจะรับโอนมา เพราะฉะนั้นความพัวพันของการใช้พื้นที่ก่อสร้าง การมอบสิทธิสัมปทานวันนี้มันยังพัวพันกันอีกเยอะ การจะแก้ปัญหาตรงนี้ ส่วนนึงกทม. ต้องมีบทบาท แต่อีกส่วนนึงคือรัฐบาลกลางก็ต้องซัพพอร์ตด้วย
3.2 การแบ่งพื้นที่
- เรื่องหาบเร่แผงลอยคือหน้าที่โดยตรงของกทม. ผมมองในเรื่องของการหาพื้นที่เพื่อย้าย street food ให้มีพื้นที่ที่ทำความสะอาดได้ง่าย เป็นหลักแหล่ง แล้วให้ใช้พื้นที่ในราคาย่อมเยาหรือไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายได้ก็จะยิ่งดี
แล้วฟุตบาทจะได้เป็นทางเดินของผู้คนโดยแท้จริง เรื่องเลนจักรยานก็ควรจะคุยกัน เพราะพื้นผิวจราจรเป็นของคมนาคม แต่ฟุตบาตเป็นของกทม. อันนี้จะเอาไปวางไว้พื้นที่ตรงไหน
- อีกส่วนที่กทม. ทำได้คือพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะเป็นเรื่องโดยตรง
- ตลาดนัดในหมู่บ้านอย่างที่เกิดเคสของคุณป้าที่ใช้ขวานทุบรถ ทุกคนก็รู้ว่าสุดท้ายควรจัดการให้เป็นพื้นที่ของหมู่บ้าน แต่สุดท้าย กทม. ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ถึงที่สุด เพราะว่าหลายๆ หน่วยงานใบอนุญาตต่างๆ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ กทม. เพียงเจ้าเดียว
3.3 การสาธารณสุข
- อีกเรื่องคือการสาธารณสุข โควิดที่ผ่านมามันทำให้รู้เลยว่า กทม. เราไม่พร้อมกับการรับมือโรคระบาด เนื่องจากระบบสาธารณสุขของต่างจังหวัด มันเป็นระบบของภูมิภาคที่เป็นสาธารณสุขจังหวัด มีโรงพยาบาลจังหวัด มีระบบชัดเจน มีอสม. มีทุกอย่างเป็นโครงข่ายที่ชัดเจน แต่ของกรุงเทพฯ เนื่องจากกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ใต้กระทรวงสาธารณสุข แล้วกรุงเทพฯ มีระบบที่เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ต้องคอยรับเคสยากๆ ด้วย
ดังนั้นระบบโรงพยาบาลของกรุงเทพฯ ก็จะมีบางส่วนที่เป็นโรงพยาบาลของกรุงเทพฯ แต่บางส่วนก็ไม่ได้อยู่ภายใต้กรุงเทพฯ ดังนั้นการจะเชื่อมโยงกันตรงนี้มันลำบาก คนในวงการสาธารณสุขเขาก็ยอมรับว่ามันเป็นปัญหามานาน เพียงแต่ก็ไม่ได้มีใครคิดมาว่ามันจะมาโป๊ะแตก เพราะว่ามันเกิดโควิดระบาดใหญ่
- ศูนย์อนามัยกรุงเทพมหานครซึ่งมีอยู่ตามจุดต่างๆ คนกรุงเทพฯ หลายๆ ท่านก็ไม่ได้ไปใช้บริการ ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในชุมชนจะเข้าไปใช้บริการมากกว่า กรุงเทพฯ ก็มีทั้งคนที่อยู่ในชุมชนซึ่งมีหลายแบบ และคนที่อยู่เป็นส่วนตัวของตัวเอง เป็นเมืองที่หลากหลาย การจะเข้าถึงคนทุกคนก็มีหลากหลายชุดความคิด
3.4 การจัดการขยะ
- การจัดการขยะ จริงๆ กรุงเทพฯ เป็นคนที่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง แต่ว่าระบบการจัดการที่มีมา ขนาดของรถ ความถี่ในการจัดเก็บ ถ้าในพื้นที่โซนรอบนอกกรุงเทพฯ ปัจจุบันชุมชนและหมู่บ้านเยอะขึ้นมาก แต่จำนวนรถเพิ่มตามไม่ทัน เลยทำให้หลายๆ ชุมชนหรือหมู่บ้าน รถขยะวิ่งเข้าไปสัปดาห์ละครั้ง ตรงนี้ก็เป็นการร้องเรียงกันเยอะ
- ท้องถิ่นกทม. มีความเกี่ยวข้องกับส่วนกลางอื่นๆ ค่อนข้างเยอะ การจะปลดล็อกก็ต้องค่อยๆ ทำไปทีละจุด ประเทศไทยจับตรงไหนก็มีเรื่องให้แก้ได้ทุกที่
======================
4. รองผู้ว่าฯ กทม. มาจากไหน
======================
- ผู้ว่าฯ กทม. จะมีอำนาจเต็มที่ในการเลือกทีมรองผู้ว่าฯ ของตัวเอง สามารถเลือกและเปลี่ยนทั้งหมดได้ตามวาระ เป็นสิทธิของผู้ว่าฯ ที่มีอำนาจในการทำให้ทีมงานของตนเองสามารถทำงานได้โดยราบรื่นโดยตลอด
- รองผู้ว่าฯ จะมีด้วยกันทั้งหมดสี่ท่าน โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นด้านต่างๆ เช่น โยธา สิ่งแวดล้อม การศึกษา ก็จะเป็นลักษณะแบบนี้
- ซึ่งทั้งผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ตรงนี้เป็นส่วนที่เรียกว่าทีมนักการเมืองหรือข้าราชการการเมือง
======================
5. ผู้ว่าฯ กทม. จะสามารถออกได้ในกรณีไหนบ้าง
======================
- ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จะออกจากตำแหน่งได้จากการลาออก เสียชีวิต และการถูกสั่งให้ออก
- คนที่คอยกำกับดูแล กทม. คือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ถ้าผู้ว่าฯ จะทำนโยบายอะไร ก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่สมมุติว่าถ้ามันมีอะไรที่เกิดเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงก็มีอำนาจในการที่จะปลดผู้ว่าฯ ได้ ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่กระทรวงมีอำนาจทำได้
- ถ้าผู้ว่าฯ โดนสั่งให้ออก รองผู้ว่าฯ ที่ผู้ว่าฯ เป็นคนตั้งขึ้นมาก็คือจะออกไปทั้งทีมเลย แต่กรณีแบบนี้แทบไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะถือว่าเป็นการทำให้เกิดการขัดแย้งทางการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรง
======================
6. สก. ทำหน้าที่อะไร มีวิธีการเลือกอย่างไร
======================
- สก. หรือ สมาชิกสภากรุงเทพฯ บทบาทจะคล้ายๆ กับ สส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เพียงแต่ว่าขอบเขตจะทำงานในสภากรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องการดูแลงบประมาณของกรุงเทพฯ อนุมัติงบประมาณ อนุมัติข้อบังคับกฎระเบียบ ผู้ว่าฯ กทม. คือฝ่ายบริหาร สก. คือฝ่ายออกกฎหมาย
ถ้าผู้ว่าฯ ต้องการบริหารแต่มันเป็นกฎหมาย ถ้าสก. เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย แบบนี้ก็จะเกิดเรื่องได้ง่ายๆ เพราะถ้าผู้ว่าฯ จะบริหารงานได้ราบรื่น สมาชิกสภากรุงเทพฯ ก็จะต้องให้ความร่วมมือในการโหวตอนุมัติในเรื่องต่างๆ สมมุติว่าผู้ว่าฯ ขัดแย้งกับ สก. แล้วทำงานกันไม่ได้ ผู้ว่าฯ แพ้โหวต งานก็จะไม่เดิน จะกลายเป็นผู้ว่าฯ มือลอย
- การเลือกผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทั้งหมดรวมกันเป็นเขตเลือกตั้งเดียว แต่ตัวสก. เลือกจากแต่ละเขต เขตละคน ไม่ว่าเขตนั้นจะมีประชากรเยอะหรือน้อย ก็จะเลือก สก. ได้คนเดียวเท่ากันหมด
- ตัวอย่างเขตที่ประชากรน้อยก็คือพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ เช่น พระนคร บางรัก ปทุมวัน ประชากรส่วนใหญ่ก็จะไม่เกิน 50,000 คน แต่ในขณะที่เขตรอบนอก เช่น สายไหม บางแค หนองแขม คลองสามวา ทั้งโซนตะวันออกและตะวันตกสุดของกรุงเทพฯ เขตพวกนี้เขตนึงมีคนอยู่เกิน 100,000 คน บางเขตไปถึง 150,000 คน
แต่ละเขตก็มี สก. ได้แค่คนเดียวเท่ากัน มันเป็นระบบคล้ายๆ กับที่อเมริกาเลือก สว. ที่ไม่ว่าจะพื้นที่ใหญ่หรือเล็กก็มีจำนวนสว. ที่เท่ากัน
- ระบบตรงนี้มันทำให้กลายเป็นว่าคนในพื้นที่รอบนอกจะได้รับการดูแลทั่วถึงจากสก. หรือเปล่า เพราะว่าสก. ไม่ได้มีบทบาทแค่ในสภา แต่บทบาทนอกสภา สก. ก็ทำกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการให้การติดต่อกับประชาชน ถ้าประชาชนต้องการติดต่อกับใคร บางทีเขาไม่รู้ก็ต้องมาถามผ่านสก.
หรือแม้แต่พวกงานนอกเลย เช่น งานทำบุญ งานศพ หรือบางทีขัดสนเรื่องเงิน ก็จะมาขอยืมเงินก็มี คือนักการเมืองหลายๆ คน เรียกว่าต้องให้ประชาชนยืนเงินเลยก็เยอะ หลายๆ คนก็เป็นหนี้เป็นสิ้นกัน เพราะการทำพื้นที่ใช้เงินเยอะ
- อย่างช่วงที่ผ่านมาโควิด คนก็ไม่มีข้าวจะกิน ก็ต้องพึ่งตัวแทนในท้องถิ่น เช่น สก. ผู้นำชุมชน เขาก็ขอกันไปเป็นทอดๆ เจลล้างมือ ฉีดพ่นฆ่าไวรัส หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะต้องมีเรื่องพื้นที่ มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เข้ามาเป็นนักการเมืองอยู่ในพื้นที่ยังไงก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลไม่มากก็น้อย บางเขตก็จ่ายกันเยอะ จ่ายกันหนัก
======================
7. ใครเป็นคนดำรงตำแหน่ง สก. ในปัจจุบัน
======================
- สก. ชุดสุดท้ายที่มาจากเลือกตั้ง หมดวาระไปตั้งแต่ช่วงปี 2557 เป็นช่วงหลังการทำรัฐประหาร หลังจากนั้น คสช. ได้แต่งตั้งคนกลุ่มนึงประมาณ 30 คน ขึ้นมาทำหน้าที่ สก.
- สก. ชุดปัจจุบันไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรเลยกับคนใน กทม. ชุมชนก็เข้าไม่ถึง คนที่ทำงานข้างนอกก็ไม่ได้รู้จัก แม้แต่คนที่มาทำงานการเมืองเอง ถ้าถามว่าใครเป็น สก. ในชุดนี้บ้าง แทบจะตอบไม่ได้เลย และไม่ใช่เป็นคนที่เป็นข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับ กทม. ด้วย กลายเป็นว่าเอาใครก็ไม่รู้มา แล้วก็มารับเงินเดือนในตำแหน่ง สก.
- สก. ชุดนี้ก็ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 ปีแล้ว
- ช่วงที่เกิดโควิด เกิดความยากลำบาก สก. ชุดที่แต่งตั้งขึ้นมาก็ไม่ได้มีบทบาทเลยในแต่ละเขต กลายเป็นว่าคนที่เคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่นแต่เดิมก็มาทำงานในเขตของตัวเองกัน มาช่วยเหลือกัน คนหน้าใหม่ที่เข้ามาก็มี สก. ที่แต่งตั้งมาไม่ได้ทำอะไร แล้วประชาชนก็ต้องช่วยเหลือกันเอง
======================
8. สข. หายไปไหน และจะมีผลกระทบอย่างไร
======================
- ถ้าสมัยก่อนจะมีอีกตำแหน่งคือ สข. หรือสมาชิกสภาเขต ซึ่งตอนนี้โดนตัวกฎหมายของ กทม. บีบให้หายไป
- จริงๆ แล้ว สข. ก็คือทีมงานของสก. ที่จะคอยมาช่วยเหลือดูแล เพราะเขตนึงก็อาจจะมีแขวงต่างๆ เป็นคนช่วยดูแลประจำแขวง คอยดูแลตามชุมชนและหมู่บ้าน กลายเป็นว่าตอนนี้คนที่จะกลายมาเป็นทีมงานของสก. จะไม่ได้มีตำแหน่งที่ชัดเจน ตรงนี้ถ้า สก. ไม่ได้มีทีมงานที่ชัดเจน มันก็จะทำงานเข้าถึงประชาชนเหนื่อยขึ้น เพราะกลายเป็นว่าคนก็อาจจะย้ายทีม แตกแยกได้ตลอด
- ระบบกฎหมายนี้มันทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอลง เพราะถ้าดึงคนเข้ามาทำงานในระบบ ยังไงก็ดีกว่าอยู่นอกระบบ จำนวน สข. จะมีเยอะหรือน้อยในแต่ละเขต ตามจำนวนประชากร เช่น เขตที่มีคนน้อยในสมัยนั้นจะให้ 7 คน แต่ถ้าคนเยอะเขาก็จะให้ 8 คน แต่โดยรวมคือเป็นทีมที่สามารถทำงานในชุมชน สามารถเข้าใจ รับรู้ปัญหาได้ สข. หลายๆ คนในวันนั้นปัจจุบันก็มาเป็นผู้สมัคร สก. ในหลายๆ ทีม บางท่านปัจจุบันก็ไปเป็น สส. เลยก็มี
- สข. อยู่กับตัวกฎหมายลูกของ กทม. การยุบสข. ออกไปตรงนี้ การลงพื้นที่อะไรก็ลำบาก ประชาชนในชุมชนสมัยก่อนเขารู้ว่าคุยกับใครได้ จะมีกี่พรรคกี่พวกก็แล้วแต่ แต่ก็รู้ว่าสามารถคุยกับใครได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าทีมต่างๆ ต้องคุยกับใคร ถ้าแบบไม่ใช่คนที่เคยอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม ก็จะนึกภาพไม่ออกเหมือนกัน
- ผมก็เห็น สก. หลายๆ ท่านที่จะทำงานจริงจังเขาก็มีทีมพร้อม เพราะว่าผมมองว่าการเลือก สก. ยังไงคนที่ค่อนข้างจะมีบทบาทมากคือคนในชุมชน คนที่อยู่ติดพื้นที่ ตรงนี้ส่วนใหญ่เขาจะเลือกคนที่เขารู้จัก เคยทำงาน เคยติดต่อด้วย เพราะพื้นที่ตรงนี้เขาจะอาศัยความไว้วางใจค่อนข้างเยอะ หลายๆ คนทำพื้นที่กันมาเป็นสิบปี ทั้งที่สอบตกก็มี
======================
9. แนะนำวิธีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สก.
======================
- ปีนี้ผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. มีมากถึง 31 ท่าน เยอะที่สุดตั้งแต่เคยมีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ กันมาทั้งหมด 9 ปี ส่วน สก. (สมาชิกสภากรุงเทพฯ) ไม่ได้เลือกกันมา 12 ปี
- การเลือกตั้ง 22 พ.ค. 2565 นี้ ให้เวลาตั้งแต่ 8:00 - 17:00 น. ในการหย่อนบัตร ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ถ้าสมมุติไม่ไปเลือกตั้ง จะเสียสิทธิในการลงชื่อสนับสนุนกฎหมายและการสมัครเป็นผู้รับเลือกตั้งในครั้งหน้า ไม่ว่าจะสมัครอะไรก็ตาม เป็นระยะเวลา 2 ปี ถ้าวันนั้นติดธุระจำเป็น ไปเลือกตั้งไม่ได้ก็ต้องทำเรื่องแจ้งเหตุผลกับทาง กกต. ภายใน 7 วันนับจากวันเลือกตั้งเพื่อที่จะได้ไม่เสียสิทธิ
- การเช็คสิทธิว่าอยู่เขตไหน วัดกันว่าวันที่ 22 พ.ค. 2564 ทะเบียนบ้านของคุณอยู่ที่เขตไหน ถ้าย้ายออกหลังจากวันที่ 22 พ.ค. 2564 ให้ไปเลือกที่เขตเดิม
- คนที่พึ่งย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ หลัง 22 พ.ค. 2564 ก็จะไม่มีสิทธิเลือก แต่คนที่ย้ายออกจากกรุงเทพฯ หลัง 22 พ.ค. 2564 ลองเช็คสิทธิของคุณดู ตามหลักคุณควรจะมีสิทธิเลือกตั้ง
- การเลือกตั้งในครั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. จะใช้บัตรสีน้ำตาล ส่วนสก. จะใช้บัตรสีชมพู
- การเลือกผู้ว่าฯ กทม. กาได้คนเดียว การเลือก สก. ก็กาได้คนเดียว กาเกินจะกลายเป็นบัตรเสีย ส่วนการจะเลือก จะเลือกพรรคเดียวกันหรือต่างพรรค อยู่ที่การตัดสินใจของผู้โหวตตัดสินใจเองเลย เรามีข้อมูลอย่างไร รับฟังมาอย่างไร เราคิดวิเคราะห์พิจารณาเองทั้งหมด แล้วตัดสินใจด้วยตัวเอง
- การเลือกผู้ว่าฯ ที่ทำงานกับสก. ทีมเดียวกันหรือมีแนวโน้มจะเป็นทีมเดียวกัน มันก็มีโอกาสที่การทำงานจะราบรื่นยิ่งขึ้น เพราะว่าการตัดสินใจ การลงคะแนนในสภากรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ เสนอนโยบายไป ก็ต้องได้รับการอนุมัติกฎหมาย อนุมัติงบจาก สก. ถ้าเป็นทีมเดียวกัน มีทิศทางการทำงานใกล้เคียงกัน การทำงานมันก็จะสะดวก
- ถ้าโดยส่วนตัวผมวิเคราะห์ชุด สก. ทั้งหมดจากครั้งนี้ ผมมองว่าใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ทำงานเหนื่อย เพราะทีม สก. สุดท้ายที่น่าจะออกมา ค่อนข้างมาจากหลายทีม หลายพรรค และดูแล้วไม่น่าจะมีทีมหรือพรรคใดได้เสียงในสภากรุงเทพฯ เกินครึ่ง เขตในเมืองก็จะมองอย่างนึง เขตรอบนอกก็จะมองอย่างนึง
บางพื้นที่ก็จะแข่งกันแรง บางพื้นที่มีตัวเก็งอยู่แล้ว บางพื้นที่อาจจะมีลุ้นพลิกได้ แต่โดยรวมแล้วจะไม่ได้มี majority ในสภา เพราะฉะนั้นการจะไปรวมเสียง เผลอๆ ก็จะคล้ายๆ กับการจัดตั้งรัฐบาลรอบที่ผ่านมา ที่น่าจะเป็นการรวมเสียงกันของหลายๆ ทีม
- การเลือกตั้งเป็นวิธีการรักษาสิทธิของตัวประชาชนในการบอกทิศทางของการทำให้สภาพบ้านเมือง ชุมชนของเรามันพัฒนาในทางที่เราต้องการได้ ในบัตรเลือกตั้งมีช่องประสงค์ไม่ลงคะแนน ต่อให้รู้สึกว่าไม่ชอบใครเลยหรือไม่อยากเลือกใครเลย ก็ควรมากาบัตรเลือกตั้ง
======================
10. การเลือกตั้งที่พัทยาเหมือนกับกรุงเทพฯ ไหม
======================
- ทางพัทยาก็จะเรียกว่าเป็น “นายกฯ เมืองพัทยา” แล้วก็มีสภาเมืองพัทยาคล้ายๆ กับสภากรุงเทพฯ
- โครงสร้างของพัทยาจะต่างจากกรุงเทพฯ อยู่นิดนึง เพราะนายกฯ เมืองพัทยา เป็นผู้บริหารเมืองพัทยาก็จริง แต่ว่าต้องขึ้นกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
- พัทยาสามารถทำนโยบายของตัวเองได้ แต่ต้องคำนึงถึงนโยบายส่วนกลางจากชลบุรีด้วย ก็ค่อนข้างจะคล้ายๆ กับ อบจ. อบต. เทศบาลเมืองต่างๆ ที่พอจะทำนโยบายอะไรก็ต้องรับฟังจากส่วนภูมิภาคคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่เป็นคนจากส่วนกลางส่งเข้ามาดูแล
======================
11. ชวนทุกคนให้ออกมาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สก. กันเถอะ
======================
- สำหรับการตั้งเลือกครั้งนี้เราไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ มา 9 ปี สก. 12 ปี ดังนั้นอยากให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ เลือกตั้งสก. กัน มันเป็นเรื่องที่อยู่ในชุมชน พื้นที่ของเรา ถ้าเราต้องการที่จะให้ฟุตบาตเป็นยังไง สวนสาธารณะเราต้องการอย่างไร ระบบสาธารณสุขของกทม. ทำยังไงที่จะช่วยกันดูแลโรคระบาดให้ดีกว่านี้ได้ เรามาช่วยกันเลือกผู้ว่าฯ เลือกสก.
แล้วต้องคอยติดตามการทำงานของเขา และรวมถึงติดตามคนที่มาลงสมัครแต่ว่าอาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย
======================
Speaker: คุณชวน ณฐวร ลิมปนางกูร
อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562
======================
Moderator: พี พนิต P Panit
======================
Date: 5 May 2022 (21:00-22:30)
#ผู้ว่ากทม #สก #กรุงเทพ #กรุงเทพมหานคร #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #เลือกตั้งผู้ว่า #เลือกตั้ง #เลือกตั้ง65 #bangkok2022 #WhyItMatters #วันนี้สรุปมา #todayinoteto
โฆษณา