17 พ.ค. 2022 เวลา 21:39 • ปรัชญา
“ผู้ที่จะหลุดพ้นได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เข้มแข็ง”
ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิด ตราบใดที่ยังมีการเกิดอยู่ ตราบนั้นก็ยังมีความทุกข์อยู่ ทุกข์ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงควรเห็นโทษของการเกิด เพราะมันเป็นการพาไปสู่ความทุกข์ และต้องเห็นโทษของต้นเหตุ
ที่จะทำให้ไปเกิด คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆทั้งหลายนั่นแหละ คือสิ่งที่จะต้องชำระ ที่จะต้องตัดให้ได้ ด้วยการทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม เพราะเป็นเครื่องมือที่จะกำจัดชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยาก อวิชชาความไม่รู้ ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะไม่มีเหตุที่จะทำให้ไปเกิดอีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จิตก็จะเป็นจิตที่มีแต่ความสุขไปตลอดอนันตกาล
คิดดูซิว่าระหว่างอยู่เฉยๆแล้วมีความสุข กับการดิ้นรนขวนขวายหาความสุข ที่มีแต่ความทุกข์ติดมาด้วย เราจะเอาอย่างไหน อยู่เฉยๆมีความสุขไม่สบายกว่าหรือ หาอะไรมาแล้วก็ต้องมาร้องห่มร้องไห้เมื่อสูญเสียไป อย่างนี้จะเกิดประโยชน์อะไร จะเป็นความสุขได้อย่างไร นักปราชญ์ได้พิจารณา ได้เห็นแล้วว่า
การไม่มีอะไรเลยนั้นแหละ คือความสุขที่แท้จริง และเป็นธรรมชาติของจิตที่สามารถอยู่ได้อย่างเป็นสุข จิตไม่ต้องมีอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ จิตไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งเหล่านั้น เพื่ออำนวยความสุข แทนที่จะมีความสุขกับสิ่งเหล่านั้น กลับจะมีแต่ความทุกข์ ความกังวล ความวุ่นวายใจ
เวลาอยู่คนเดียว ไม่มีความทุกข์กับใคร พอไปแต่งงาน มีสามี มีภรรยา ก็ต้องไปทุกข์กับสามีกับภรรยา เวลามีลูกก็ต้องทุกข์กับลูก อย่างนี้มันสนุกหรือ เป็นความฉลาดหรือความโง่กันแน่ อยู่เฉยๆ อยู่ตัวคนเดียว ทำไมไม่เอา เพราะอยู่ไม่ได้นั่นเอง เพราะใจยังมีความโลภความอยากอยู่ คอยหลอกคอยล่อ ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาว้าเหว่ มีความหิว มีความกระหาย อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา เป็นการหลอกล่อของกิเลสตัณหา
มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ฉลาด ที่สามารถมองทะลุถึงปัญหาอันนี้ได้ ว่าความทุกข์ของมนุษย์เรานี้ เกิดจากจิตที่มีกิเลสตัณหา และความสุขของมนุษย์ก็เกิดจากการชำระกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป พระพุทธเจ้าจึงได้ปฏิบัติและต่อสู้จนสามารถกำจัดกิเลสตัณหา ให้หมดสิ้นไปจากพระทัยของพระองค์ได้
พระพุทธเจ้าจึงได้บรรลุถึงบรมสุข ปรมังสุขัง คือจิตที่สะอาดบริสุทธิ์นั่นแหละ เป็นจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง หลังจากนั้นแล้วจึงได้นำมาเผยแผ่สั่งสอนให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย สัตว์โลกที่ฉลาด ที่ฟังแล้วเข้าใจ เกิดศรัทธาขึ้นมา ก็นำไปปฏิบัติ ด้วยวิริยะ ความอุตสาหะ ความพากเพียร ขันติ ความอดทน ความกล้าหาญ ที่จะลด ที่จะละ ที่จะตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นพิษเป็นภัย ที่เป็นทุกข์ให้กับใจ
จนในที่สุดก็หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายไปได้ พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าต้องการที่จะพบกับความสุขที่แท้จริง ต้องการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็ต้องเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนและได้ปฏิบัติมา ต้องมีความขยันที่จะปฏิบัติธรรม
มีขันติความอดทน มีความกล้าหาญ กล้าที่จะตัด ที่จะลด ที่จะละ สมบัติข้าวของเงินทองที่เหลือกินเหลือใช้ พร้อมที่จะเสียสละ ยกให้กับผู้อื่นไป ถ้ามีความกล้าหาญแบบนี้แล้ว ก็จะสามารถเข้าถึงธรรมอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าได้เข้าถึงอย่างง่ายดาย
แต่ถ้ายังมีความเสียดาย ยังกลัวความทุกข์ ความยาก ความลำบาก กลัวอด กลัวอยากอยู่ อย่างนี้รับรองได้ว่า ยังจะต้องติดอยู่ในคุกของการเวียนว่ายตายเกิดไปแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น ผู้ที่จะหลุดพ้นได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ มีความเข้มแข็ง ไม่กลัวความอด ความอยาก ความลำบากทั้งหลาย ที่เกิดจากการปฏิบัติ
ถ้ามีความกล้าหาญแล้วสิ่งต่างๆเหล่านี้ จะไม่เป็นอุปสรรคเลย จะทำให้บรรลุถึงธรรมอันประเสริฐได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย
กำลังใจ, กัณฑ์ที่ ๒๐๕
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา