18 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • ความคิดเห็น
ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ค่าแรงขั้นต่ำเพียงพอมั้ย
“กรุงเทพฯ...ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ประโยคนี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกคนที่เข้ามาอาศัย และทำมาหากินในกรุงเทพฯ
แต่มหานครก็ยังเป็นสถานที่แห่งความหวังของคนจำนวนมากที่เข้ามาหาโอกาส เข้ามาหางานทำ เพื่อหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
วันนี้เลยอยากมาชวนคุยกันว่า ถ้าเราใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แบบประหยัดสุด ๆ ด้วยค่าแรงขั้นต่ำวันละ 330 บาท จะพอใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มั้ย ?
ในยุคที่เศรษฐกิจอ่อนแอสูง ธุรกิจหลายส่วนไม่ได้ดีเหมือนสมัยก่อน แต่ราคาข้าวของกลับแพงขึ้น สวนทางกับรายได้ ที่แทบจะไม่ได้ปรับขึ้นจากเมื่อก่อนเท่าไหร่นัก (ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 300 บาท มาตั้งแต่ปี 56) 😒
ทีนี้เราลองมาดูค่าครองชีพพื้นฐานที่จำเป็นของคนในกรุงเทพฯ กัน
🏠 ค่าที่พัก :
ถ้าอยู่ไกลตัวเมืองหน่อย ราคาก็จะถูกลง เอาแบบประหยัดขั้นสุด ห้องเช่าในตึกแถวก็ต้องใช้เงินราว 2,000-3,000 บาท/เดือน ขยับขึ้นมาหน่อยเป็นอะพาร์ตเมนต์ก็มีค่าใช้จ่ายราว 2,500-5,000 บาท/เดือน
🚌 ค่าเดินทาง :
ขึ้นอยู่กับระยะทางจากที่พักไปที่ทำงาน ยิ่งพักไกลตัวเมืองก็จะยิ่งเสียค่าเดินทางเยอะขึ้น แต่อย่าลืมว่าเรายังมีรถเมล์ร้อนที่ค่าโดยสารคงที่ตลอดเส้นทางที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ แม้อาจจะต้องรอนานบ้างเป็นบางครั้ง
แต่บางทีในชั่วโมงที่เร่งรีบเราอาจจำเป็นต้องขึ้นรถตู้ หรือนั่งวินมอเตอร์ไซค์ และในวันที่อากาศร้อนมาก ๆ รถเมล์ปรับอากาศก็นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
🍛 ค่าอาหาร :
อาหารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คนเราต้องกินอาหารทุกวัน อาหารยอดนิยมของคนไทยอย่างข้าวกะเพราหมูสับ ก็มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยมื้อละ 40-50 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วย ในบางพื้นที่อาจจะขายจานละ 70-80 บาทก็มี
บางคนอาจใช้สูตรลัด ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการกินเพียงวันละ 2 มื้อ แม้บางคนอาจจะกิน 2 มื้อเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังอยากกินอาหารวันละ 3 มื้อ
ที่ยกตัวอย่างมานี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในครอบครัว เงินที่ส่งให้พ่อแม่ ค่าของใช้ส่วนตัว หรือจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขของตัวเอง เช่น การได้กินของอร่อย หรือแม้แต่การไปพักผ่อนในสถานที่ที่อยากไป
📣 สุดท้ายนี้ โพสต์นี้คงไม่มีคำตอบตายตัวว่าจะแก้ปัญหายังไงดี แต่เราอยากเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ช่วยประกาศออกไปว่า “กรุงเทพฯ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นครับ”
22 พ.ค. นี้ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ถ้ารักใครชอบใครก็เอาปากกามาวง (อันนี้ล้อเล่นครับ ต้องกากบาทนะครับ !!!)
อ้างอิง
ราคาที่พักเฉลี่ยจากข้อมูลของ ดร.โสภณ พรโชคชัย
ค่าเดินทางอ้างอิงจากงานวิจัยของ ดร.สุรินทร์ คําฝอย
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา