21 พ.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทย กำลังอยู่ในภาวะ Long Covid
2
ผู้ป่วยโควิด 19 จำนวนไม่น้อย ต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพ หลังจากหายจากการติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า ภาวะ “Long Covid”
1
ซึ่งก็ต้องบอกว่าคำคำนี้ ไม่เพียงแต่นำมาใช้กับคนเท่านั้น
แต่เรายังสามารถนำไปอธิบายกับภาวะเศรษฐกิจได้อีกด้วย
โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศไทย
1
แล้วเศรษฐกิจในบ้านเรา ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ตั้งแต่โลกของเราเผชิญเข้ากับวิกฤติโควิด 19 เศรษฐกิจในหลายประเทศก็ได้รับผลกระทบ จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จึงต้องงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการการคลัง ผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ หรือผ่านการลดภาษี
รวมถึงมาตรการทางการเงิน ที่ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดการเงิน ผ่านนโยบาย Quantitative Easing หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อว่า QE
1
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าเราจะผ่านช่วงที่แย่ที่สุดไปแล้ว
แต่วิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้ ยังคงทิ้งร่องรอยและบาดแผลบางอย่างเอาไว้
2
แล้วร่องรอยและบาดแผลที่ว่านั้น มีอะไรบ้าง ?
- ภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล
โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลมีรายได้หลักคือ “การจัดเก็บภาษี”
ซึ่งบางครั้ง อาจจัดเก็บภาษีได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ทำให้รัฐบาลต้องไปกู้ยืมเงิน ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล หรือกู้ยืมเงินจากคนอื่นนั่นเอง หรือที่เรียกว่า หนี้สาธารณะ
ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุว่าเมื่อปลายปี 2562 หรือช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 หนี้สาธารณะของไทยนั้น อยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท
2
ปัจจุบัน หนี้ดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท
1
สาเหตุสำคัญมาจาก รัฐบาลมีการกู้เงินมาใช้จ่าย เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การจะดูว่าหนี้สาธารณะนั้น สูงจนน่ากังวลหรือไม่
เรามักจะนำข้อมูลหนี้สาธารณะ มาหารด้วย GDP ประเทศ
1
แม้ว่ามูลค่าของหนี้สาธารณะ จะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม
แต่ถ้า GDP ยังคงมีการขยายตัวมากกว่าเดิม กรณีนี้ก็ยังไม่ถือว่าน่าเป็นห่วง
แต่ปัจจุบัน หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 61% ของมูลค่า GDP
เทียบกับปลายปี 2562 เท่ากับ 41%
1
ซึ่งมาจากหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มากกว่าการขยายตัวของ GDP หรือเศรษฐกิจไทยที่แทบจะไม่ขยายตัวเลย
2
อีกทั้งรัฐบาลยังมีการปรับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของ GDP เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลสามารถก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อดำเนินนโยบายการคลังได้เมื่อจำเป็น
3
ถ้าเทียบกับมูลค่า GDP ในวันนี้ที่ประมาณ 16.4 ล้านล้านบาท
แปลว่า รัฐบาลอาจสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้นราว 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต
1
- ภาระหนี้ภาคครัวเรือน
หากเราลองไปดูข้อมูลในปี 2562 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 79% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากอยู่แล้ว
แต่ปัญหานี้ก็ยิ่งมาถูกซ้ำเติมให้ทวีความรุนแรงขึ้น จากวิกฤติโควิด 19 ในรอบนี้
จนทำให้ ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP นั้น พุ่งทะลุไปสูงกว่า 90%
3
เมื่อครัวเรือนมีรายได้จากการทำงานก็ต้องนำรายได้นั้นไปใช้คืนหนี้ เหลือใช้จ่ายน้อยลง
ทำให้การบริโภคลดลง จนส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงตามมา
1
ในอีกมุมหนึ่ง ยังทำให้ครัวเรือนมีเงินออมลดลงอีกด้วย จนอาจขาดภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับรองรับเหตุการณ์อันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ถูกให้ออกจากงาน หรือเจ็บป่วย จนไม่สามารถทำงานได้ เป็นต้น
1
รวมไปถึง ทำให้ครัวเรือนจำนวนมาก ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง
จนอาจทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินไหว และนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมาในที่สุด
1
- การท่องเที่ยวที่ต้องใช้เวลา กว่าจะฟื้นตัวกลับไปเป็นเหมือนเดิม
ปี 2562 หรือก่อนวิกฤติโควิด 19 รายได้จากการท่องเที่ยวของไทย
คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่า GDP ประเทศไทย โดยประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท
หรือ 2 ใน 3 เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามายังประเทศไทยจำนวน 40 ล้านคน
ทุกคนรู้ดีว่า ในช่วงวิกฤติโรคระบาด การท่องเที่ยวประสบปัญหา
เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง เนื่องจากหลายประเทศงดการเดินทางระหว่างประเทศ
มาวันนี้ เมื่อวิกฤติโควิด 19 ค่อย ๆ ซาลง หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้แต่หวังว่าการท่องเที่ยวของไทย จะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับไปเป็นเหมือนเดิม
แต่คำถามคือว่า เมื่อไรที่วันนั้นจะมาถึง ?
1
ปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 5 ล้านคน ฟื้นตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ 0.4 ล้านคน แต่จำนวนนี้ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด ถึง 8 เท่า..
โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของไทยคือ นักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากมีสัดส่วน 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือประมาณ 11 ล้านคน แต่ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด 19 ปีที่แล้ว ลดเหลือเพียง 13,043 คน
เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการรักษาระดับผู้ติดเชื้อในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำ จึงมีมาตรการที่เข้มงวดสำหรับการเข้าและออกนอกประเทศของประชาชน
2
ดังนั้น ถ้าการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เหมือนช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติโรคระบาด
2
เศรษฐกิจของประเทศไทย ก็น่าจะใช้เวลาพอสมควร ในการฟื้นตัวกลับไปเป็นเหมือนก่อนหน้านี้
1
อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่า วิกฤติโควิด 19 นั้น ได้ทิ้งร่องรอย บาดแผล และสร้างความบอบช้ำให้แก่เศรษฐกิจไทยมากพอสมควร
1
ถ้าเปรียบเรื่องนี้ก็คงคล้ายกับการที่ประเทศไทย ยังเป็นผู้ป่วยที่แม้จะมีอาการดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ดี ไม่ต่างอะไรไปจากผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่แม้จะหายจากการติดเชื้อแล้ว แต่ก็ยังมีอาการ Long Covid ตามมา
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่าย ต้องเร่งช่วยกันทำให้เศรษฐกิจนั้น ฟื้นตัวกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมอีกครั้ง
เพื่อไม่ให้ประเทศไทย กลายเป็นผู้ป่วย Long Covid ทางเศรษฐกิจ ที่รักษาไม่หายขาดเสียที..
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา