20 พ.ค. 2022 เวลา 21:59 • ปรัชญา
“ใจที่มีความอยาก”
เมื่อเช้ามีคนหนึ่งมาใส่บาตร หน้าตาไม่ยิ้มแย้ม ถามว่าเป็นอะไร บอกว่าไม่สบาย หน้าตาบึ้งตึง ยิ้มก็ฝืนยิ้ม นี่คืออารมณ์ของจิต ทุกคนอยากจะเบิกบาน อยากจะสดใสสดชื่น แต่พอร่างกายเจ็บ สดชื่นไม่ออก เบิกบานไม่ออก เพราะความอยาก ถ้าไม่มีความอยาก ใจก็ยังเบิกบานได้ สดชื่นได้ ถ้าใจไม่ยึดติดร่างกาย ไม่อยากให้ร่างกายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากให้ร่างกายหาย ใจก็จะสดชื่นเบิกบานได้
ร่างกายไม่ว่าจะเป็นของใคร แม้แต่ของพระพุทธเจ้าก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงบอก ให้พระอานนท์ปูผ้า ให้พระองค์ประทับ ทรงตรัสว่าตถาคตเหนื่อยนั้น ไม่ใช่พระทัยของพระพุทธเจ้าที่เหนื่อย แต่เป็นพระสรีระร่างกาย ที่เหนื่อยจากการเดินทาง ก็อยากจะนอนพัก แต่พระทัยของพระองค์ไม่ได้เหนื่อยไปกับร่างกาย
จึงควรเห็นคุณค่าของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรป้อนพระธรรมให้กับใจอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นเหมือนอาหาร เป็นเหมือนยา เป็นเหมือนที่อยู่อาศัย เป็นเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ การฟังธรรมตามกาลตามเวลา จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง ฟังธรรมอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง เช่นฟังในวันพระ วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม ชาวพุทธเรานี้ควรฟังเทศน์กันอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง ถ้าฟังได้ทุกวันจะยิ่งดีใหญ่
ฟังแล้วจะมีธรรมะให้แสงสว่าง สอนใจให้รู้จักวิธีทำใจให้ถูกต้อง ให้มีสัมมาทิฐิ ให้มีสัมมาสังกัปโป ความถูกต้องของการทำใจ ก็คือให้มีมรรค ๘ นี้เอง
มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ สัมมากัมมันโต การกระทำชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกรู้ชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิตชอบ ถ้ามีมรรค ๘ ก็จะทำใจให้ถูกต้องได้ รับรู้เหตุการณ์ต่างๆที่ใจประสบรับรู้ได้ อย่างไม่สะทกสะท้าน.
กำลังใจ ๕๘ กัณฑ์ที่ ๔๔๔
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
โฆษณา