21 พ.ค. 2022 เวลา 14:19 • กีฬา
ยิงเท่าไหร่ก็ไร้ผล : โจวานี เอลแบร์ ยอดดาวซัลโวที่ถูกมองข้ามจากทีมชาติบราซิล | MAIN STAND
กองหน้าที่ยิงประตูตลอดชีวิตค้าแข้งกว่า 300 ลูกอย่าง โจวานี เอลแบร์ ตำนานของ บาเยิร์น มิวนิค รวมไปถึง บุนเดสลีกา คือนักเตะที่ถูกพูดถึงจนทุกวันนี้ในแง่ของความยอดเยี่ยมและจอมสังหารประตูที่หาตัวจับยาก
1
อย่างไรก็ตามมีคำถามคลาสสิกตลอดกาล 1 คำถาม นั่นคือในเมื่อเขาเด่นเป็นพระเอกขนาดนี้ ทำไมทีมชาติบราซิลจึงไม่เคยเหลียวแลจอมถล่มประตูอย่างเขา เขาไม่เคยเล่นฟุตบอลโลกเลยสักสมัย นั่นคือความจริงที่น่าประหลาดใจ
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มาหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
กำเนิดดาวยิง
บราซิล คือดินแดนแห่งฟุตบอล เด็กชายทุกคนในประเทศนี้ล้วนมีความฝัน และฝันของพวกเขาคือการได้เป็นนักเตะอาชีพ ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดคือการได้เป็น 1 ในขุนพลเซเลเซา ทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก คนหนึ่งในนั้นก็คือ โจวานี เอลแบร์ เด็กหนุ่มที่เติบโตมาจากฟาร์มปศุสัตว์ทางตอนใต้ของประเทศ
ไม่ว่าจะยากดีมีจนคนบราซิลต้องเล่นฟุตบอล เอลแบร์ ก็เช่นกัน เขาเกิดจากครอบครัวที่ยากจน พยายามถีบตัวเองด้วยฟุตบอล เขาทำงานในฟาร์มปศุสัตว์แบบหนักหน่วงยิ่งกว่าช่วงวัยของเขาไปพร้อม ๆ กับการเข้าไปอยู่ในระบบอคาเดมีของสโมสรท้องถิ่นอย่าง ลอนดริน่า
เอลแบร์ ชัดเจนกับความฝันมาตั้งแต่ยังจำความได้ เขาพยายามหัดอ่านหนังสือ เพราะรู้ว่าอนาคตของเขาต้องไม่หยุดอยู่แค่ที่บราซิล และมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ ตอนที่เขาอายุ 18 ปีที่ยังไม่ได้เล่นในลีกสูงสุดของบราซิลด้วยซ้ำ เอซี มิลาน ก็คว้าตัวเขาไปร่วมทีมในปี 1990
แต่โอกาสของ เอลแบร์ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เขาโดนตัวรุกอย่าง รุด กุลลิต และ มาร์โก ฟาน บาสเท่น ขวางทางอยู่ ยิ่งลีกอิตาลีมีเรื่องโควตานักเตะนอกอียูมาเป็นกำแพงอีกชั้นยิ่งเป็นเรื่องยากไปกันใหญ่ เอลแบร์ โดนส่งตัวไปให้กับ กราสฮอปเปอร์ ซูริก ทีมดังจากลีกสวิตเซอร์แลนด์ ยืมตัว และจากนั้นการเดินทางที่แท้จริงของเขาก็เริ่มขึ้น
เอลแบร์ ได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงทันที เขาเล่นที่สวิส 3 ฤดูกาล ยิง 57 ประตูจาก 82 เกม จากนั้นก็ถูก สตุ๊ตการ์ท ซื้อตัวไปร่วมทีมในปี 1994 ด้วยราคาเพียง 1.6 ล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งการย้ายทีมดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในการพลิกประวัติศาสตร์นักเตะบราซิลในลีกเยอรมันเลยก็ว่าได้
เดิมทีนักเตะบราซิลมาค้าแข้งในเยอรมันตั้งแต่ยุค 60s แล้ว นักเตะบราซิลคนแรกที่มาค้าแข้งที่นี่คือ เซเซ่ ที่เล่นให้กับ โคโลญจน์ ในปี 1964-65 จากนั้นก็มีนักเตะบราซิลอีกหลายคนตามรอยเท้าเขา อาทิ ติต้า และ จอร์จินโญ่ ของ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ที่พาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ ทว่าสตาร์บราซิลที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเยอรมนีก็คือ เอลแบร์ นี่แหละ
หากคุณเกิดไม่ทันหรือนึกภาพไม่ออก เอลแบร์ เป็นกองหน้าเบอร์ 9 ในยุค 90s ที่เล่นเหมือนกับกองหน้าสมัยใหม่ กล่าวคือเป็นตัวเป้าที่นอกจากจะจบสกอร์คมแล้ว ยังเป็นหน้าเป้าประเภทดวล 1-1 ไม่เคยกลัวใคร มีความเร็วและเทคนิคที่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ง่าย ๆ
เหนือสิ่งอื่นใดคือ เอลแบร์ แตกต่างกับนักเตะตัวรุกชาวบราซิลคนอื่น ๆ ในยุคนั้นอยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือการเล่นเป็นทีม ซึ่งทีมเวิร์กนี่แหละคืออาวุธสำคัญของเขาเลยก็ว่าได้
ในช่วงที่เล่นกับ สตุ๊ตการ์ท เอลแบร์ผสานงานกับ คราซิเมียร์ บาลาคอฟ และ เฟรดดี้ โบบิช ในบทบาท 3 ประสาน
ทั้งหมดผลัดกันยิงผลัดกันจ่ายจนมีประตูถล่มทลาย จนสื่อเยอรมันตั้งฉายาให้ว่า Magisches Dreieck หรือ Magic Triangle ขณะที่คนไทยเราก็รู้จักกันในนามของ 3 ประสาน "เอล-บา-โบ" (เอลแบร์, บาลาคอฟ และ โบบิช) ซึ่งโด่งดังมาก ๆ ในช่วงปี 1996-97 ที่สตุ๊ตการ์ทได้แชมป์ เดเอฟเบ โพคาล โดยเอลแบร์ซัดไป 20 ประตูกับอีก 11 แอสซิสต์, บาลาคอฟ ยิงไป 17 กับอีก 10 แอสซิสต์ ขณะที่ โบบิช ยิงไป 19 ประตูและอีก 11 แอสซิสต์
"ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผมคือการเล่นที่สตุ๊ตการ์ท พวกเราถูกเรียกว่า 3 เหลี่ยมมหัศจรรย์ พวกเราทั้ง 3 คนเข้าขารู้ใจเล่นกันได้อย่างกลมกลืน บาลาคอฟ เป็นตัวเก๋าประสบการณ์ ผมเป็นตัวกลาง และ เอลแบร์ เป็นเด็กหนุ่มที่ร้อนแรงมาก" เฟรดดี้ โบบิช กล่าวถึง 3 ประสาน "เอล บา โบ"
แม้จะโดดเด่นทั้งสามแต่ต้องยอมรับว่า เอลแบร์ คือคนที่น่าจับตาที่สุด เขาอายุน้อยกว่าใคร เร็วกว่าใคร และมีเทคนิคโดดเด่นกว่าอีก 2 คนที่เหลือ ความยอดเยี่ยมของ เอลแบร์ ทำให้ บาเยิร์น มิวนิค ซื้อตัวเขาไปร่วมทีม จากการผลักดันอย่างเต็มที่ของ อูลี เฮอเนส 1 ในบอร์ดบริหารของสโมสรที่ยืนยันว่าอย่างไรเสียทีมก็ต้องคว้า เอลแบร์ มาร่วมทีมให้ได้
"นี่คือเด็กหนุ่มมหัศจรรย์ หมอนี่เป็นเด็กฉลาด มีไหวพริบที่ยอดเยี่ยม ทุกคนที่นี่จะต้องรักไอ้หนุ่มบราซิลคนนี้แน่" เฮอเนส ว่าไว้และสิ่งที่ตามมาก็คือ เอลแบร์ ทำในสิ่งที่คล้าย ๆ กับที่ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ทำได้ในตอนนี้ กล่าวคือทุกนัดที่ลงสนาม หาก บาเยิร์น มิวนิค มีประตู คุณแทบจะการันตีได้เลยว่าต้องมีชื่อของ เอลแบร์ บนสกอร์บอร์ด
ช่วงที่เล่นกับ บาเยิร์น เอลแบร์เหมือนกับเสือติดปีก จากที่เก่งอยู่แล้ว ยิงเยอะอยู่แล้ว ยิ่งหนักกว่าเดิมเพราะมีเพื่อนร่วมทีมที่มีคุณภาพมากขึ้น 7 ปีกับ บาเยิร์น เอลแบร์ยิงไป 139 ประตูจาก 266 นัด ขึ้นทำเนียบนักเตะต่างชาติที่ยิงประตูเยอะที่สุดในบุนเดสลีกา ณ เวลานั้น คว้าดาวซัลโวของบุนเดสลีกามาครอง 3 ครั้ง พาทีมได้แชมป์ลีก 4 ครั้ง ฟุตบอลถ้วยในประเทศ 3 ครั้ง และแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อีก 1 หน
1
ความสำเร็จระดับนี้ทำให้ เอลแบร์ คือ 1 ในหน้าตำนานของ บาเยิร์น มิวนิค อย่างไร้ข้อสงสัย ทว่ากลับมีเรื่องหนึ่งที่คาใจแฟนบอลหลายคนมาตลอด นั่นคือถล่มประตูขนาดนี้ แถมมีพรสวรรค์ ไหวพริบที่ครบเครื่อง เหตุใดในช่วงเวลาที่เอลแบร์อยู่บนจุดพีกที่สุดในอาชีพนักฟุตบอล เขาจึงแทบไม่มีส่วนร่วมกับการเป็น 1 ในสมาชิกทีมชาติบราซิลเลย ?
ปีศาจที่ขวางทาง
แม้จะยิงประตูตลอดชีวิตค้าแข้งในระดับสโมสรกว่า 300 ประตู แต่ในนามทีมชาติบราซิล เอลแบร์ กลับติดทีมชาติชุดใหญ่ไปเพียง 15 เกมเท่านั้น แถมยังไม่เคยมีส่วนร่วมในทีมชุดฟุตบอลโลกเลยสักหน ... อะไรทำให้ดาวยิงอย่างเขาถูกหมางเมิน ?
เหตุผลประการแรกแทบไม่ต้องอธิบายกันเยอะ หากเหลือบมองไปยังตัวเลือกของบราซิลในยุคนั้น มีจอมถล่มประตูมากมายนอกจาก เอลแบร์ ทั้ง มาร์โช อโมโรโซ่ กองหน้าของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, มาริโอ ยาร์เดล จาก ปอร์โต้, มาร์เซลินโญ่ จาก แฮร์ธ่า เบอร์ลิน หรือแม้กระทั่ง 2 เสือเฒ่าอย่าง โรมาริโอ และ เอ็ดมุนโด้
รายชื่อทั้งหมดที่กล่าวมานั้นต้องแย่งชิงตำแหน่งในทีมชาติกันแบบเก้าอี้ดนตรี ผลัดกันเข้าผลัดกันออก และต่อให้ติดทีมก็แทบจะไม่มีโอกาสในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ เลย เพราะบราซิลในตอนนั้นมีกองหน้าที่เก่งระดับปีศาจอย่าง โรนัลโด้ นาซาริโอ เจ้าของฉายา "เอล เฟโนเมโน" หรือ ปรากฏการณ์ คอยขวางทางอยู่
1
ความเก่งกาจของ โรนัลโด้ นั้นไม่ต้องอธิบายเลยก็ยังได้ แม้กระทั่งทุกวันนี้หลายคนยังคงบอกว่าเขาคือที่สุดตลอดกาล ดังนั้น โรนัลโด้ ต้องยืนพื้นในฐานะ 11 ตัวจริงในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ตลอด
หากเทียบจากช่วงที่เอลแบร์ระเบิดฟอร์มที่เยอรมันต้องเปรียบเทียบกับช่วงฟุตบอลโลกปี 1998 ตอนนั้น มาริโอ ซากัลโล เป็นเฮดโค้ช ซากัลโลเลือกซื้อประสบการณ์ของ 2 ตัวเก๋าอย่าง เอ็ดมุนโด้ และ เบเบโต้ ผนึกกำลังกับ โรนัลโด้ เป็นกองหน้าในทีมชุดนั้น
ซึ่งหากจะเปรียบเทียบประตูที่เอลแบร์ทำได้กับ 3 รายชื่อที่กล่าวมา เขาควรจะได้รับสิทธิ์ในการไปฟุตบอลโลกครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเอลแบร์ยิงไปถึง 21 ประตู ขณะที่ เอ็ดมุนโด้ ล้มเหลวกับ ฟิออเรนติน่า ยิงได้แค่ 4 ประตูเท่านั้น ส่วน เบเบโต้ ก็อยู่ในช่วงบั้นปลายอาชีพโดยเล่นให้กับ โบตาโฟโก้ ในบ้านเกิด
น่าเสียดายที่การหาข้อมูลจากมุมมองของ ซากัลโล ในวันนั้นแทบไม่ปรากฏบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่หากจะให้ "วิเคราะห์" จากสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นคือ บราซิล เป็นทีมที่เน้นระบบการเล่นแบบ 4-4-2
ซึ่งโดยธรรมชาติของกองหน้าคู่ต้องมีนักเตะประเภทที่ถูกเรียกว่า "ตัวชง" กับ "ตัวจบ" ซึ่งหากมองกันจากสไตล์ของ เอลแบร์ เขาเป็นตัวจบ เป็นนักเตะไทป์เดียวกับ โรนัลโด้ ดังนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะเบียด โรนัลโด้ ได้ต่อให้ เอลแบร์ จะยอดเยี่ยมแค่ไหนก็ตาม
โรนัลโด้ เป็นนักเตะประเภทที่เรียกว่า "บิ๊กเกมเพลย์เยอร์" กล่าวคือเกมสำคัญเกมใหญ่ใส่เขาเป็นตัวจริงได้เลย เพราะ โรนัลโด้ เป็นนักเตะที่สร้างความแตกต่างในเกมลักษณะนี้ได้เสมอ
ขณะที่ เอลแบร์ นั้นเป็นรองในเรื่องนี้ เขาเก่งในแง่ของการประสานงาน แม้จะมีเทคนิคในการดวล 1-1 ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีทางเท่ากับที่ โรนัลโด้ ทำได้ ... โรนัลโด้ นั้นครบเครื่อง ขณะที่ เอลแบร์ นั้นอาจจะต้องพึ่งเพื่อนร่วมทีมป้อนบอลให้มากกว่า
เช่นเดียวกันกับอีก 2 ตัวสำรองอย่าง เบเบโต้ และ เอ็ดมุนโด้ ทั้งคู่เป็นสายมุดสายทะลุทะลวงทั้งสิ้น ดังนั้นเราพออนุมานผ่านการเรียกกองหน้าติดทีมแค่ 3 คนได้ว่า มาริโอ ซัลกาโล ชอบใช้นักเตะประเภทเอาตัวรอดเก่งและเล่นแบบข้ามาคนเดียวได้มากกว่านั่นเอง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เอลแบร์โดนมองข้ามไป
ฟุตบอลโลก 1998 ผ่านไป บราซิลจบด้วยการเป็นรองแชมป์ และปัญหาที่พวกเขาเห็นในวันนั้นคือบราซิลเป็นทีมที่พึ่งพาความสามารถเฉพาะตัวมากเกินไป พวกเขาเชื่อมั่นในเกมรุกและมองข้ามเกมรับ
สิ่งที่ยืนยันได้คือในเกมนัดชิงชนะเลิศกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมาแบบบอลระบบ เน้นลูกเซตพีซ วางแนวรับที่แข็งแกร่งอย่าง ลิลิยอง ตูราม, โลรองต์ บล็องก์, ฟรองก์ เลอเบิฟ และ บิเซนเต้ ลิซาราซู เกมนั้น โรนัลโด้ เล่นไม่ออก (มีข่าวลือว่าเขาโดนวางยาก่อนแข่งแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้) และ ฝรั่งเศส ชนะ บราซิล ไป 3-0 โดยได้ประตูจาก ซีเนดีน ซีดาน โหม่งบอลจากลูกเตะมุม 2 ลูก
จุดนี้ทำให้โค้ชบราซิลคนใหม่ในฟุตบอลโลก 2002 อย่าง หลุยส์ เฟลิเป สโคลารี่ มองเห็นจุดอ่อน และพยายามแก้กลับมาเป็นระบบการเล่น 3-4-3 ... แผนนี้ควรจะเข้ากับวิธีการเล่นของ เอลแบร์ แต่เมื่อฟุตบอลโลกครั้งนั้นมาถึงก็เป็นอีกครั้งที่เขาต้องอกหัก
ฟางเส้นสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2002
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น สโคลารี่ เลือกที่จะยึดมั่นในระบบการเล่น 3-4-3 ในฟุตบอลโลก 2002 ซึ่งเป็นแผนการเล่นเดียวกับที่ เอลแบร์ เกิดสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เล่นกับ สตุ๊ตการ์ท หรือ บาเยิร์น มิวนิค ก็ตาม แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ เอลแบร์ โดนหมางเมิน และเขาก็ประกาศเลิกเล่นทีมชาติบราซิลทันทีที่รู้ข่าว
1
"ผมพอแล้วกับทีมชาติบราซิล" เอลแบร์ ในวัย 29 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงพีกของอาชีพนักเตะกล่าวตัดพ้อหลังหลุดจากทีมชาติบราซิล ณ ตอนนั้น กล่าว
"ผมจะไม่รออีกต่อไป หากฟุตบอลโลก 2006 มาถึง ผมจะอายุ 33 ปี ถึงตอนนั้นผมคงหมดแรงปรารถนาหรือต่อให้ยังมีแพชชั่นผมก็คงเล่นฟุตบอลได้ไม่ดีเท่าตอนนี้ ดังนั้นผมขอยืนยันว่าไม่ว่าหลังจากนี้โค้ชของทีมชาติบราซิลจะเป็นสโคลารี่, ซากัลโล หรือ วันเดอร์เลย์ ลุกชอมบูร์โก พวกเขาก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจผมได้"
มันเป็นเรื่องของวาสนาและจังหวะเวลาที่ไม่ถูกต้อง ก่อนฟุตบอลโลกหนนั้น เอลแบร์ ยิงไป 24 ประตู เพิ่งพา บาเยิร์น คว้าแชมป์ลีกและแชมป์ยุโรปมาหมาด ๆ แม้กระทั่งสื่อบราซิลก็ยังบอกว่า เอลแบร์ ควรต้องติดทีม แต่ สโคลารี่ ไม่คิดเช่นนั้น
เขาเชื่อมั่นในระบบการเล่น 3-4-3 หรือ 3-5-2 ด้วยเหตุผลว่านี่คือแผนที่จะทำให้เกมรับของบราซิลดีกว่าเดิมด้วยเซ็นเตอร์แบ็ก 3 ตัว ใช้วิงแบ็กที่รุกรับแบบขึ้นสุดลงสุดแบบ คาฟู และ โรแบร์โต้ คาร์ลอส ส่วนแดนกลาง 2 คนเป็นเชิงรับอย่าง กิลแบร์โต้ ซิลวา และ เคลแบร์สัน ดังนั้น 3 ตัวรุกด้านหน้าต้องเป็นพวกชงเองกินเองทั้งหมด และ สโคลารี่ ก็เลือก โรนัลดินโญ่, ริวัลโด้ และ โรนัลโด้ ใน 3 ตำแหน่งเกมรุกนั้นกับรหัส 3R
ที่น่าแปลกคือแม้กระทั่งตัวสำรอง เอลแบร์ ก็ไม่ได้รับการพิจารณา กองหน้าตัวสำรองของ บราซิล ยุคนั้นคือ เอดิลสัน จาก ครูไซโร่, ลุยเซา จาก เกรมิโอ ซึ่งดูยังไงก็เป็นรอง เอลแบร์ แน่นอน โดย สโคลารี่ ทะเลาะกับสื่อและแฟนบอลในประเทศพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เขาก็ให้เหตุผลว่าทีมของเขาคำนึงถึงเรื่องทีมสปิริตและจะใช้นักเตะที่เล่นในลีกบราซิลเป็นแกนหลัก (ชุดนั้นใช้นักเตะในลีกตัวเองถึง 13 จาก 23 คน)
"สโคลารี่ เลือกซื้อเกมรับ เขาเลือก ลูซิโอ, เอ็ดมิลสัน และ โรเก้ จูเนียร์ เป็น 3 เซ็นเตอร์แบ็ก เขาตัดชื่อตัวรุกที่เล่นในยุโรปทิ้งหมดทั้ง ดัลมินญ่า (ลา คอรุนญา), มาร์โช อโมโรโซ่ และ โจวานี เอลแบร์ ทิ้ง นี่คือการเดิมพันครั้งใหญ่ของเขาเลย" These Football Times เล่าย้อนความครั้งนั้น
"เขา (สโคลารี่) มั่นใจและพอใจมากกับระบบที่เขาเลือกใช้มาตั้งแต่รอบคัดเลือก เขาจะให้ 3 ตัวรุกทำหน้าที่อย่างอิสระมากที่สุด ทีมชุดนั้นเล่นด้วยกันมาเป็นปี ๆ จนสื่อบราซิลเรียกว่า Famila Scolari (ครอบครัวของสโคลารี่) เขาเป็นเหมือนพ่อที่พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี โดยมีนักเตะที่จงรักภักดีต่อเขาล้อมรอบ มีความเป็นหนึ่งเดียวเหนือกว่าเรื่องสตาร์ดัง"
เอลแบร์ บ่นเรื่องนี้ออกสื่อบ่อย ๆ ซึ่งหากเป็นไปตามที่สื่อเจ้าดังกล่าวว่ามานั่นก็อาจจะมีเหตุผล เพราะว่า สโคลารี่ ต้องการทีมสปิริต และในอาชีพเฮดโค้ชเขาต้องเดิมพันทุกอย่าง ซึ่งในฟุตบอลโลก 2002 เขาก็เดิมพันถูกรางวัลที่ 1 เพราะบราซิลจบด้วยตำแหน่งแชมป์โลก และ 3 ประสานอย่าง โรนัลดินโญ่, โรนัลโด้ และ ริวัลโด้ ก็กลายเป็น 3 ตำนานที่ถูกพูดถึงมาจนทุกวันนี้
จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เอลแบร์ เป็นนักเตะที่ดีมาก ๆ มีรางวัลส่วนตัวยืนยันและมีถ้วยแชมป์กับต้นสังกัดแทบทุกซีซั่น ทว่านี่คือ "ทีมชาติบราซิล" เป็นทีมฟุตบอลที่อุดมไปด้วยนักเตะเกมรุกพรสวรรค์มากมาย
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขาแค่ผิดที่ผิดเวลากับทีมชาติบราซิลไปหน่อยเท่านั้น และไม่ใช่เขาคนเดียวที่ต้องเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ ตัวรุกทีมชาติบราซิลอีกหลายคนที่โดดเด่นกับต้นสังกัดก็ได้แต่มองตาปริบ ๆ โดยถูกหมางเมินจากทีมชาติเป็นประจำดังรายชื่อตำอย่างที่กล่าวมาในข้างต้น
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้ถูกจดจำในฐานะยอดกองหน้าทีมชาติบราซิล แต่ทุกวันนี้เขาคือตำนานของ สตุ๊ตการ์ท, บาเยิร์น มิวนิค รวมไปถึง บุนเดสลีกา ด้วย ซึ่งหากให้มองย้อนกลับไปคงไม่มีอะไรต้องเสียดายสำหรับเขาคนนี้อีกแล้ว
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา