24 พ.ค. 2022 เวลา 10:31 • ข่าว
รู้จัก "IPEF" ข้อตกลงเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียของ "สหรัฐ" ที่เอามางัดกับ "จีน"
IPEF คือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจตัวใหม่ล่าสุดในเอเชีย ที่ "สหรัฐ" งัดขึ้นมาเพื่อหวังคานอำนาจกับ "จีน" โดยเฉพาะ โดยมีการประกาศความร่วมมือใน 13 ประเทศ ซึ่งรวมถึง "ประเทศไทย" ด้วย แต่อย่าเพิ่งเข้าใจไปไกลว่านี่จะเป็นข้อตกลงการค้าใหม่ที่จะมาช่วยให้ประเทศในเอเชีย "ลดการพึ่งพาจีน" ลงได้ทันที
ทีมข่าว SPOTLIGHT จะพาไปทำความเข้าใจว่า IPEF คืออะไร ในวันที่เรามีข้อตกลงเศรษฐกิจหลายชื่อเต็มไปหมด
  • IPEF คืออะไร?
- คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่มีชื่อเต็มๆ ว่า "กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) มีชาติสมาชิก 13 ประเทศ รวมทั้งไทยด้วย
  • เอเชียมีข้อตกลงเศรษฐกิจยอะอยู่แล้ว ทำไมต้องมีเพิ่มอีก?
- จุดเริ่มต้นของ IPEF อาจไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของภาพรวม "ดุลอำนาจในเอเชีย" ที่สหรัฐเพลี่ยงพล้ำเสียให้กับ "จีน" ซึ่งใช้ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและตลาดขนาดใหญ่ ทั้งในแง่การนำเข้าสินค้าและการส่งออกนักท่องเที่ยว-นักลงทุน แผ่อิทธิพลครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองไปทั่วเอเชีย-แปซิฟิก (จริงๆ คือทั่วโลก)
หากจะแบ่งให้เห็นได้ง่ายขึ้นก็คือ หลายประเทศในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการส่งออกและท่องเที่ยว มีเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพา-ผูกติดกับจีนไปอย่างแยกไม่ออกแล้ว ส่วนประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กก็ผูกติดไปถึงเชิงการเมืองด้วย เช่น ประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก ที่ไม่ให้การรับรองไต้หวัน, ประเทศที่มีการลงทุนมหาศาลเกินตัวจากจีน เช่น ศรีลังกา และประเทศในกลุ่ม "อาเซียน" ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับ IPEF เช่น ลาว และกัมพูชา
- อิทธิพลของสหรัฐในเอเชีย ยิ่งห่างไกลออกไปอีกเมื่ออดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวออกจาก “ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก” หรือ TPP (ชื่อเดิมของ CPTPP) ไปเมื่อปี 2017 ทั้งที่ความร่วมมือตัวนี้เป็นสิ่งที่เอเชียต้องการมาก เพราะจะเป็น "ข้อตกลงเขตการค้าเสรี" หรือ FTA ที่จะช่วยให้เอเชียบุกเข้าไปเจาะตลาดสหรัฐ ที่ถือเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 1 ของโลก
  • สหรัฐแก้เกมจีนอย่างไร?
- สหรัฐมีพันธมิตรรายใหญ่ในเอเชียอยู่แล้ว ที่เป็นทางการก็คือ กลุ่มภาคี 4 ประเทศที่ชื่อว่า "ควอด" หรือ The Quad ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือ การทำให้ทะเลจีนใต้มีเสรีภาพสูงสุดสำหรับการเดินเรือ ท่ามกลางการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในแถบนี้
กลุ่ม Quad พยายามสลัดภาพเอเชีย-แปซิฟิก ที่เต็มไปด้วยเงาของจีน ให้กลายเป็นภูมิภาค "อินโด-แปซิฟิก" แทน (ขยายจากแปซิฟิกให้ครอบคลุมถึงมหาสมุทรอินเดีย)
Quad เริ่มมีการประชุมอย่างเป็นทางการในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2019 ก่อนหน้านี้ ฝ่ายสหรัฐเคยเสนอไอเดียให้ยกระดับ Quad ขึ้นเป็นเหมือน "Nato แห่งเอเชีย" แต่ก็ถูกสมาชิกชาติอื่นๆ ปัดตกอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะญี่ปุ่นและอินเดีย ที่ยังต้องทำมาค้าขายและอยู่ร่วมกับจีนในฐานะเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่มีใครอยากเปิดหน้าชนกับจีน
การจะขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคให้ชาติอื่นเข้ามาร่วมด้วยและเห็นผลอย่างมีนัยยะ จึงต้องเน้นไปที่ความร่วมมือในเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก และนำไปสู่การประกาศ "กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" หรือ IPEF (อ่านว่า ไอเพฟ) ในการประชุมซัมมิทครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสัปดาห์นี้
โดยมี 13 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ 4 ประเทศ Quad, 7 ประเทศอาเซียน (ไม่รวมลาว กัมพูชา และเมียนมา) และอีก 2 ประเทศคือ เกาหลีใต้ กับ นิวซีแลนด์ ซึ่งสมาชิกทั้ง 13 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 40% ของจีดีพีโลก
  • IPEF ไม่ใช่เขตการค้าเสรี FTA
- อย่างไรก็ดี ประเด็นหลักที่หลายฝ่ายตั้งคำถามอยู่ในขณะนี้ก็คือ IPEF คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ "แบบไหนกันแน่"
สหรัฐระบุว่า IPEF เป็น "กรอบความร่วมมือซึ่งให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ครอบคลุม ยั่งยืน และส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งยังมุ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพิ่มการสร้างงานในสาขาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานสะอาด รวมถึงผลักดันการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรม มีมาตรฐาน และขจัดคอร์รัปชันที่เป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ"
แต่บรรดานักวิเคราะห์หลายฝ่าย เช่น คาลวิน เฉิง จากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ ISIS ในมาเลเซีย ได้ให้มุมมองกับสำนักข่าว Al-Jazeera ว่า ความตกลงนี้ไม่ใช่ทั้ง ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และไม่ใช่ความตกลงการค้าเพื่อเปิดตลาดสหรัฐให้เอเชีย แต่ยังเป็นเพียงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบหลวมๆ อยู่ โดยยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนัก
"คุณจะรู้สึกได้เลยว่าพวกกลุ่มประเทศพัฒนาและต้องพึ่งพาการค้าเป็นหลักเขาไม่ค่อยโอเคด้วย ตลอดมามีแต่พูดเรื่องการต้องเกี่ยวดองกับเอเชีย แต่ก็มีแค่ไอเดียเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม จะผลักดันมาตรฐานให้เท่าเทียมกับประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยน่ะหรือ ไหนล่ะแรงจูงใจให้ทำ" เฉิง กล่าว
แมทธิว กู๊ดแมน รองประธานอาวุโสด้านเศรษฐกิจประจำศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ (CSIS) ในสหรัฐ ให้ความเห็นกับสำนักข่าว AP ว่า อาจจะมีชาติสมาชิกบางส่วนผิดหวังที่ความตกลงนี้ ไม่มีมาตรการที่จะทำให้สามารถเข้าถึงตลาดภายในสหรัฐได้มากขึ้น ขณะที่นักวิจารณ์คนอื่นๆ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ความตกลงนี้ยังขาดแรงจูงใจสำหรับประเทศที่เข้าร่วม เช่น ไม่มีมาตรการลดกำแพงภาษี
  • ถ้าอย่างนั้น IPEF คืออะไรกันแน่?
เราอาจกล่าวได้ว่า IPEF คือ กรอบความร่วมมือกว้างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อพยายามขยายบทบาท "ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ" ของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิก (เอเชีย) โดย IPEF เน้นการส่งเสริมมาตรฐานการวางระเบียบกฎเกณฑ์ใน 4 ด้านสำคัญคือ
1) Connected Economy - เน้นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล
2) Resilient Economy - เน้นเรื่องซัพพลายเชน
3) Clean Economy - เน้นเรื่องการลดคาร์บอน
4) Fair Economy - เน้นเรื่องการค้าที่เป็นธรรม กฎระเบียบแรงงาน
แน่นอนว่า สหรัฐคือหัวเรือหลักที่ดูแลความตกลงนี้ โดยเป็นการแบ่งงานกันระหว่าง “ผู้แทนการค้าของสหรัฐ” (U.S. Trade Representative) ซึ่งดูแลเรื่องการค้าที่เป็นธรรม และ “กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ” (U.S. Department of Commerce) ซึ่งรับผิดชอบส่วนที่เหลืออีก 3 ด้าน
“เรากำลังร่างกฎใหม่สำหรับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 พวกเขาจะช่วยเศรษฐกิจของทุกประเทศให้เติบโตเร็วขึ้นและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เราจะทำสิ่งนี้ด้วยการจัดการกับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่ทำให้การเติบโตช้าลง” ไบเดน ระบุในการประกาศเปิดตัว IPEF
  • ใช้เวลาเจรจานานเท่าใด?
- หลังจากการเจรจาเริ่มต้นขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาในการวางกรอบความร่วมมือภายใน 12-18 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะมีขึ้น ในการเจรจาทางการค้าในระดับนานาชาติ
  • คาดหวังผลลัพธ์ได้จริงไหม?
หากจะปัดตกว่าความตกลงนี้ไม่สำคัญหรือเป็นรูปธรรมได้ยาก ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ "รีบสรุปเร็วเกินไป" เพราะแม้จะไม่ใช่ข้อตกลงการค้า แต่ IPEF ก็มีการเน้นย้ำประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง เช่น "ห่วงโซ่อุปทาน" หรือซัพพลายเชน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีการตระหนักกันมาพักใหญ่แล้ว แต่มาเจอจังๆ ก็ตอนวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้จีนซึ่งเป็นเสมือนโรงงานผลิตของโลกต้องล็อกดาวน์ จนเกิดปัญหาซัพพลายเชนกระทบไปทั่วทั้งโลก
ดังนั้น การที่ข้อตกลงนี้เน้นย้ำเรื่องความพยายามแก้ปัญหาซัพพลายเชน ในแง่หนึ่งจึงเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณ "โยกย้ายฐานการลงทุน" จากจีนไปยังประเทศ อื่นๆ ในอินโด-แปซิฟิก แทนให้มากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบัน "เวียดนาม" และ "อินเดีย" กำลังเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญของการกระจายการลงทุนออกจากจีน
ยูกิ ทัตสึมิ นักวิเคราะห์จาก Stimson Center มองว่า สหรัฐกำลังพยายามชักชวนพันธมิตรต่างๆ แบบ "ฮาร์ดเซลล์" และไม่ว่าสหรัฐจะเริ่มนโยบายใหม่ยังไง การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างกับสหรัฐฯ จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง IPEF ที่จะไปเป็นชนวนเร่งแนวโน้มดังกล่าวด้วย
โฆษณา