25 พ.ค. 2022 เวลา 10:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คลัง ส่อแววเลื่อนเก็บ ภาษีขายหุ้น หลัง FETCO ยื่นขอให้มีการชะลอ ด้วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ
กระทรวงการคลัง ส่อแววเลื่อนเก็บ "ภาษีขายหุ้น" หลังจากที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ยื่นหนังสือ ขอให้มีการชะลอ หลังเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องรอให้มีการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเรื่องของการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น จำเป็นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่เหมาะสม โดยจะต้องมีการเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งในช่วงนี้ทุกประเทศยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากสงครามรัสเซียและยูเครน และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม กระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว
ส่วนกรณีที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ส่งหนังสือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ผ่าน 5 ประเด็นนั้น ทางกระทรวงการคลังก็ได้มีการรับฟัง ส่วนจะเห็นชอบในการจัดเก็บภาษีช่วงใดนั้น จะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เหมาะสมต่อไป
“การจะนำภาษีดังกล่าวมาใช้ จำเป็นต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ เศรษฐกิจของเราค่อยๆฟื้นตัว โดยภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยยังทำได้ดี ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 90% ในช่วงที่ผ่านมานั้น ในปีนี้หลังจากที่ประเทศคลายล็อกดาวน์ คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปีนี้ราว 7 ล้านคน” คุณอาคม กล่าว
ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะคิดในอัตรา 0.1% และเมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ที่จัดเก็บในอัตรา 10% ของ 0.1% จะทำให้มีภาระภาษีรวม 0.11 % ของยอดขาย
ขณะเดียวกันประเด็นที่ FETCO ได้มีการส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผ่าน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. FETCO ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่
โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ โดยจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ
2. ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers (MM) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก
3. ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจะจัดเก็บภาษี จะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม MM เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม, กองทุนบำนาญ, กองทุนสวัสดิการ
เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้างและต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ทั้งนั้น ในกรณีของไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 70 และ MM 5-10%)
ดังนั้น การให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่า หากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว
4. อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 34 เมื่ออัตรา commission อยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตรา commission จึงลดลงเหลือเพียง 0.08%ในปัจจุบัน
ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีความผันผวนมาก การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว
5. ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลงท้ายที่สุด productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน
อ้างอิง :
ติดตามข่าวสารในโลกธุรกิจ เทคโนโลยี พร้อมบทวิเคราะห์แบบเจาะลึก ในทุกช่องทางของพวกเรา
โฆษณา