26 พ.ค. 2022 เวลา 06:10 • ปรัชญา
พระพรหมบัณฑิต ยกคติธรรมจาก ‘คนขับแท็กซี่’ ‘รู้จักพอ รู้จักให้ รู้จักปล่อยวาง’ นำพาชีวิตเป็นสุขได้
BM Beauty
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร โพสต์เฟซบุ๊ก ‘คติธรรม วาทะธรรม พระพรหมบัณฑิต’ ข้อความว่า
อาตมาเรียกแท็กซี่คันหนึ่งเพื่อให้ไปส่งที่วัดมหาธาตุ ตกลงจะจ่ายค่าโดยสาร ๕๐ บาท
อาตมานั่งข้างหน้าคู่กับคนขับเมื่อรถแล่นไปพักหนึ่ง คนขับแท็กซี่ถามว่า ท่านบวชพระมานานแล้วหรือ
อาตมาตอบว่าบวชมานานแล้ว
เขาถามต่อ “ท่านบวชแล้วมีความสุขดีหรือ”
“ก็เรื่อย ๆ นะ” อาตมาตอบแล้วถามกลับไปบ้างว่า
“คุณขับแท็กซี่มานานแล้วหรือ”
“นานแล้วครับ ผมขับแท็กซี่มา ๒๗ ปีแล้วครับ”
“ขับแท๊กซี่แล้วมีความสุขดีหรือ”
“มีความสุขมากครับ ผบขับแท็กซี่แล้วผมดับทุกข์ได้”
เขาตอบด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง ทำให้อาตมานึกถึง เรื่องสิทธาถะที่พายเรือข้ามฟากขึ้นมาทันที
“คุณขับแท็กซี่ตลอดเวลาไม่เคยประกอบอาชีพอื่น เลยหรือ” อาตมาถามต่อ
เขาตอบว่า “ผมเคยขับรถที่กระทรวงแห่งหนึ่ง แต่ผมอยู่ไม่ได้ ผมไม่ชอบระบบราชการที่เล่นพรรคเล่นพวกกันเหลือเกิน ทำราชการต้องมีเส้นสายครับ ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน ค่าของคนอยู่ที่ว่าเป็นคนของใคร ผมเบื่อหน่ายจึงลาออกไปเป็นพนักงานขับรถที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่ผมก็อยู่ไม่ได้”
“ทำไม ที่มหาวิทยาลัยนั้นก็มีการเล่นพรรคเล่นพวกกันหรือ”
.
“ไม่ใช่อย่างนั้น ผมขอถามหน่อย คนเราเรียนหนังสือไปเพื่ออะไร คนเรียนมากเป็นคนฉลาดมากขึ้นใช่ไหม”
“ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น”
“คนเรียนมากฉลาดมากควรมีความสุขมากขึ้นใช่หรือไม่ แต่ผมว่าไม่จริงประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นสอนผมว่า คนเรียนมากฉลาดมากกลับทุกข์
มากขึ้น พวกดอกเตอร์ ครูบาอาจารย์ที่นั่นมีความทุกข์เหลือเกิน ตัวเองทุกข์คนเดียวไม่พอยังทำให้นิสิตนักศึกษาทุกข์ไปด้วย ที่เป็นเช่นนั้นแสดงว่า
ต้องมีอะไรผิดพลาดในระบบการศึกษาของชาติเป็นแน่”
“คุณเห็นว่าผิดพลาดอย่างไร” อาตมาซักต่อ
“ผมว่าครูบาอาจารย์สอนผิด พวกเขาสอนให้คนมีความทุกข์แทนที่จะสอนให้คนมีความสุข ผมเตือนพวกเขาให้เปลี่ยนวิธีสอนใหม่เพื่อให้คนมีความสุข
พวกเขาไม่เชื่อผม ผมจึงลาออกมาขับแท็กซี่เลยครับ”
“คุณบอกพวกเขาว่าอย่างไร”
“อักษรไทยมีพชัญชนะกี่ตัว” เขาย้อนถาม
“สี่สิบสี่ตัว” อาตมาตอบ
“ในสี่สิบสี่ตัวท่านทราบไหมว่าอักษรตัวไหนดีและตัวไหนชั่วผมไปบอกพวกครูบาอาจารย์ให้สอนเด็กว่าอักษรตัวไหนเป็นตัวดีและตัวใดเป็น
ตัวชั่วเด็กจะได้ไม่ทุกข์ พวกครูบาอาจารย์ไม่ฟังผม พวกเขาบอกว่าหนังสือไม่มีตัวดีตัวชั่ว มีแต่กลาง ๆ”
อาตมาถามเขาว่า “อักษรอะไรเป็นตัวดี อะไรเป็นตัวชั่ว”
“ตัวชั่วมี ๓ ตัว คือ ล ก ล ตัวดีมี ๓ ตัว คือ พ ห ช”
.
“ล ก ล หมายถึงอะไร”
เขาตอบว่า “ ท่านเป็นพระไม่รู้เรื่องนี้ได้อย่างไรพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ล ก ล ก็คือ โลภ โกรธ หลง นั่นไง มันชั่วไหมท่าน”
“ใช่แล้ว โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลมูลคือรากเหง้าของความชั่ว คุณเล่นย่ออย่างนี้ใครจะไปรู้ว่าแต่ พ ห ช คืออะไร เป็นตัวดีจริงหรือเปล่า”
เขาตอบว่า “ เพื่อนที่ขับแท๊กซี่ด้วยกันมีความทุกข์มาก พวกเขาบ่นว่า ค่าเช่าแพง รายได้ก็น้อย แต่ผมไม่ทุกข์เพราะผมใช้ พ พาน คือ รู้จักพอ คนเราถ้ารู้จักพอจะมีความสุขใช่ไหม”
อาตมาเห็นด้วยกับคำตอบของเขา เพราะพระพุทธ-เจ้าตรัสว่า “ สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ ความรู้จักพอเป็นยอดทรัพย์ ” คนจนมีสองประเภทคือ คนจนเพราะไม่มี
กับคนจนเพราะไม่พอ คนส่วนใหญ่จนเพราะไม่รู้จักคำว่าพอ ความไม่พอใจจนเป็นคนเข็ญ พอแล้วเป็นเศรษฐีมหาศาล
จนทั้งนอกทั้งในไม่ได้การ ต้องคิดอ่านแก้จนเป็นคนพอ คนที่มีความสุขในชีวิตต้องเป็นคนรู้จักพอ หมายถึงว่า “พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ทำ” ใครไม่มีสิ่งที่ชอบก็ต้องชอบสิ่งที่ตนมี ภาษิตฝรั่งว่า “นกตัวเดียวในกำมือดีกว่านกสองตัวบนต้นไม้ ” คนไทยทุกวันนี้หลงอยู่ในวัตถุนิยม ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ
อาตมาถามคนขับแท็กซี่ต้อไปว่า “ห คืออะไร”
เขาตอบว่า “ ห คือ รู้จักให้ ถ้าผู้โดยสารต่อราคากับผม ผมลดให้เขาบ้าง ถ้าผู้โดยสารขอให้ผมไปส่งต่ออีกนิด ผมก็ไปให้ ผมถือว่า ผมให้บริการแก่ผู้โดยสาร ผู้โดยสารก็ให้ค่าโดยสารแก่ผม”
อาตมาเห็นด้วยกับเขา สังคมอยู่ได้เพราะมีการให้และการรับ จิตที่คิดจะให้ดีกว่าจิตที่คิดจะเอา ในครอบครัวใดทุกคนคิดแต่จะเอาจะไม่มีใครได้แต่ถ้า
ทุกคนคิดแต่จะให้ทุกคนจะได้
อาตมาถามต่อไปว่า “แล้ว ช คืออะไร ”
ขณะนั้นรถแท็กซี่ติดไฟแดงอยู่หน้าสุด ไฟเขียวส่งสัญญาณขึ้นแล้ว คนขับแท็กซี่ยังไม่ยอมออกรถ เพราะสนทนาธรรมเพลิน รถคันหลังจึงบีบแตร่ไล่
คนขับแท๊กซี่จึงบอกว่า “ ไฟเขียวเพิ่งขึ้น เขาบีบแตร่ไล่ผมแล้ว ไม่รู้จะรีบไปตายที่ไหน ผมโดนบีบแตร่ไล่ประจำ แต่ผมก็ไม่โกรธหรือหัวเสียเพราะผมใช้ ช
ครับ”
“หมายถึงอะไร”
“ช่างเขาเถอะ ผมโดนบีบแตร่ไล่ผมก็คิดว่าช่างเถอะ” นั่นคือการปล่อยวางแบบหนึ่งทำให้สบายใจดี
ใครชอบใครชังช่างเถิด
ใครเชิดใครแช่งช่างเขา
ใครเบื่อใครบ่นทนเอา
ใจเราร่มเย็นเป็นพอ
เมื่อแท็กซี่มาถึงวัดมหาธาตุฯ อาตมาจ่ายค่าแท็กซี่ ไป ๖๐ บาท เพิ่มจากราคาที่ตกลงกันไว้ ๑๐ บาท แต่เขารับเพียง ๕๐ บาท เมื่อถามว่าเพราะเหตุใด
เขาตอบว่า “ผมไม่เอาหรอกครับ ผมรู้จักพอ”
แล้วเขาก็ขับรถต่อไปอย่างมีความสุข เพราะเขามีธรรมประจำใจสามข้อเท่านั้น คือ
รู้จักพอ (สันโดษ)
รู้จักให้ (ทาน)
และรู้จักปล่อยวาง (จาคะ)
โฆษณา