27 พ.ค. 2022 เวลา 02:32 • ความคิดเห็น
ระวังคนในประเทศผู้ผลิตอาหารอย่างเรา จะขาดอาหารเสียเอง....
1
ในน้ำมียา ในปลามีสารเคมี
เอ้ย! ไม่ใช่สิ
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
แผ่นดินของเราอุดมสมบูรณ์
1
คำกล่าวที่ว่า เมืองไทยเรานี้ แสนดีหนักหนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
เป็นคำเปรียบเทียบถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งการผลิตอาหารที่มีทั้งปริมาณและความหลากหลายของบ้านเราได้เป็นอย่างดี
เราเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกใบนี้ ที่ไม่เพียงสามารถผลิตอาหารเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศเท่านั้น
แต่ยังมีมากพอที่จะส่งออกไปเลี้ยงชาวโลกที่มีเงินซื้อ อีกด้วย
ครั้งหนึ่งเราจึงถูกขนานนามว่าเป็นครัวของโลก...
อย่าถามว่าใครเป็นคนขนานนาม
เพราะผมเองก็ไม่รู้..😌
2
เอาเป็นว่า ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในหัวคนไทยและรัฐบาลไทยมาแทบจะทุกยุค ทุกสมัย
ในสถานการณ์ที่โลกกำลังอยู่ในภาวะเงินเฟ้อจนยาธาตุเอาไม่อยู่ เพราะโควิด-19+สงครามยูเครน
1
หลายประเทศกำลังเดือดร้อนอย่างหนักเพราะอาหารทั้งราคาแพงและขาดแคลน
ปัญหาด้านบนที่กล่าวมา จะเกิดขึ้นกับประเทศอยู่สองรูปแบบ
  • 1.
    ประเทศที่มีเงินแต่หาซื้อสินค้าที่ต้องการไม่ได้
  • 2.
    ประเทศที่ไม่มีเงินพอซื้อสินค้าที่มีขายในตลาดโลก
ปัญหาการขาดแคลนอาหาร กำลังจะเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่น่ากลัวมาก เพราะเราอย่าลืมว่าความหิวมันทำให้คนทำอะไรก็ได้เพื่อให้หายหิว....
แม้แต่ออกมาล้มรัฐบาล
เมื่อหันกลับมามองประเทศเรา
ที่มองดูผ่าน ๆ เผิน ๆ น่าจะได้ประโยชน์จากปัญหาโลกขาดแคลนอาหาร
เพราะเราเป็นผู้ผลิตอาหาร
สินค้าอาหารของเราควรจะได้ราคาดีขึ้น จากความต้องการซื้อที่มีมากกว่าของที่มีขาย
แน่นอนภาคการส่งออกสินค้าอาหารหลายอย่างอาจได้อานิสงค์ตรงนี้ แต่โปรดจงระวัง...
โปรดจงระวังว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราต้องมีสินค้าและอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศเสียก่อน อย่าคิดจะขายเอาเงินอย่างเดียว
ส่วนประเด็นที่เปิดหัวไว้ว่า ระวังคนในประเทศผู้ผลิตอาหารอย่างเรา จะขาดอาหาร มันก็มีเหตุผลที่ทำให้มองว่ามันมีความเป็นไปได้..
โอเคว่า เราเป็นผู้ผลิตอาหาร
แต่อาหารที่ผลิตย่อมไม่ได้มาด้วยการเสกคาถา
แต่ต้องได้มาด้วยกระบวนการผลิต แปรรูปและส่งขาย ผู้บริโภคจึงจะมีอาหารเข้าปาก
ในกระบวนการผลิตอาหารก็จำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตที่สมบูรณ์
เราจึงจะได้ผลผลิตอาหารที่มากพอ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพืชหรือปศุสัตว์
และปัจจัยการผลิตที่ว่ามา หลายอย่างที่มีความจำเป็นต่อการผลิต เราก็ต้องซื้อหา นำเข้ามาจากตลาดโลก เช่นเมล็ดพันธุ์(บางอย่าง) ปุ๋ยเคมี เคมีภัณฑ์ ยาปราบวัชพืช สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าตอนนี้ ของที่ว่ามา ราคาแพงถึงแพงมาก...
ส่วนใครที่กำลังจะอ้าปากบอกว่า เราก็ทำแบบไม่ต้องใส่ของพวกนี้สิ จะได้ประหยัดและปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
คำตอบก็คือ การผลิตในเชิงปริมาณและความคุ้มทุน
เพื่อให้ได้อาหารเพียงพอต่อการบริโภคในปัจจุบัน คือข้อจำกัดที่ทำให้เราทำแบบนั้นไม่ได้
การผลิตในระดับอุตสาหกรรมการเกษตรหรือแม้แต่เกษตรกรรมรายย่อย จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยทางเคมีในระดับสูง เหมือนกันทั้งโลก
ปุ๋ยไม่พอ ผลผลิตก็หร่อยหรอ
ยาฆ่าแมลงไม่มี ผลผลิตก็เสียหาย
ไม่ใช้เคมีภัณฑ์ ผลที่ได้ก็เล็กแคระแกรน ทำไปก็ไม่คุ้มต้นทุน
นี่คือความจริงในวงการเกษตรเพื่อการผลิตอาหารในบ้านเรา
ที่ไม่อิงนิยายขายหวย......
พูดถึงในส่วนของการผลิต จะไม่พูดถึงการแปรรูปก็ไม่ได้
ปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้นมีผลต่อต้นทุนการแปรรูปสินค้าทุกชนิด
ไล่ไปตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การขนส่ง ไปจนถึงการใช้แรงงานหรือเครื่องจักรในการเปลี่ยนพืชหรือสัตว์ให้กลายมาเป็นอาหาร
และส่วนสุดท้าย ที่มีผลทำให้คนในประเทศผู้ผลิตอาหารอย่างเราขาดอาหารก็คือ ส่วนของการขาย
พ่อค้าแม่ค้าขายปลีก ร้านค้า ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาเก็ตและร้านสะดวกซื้อคือจุดเชื่อมต่อระหว่างคนผลิต ผู้แปรรูปกับคนซื้อไปบริโภค
ต้นทุนของผู้ค้าปลีกปลายทางเหล่านี้สูงขึ้นทุกอย่างจากราคาค่าพลังงานที่สูงเพิ่มขึ้น
ดังนั้นจึงยากนักที่พวกเขาจะตรึงราคาเดิมไว้ได้ หากยังต้องการกำไรเอาไปดำเนินกิจการต่อ..
เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาอาหารจะสูงขึ้นทีละอย่าง สิบอย่าง
จนผู้บริโภคที่ปั้มเงินเพิ่มไม่ได้ เริ่มจะซื้อไม่ไหว ในที่สุด
เหตุผลที่จะทำให้คนในประเทศผู้ผลิตอาหาร ขาดแคลนอาหาร ไม่ใช่เพียงเพราะการผลิตอาหารกำลังจะลดลงจากปัจจัยการผลิตที่ไม่เพียงพอ
แต่ด้วยราคาอาหารที่สูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่คงที่หรือลดลง
ทำให้สุดท้ายแล้ว คนในประเทศผู้ผลิตอาหารอย่างคนไทยเรา ก็อาจจะกลายเป็นคนที่อดอยากอาหาร อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เป็นได้
1
ติดตามอ่านบทความได้ที่
โฆษณา