26 พ.ค. 2022 เวลา 08:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ
30 ประเทศจำกัดส่งออกอาหาร
IMF เตือนเศรษฐกิจโลกวุ่นหนัก
คริสตินา จีโอจีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนเศรษฐกิจโลกกำลังวุ่นวายหนัก หลังมี 30 ชาติจำกัดการส่งออกอาหารแล้วจากการระบาดของโควิด 19 ความขัดแย้งในยูเครน ตลาดการเงินที่เปราะบาง รวมไปถึงปัญหาซัพพลายเชนถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลก
นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว ขณะนี้มี 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน
นอกจากนี้ ครัวเรือนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับราคาอาหาร และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ สร้างความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะที่ยุ่งเหยิงอย่างที่สุด
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โพสต์ข้อความผ่าน เฟสบุ๊ค สาเหตุของวิกฤตอาหารโลก ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาปุ๋ยแพง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ราคาอาหารที่แพงขึ้นนำมาสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร (Food Insecurity)
เมื่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตพุ่งสูงขึ้น เช่น ข้าว ขนมปัง เนื้อสัตว์ นม ไข่ นั่นแปลว่าประชาชนต้องหักส่วนรายได้เพื่อมาใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น สำหรับประเทศที่ค่าครองชีพมีความสอดคล้องกัน อาจส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยประปราย แต่ในประเทศรายได้น้อยนั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก
เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ผู้คน 10 ล้านคนถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกสำหรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ เปอร์เซ็นต์
การที่ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ประชาชนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร และนำไปสู่ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
เฉพาะในประเทศเอเชียแปซิฟิก FAO ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารแพงและการขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 ล้านคน และยังมีคนเป็นโรคขาดสารอาหารที่เรียกกันว่า โรคผอมแห้ง มากถึง 40 ล้านคน เพิ่มจาก 31 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ระบุว่า นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดวิกฤตที่เรียกว่า The Great (Food) Shortage หรือภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ของโลก
และในหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ความไม่มั่นคงด้านอาหารเป็นสาเหตุของความไม่สงบทางสังคมและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในศรีลังกา ตูนิเซีย และเปรู
นอกจากนี้ในประเทศร่ำรวยก็เจอผลกระทบเช่นกัน เช่น ชาวอังกฤษเกือบ 10 ล้านคนลดการบริโภคอาหารในเดือนเมษายน และฝรั่งเศสวางแผนที่จะออกคูปองอาหารให้กับครัวเรือนที่ยากจนที่สุด และอัตราเงินเฟ้อที่นำโดยราคาอาหารและพลังงานเป็นปัญหาการหาเสียงทางการเมืองของสหรัฐที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของที่นั่งในรัฐสภา
ในส่วนของประเทศไทยคงเห็นได้ชัดเจน จากทั้งราคาหมูที่เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 180 บาท เป็น 250 บาท และแตะ 300 บาทไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่วนไก่ ปลา ผักสด ก็แพงขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ร้านค้าจำนวนมากต้องติดป้ายขอขึ้นราคาอาหารเนื่องจากวัตถุดิบแพงขึ้นจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่ราคาขายแบบเดิมได้ ยังไม่รวมแก๊สหุงต้ม LPG ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าทางด่วน ที่ขยับขึ้นราคาตามในขณะที่รายได้ประชาชนยังคงเท่าเดิม
โฆษณา