26 พ.ค. 2022 เวลา 09:14 • การตลาด
5 เหตุผล ทำไม เซ็นทรัล รีเทล
ถึงส่ง “Tops Care” เข้ามาแข่งในตลาดร้านยา
หากมองเข้ามาที่กลุ่มธุรกิจหลักของเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือซีอาร์ซี 1 ในธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลแล้ว ก่อนหน้านั้น จะมี 4 ขาหลักทางธุรกิจ คือ ค้าปลีก สินค้าฮาร์ดไลน์ ฟู้ด แฟชั่น และธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อการค้าปลีกที่มี 2 แบรนด์ศูนย์การค้าคือ โรบินสันไลฟ์สไตล์ และท็อปส์ เป็นตัวชูโรง
ขณะที่ธุรกิจใหม่ที่เซ็นทรัล รีเทล จะสร้างเป็นขาที่ 5 ก็คือ Wellness ซึ่งเป็นการเข้ามาเกาะกับเทรนด์การใส่ใจในเรื่องของสุขภาพและความงามของคนไทย ที่เพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่องานแถลงข่าวของบริษัทในช่วง 2 – 3 เดือนก่อนหน้านี้
เซ็นทรัล รีเทล เริ่มเดินหน้าเข้ามาทำตลาดร้านยาอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการเปิดร้านยาภายใต้แบรนด์ “Tops Care” ไปแล้ว 3 สาขา คือสาขาเอกมัย ที่อยู่ข้างจุดบริการลูกในท็อปส์ มาร์เก็ต ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย เซ็นทรัล พระราม 2 ชั้น G บริเวณฟู้ด ฮอลล์ และที่สาขาพัฒนาการ 30 ซึ่งเป็นสาขาสแตนอะโลนของท็อปส์ มาร์เก็ต
การขยับเข้ามาแข่งขันในตลาดร้านยาของเซ็นทรัล รีเทล ในครั้งนี้ น่ามาจาก 5 เหตุผลสนับสนุนสำคัญ ไล่ตั้งแต่
1.ความน่าสนใจของตลาดร้านขายยาที่นอกจากจะมีขนาดของตลาดใหญ่ด้วยมูลค่าตลาดสูงถึง 35,000 - 40,000 ล้านบาทต่อปีแล้ว ตลาดนี้ยังมีการเติบโตในตัวเลขที่ค่อนข้างดี ในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดเติบโตถึง 7.5% ขณะที่ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัวมียอดขายออกมาค่อนข้างดี
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดของผู้บริโภคกว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยา โดยมูลค่าการนำเข้ายาของไทยในปี 2564 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 13% จากปี 2563 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการนำเข้ายาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้สถานการณ์การระบาดจะมีสัญญาณดีขึ้น จนอาจทำให้ความต้องการยาดังกล่าวปรับตัวลดลง แต่ในทางกลับกัน ก็อาจทำให้คนไข้ไทยกลุ่มเดิมที่รักษาโรคทั่วไป และคนไข้ต่างชาติบางกลุ่มทยอยกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
ในขณะที่คาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ ปัจจัยข้างต้นน่าจะยังหนุนให้มูลค่าตลาดยาในประเทศปี 2565 อยู่ที่ 2.33-2.38 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นช่องทางผ่านโรงพยาบาลรัฐบาล 60% โรงพยาบาลเอกชน 25% และร้านขายยา 15% โดยตลาดรวมจะขยายตัว 3.0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 2.5%
2.ตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นตัวเลขทั้งอุตสาหกรรมยา แต่ถ้ามองเข้ามาเฉพาะที่การขายผ่านร้านยาแล้ว ความน่าสนใจจะอยู่ที่ ผลจากกฎหมายวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมในปี 2562 ที่กำหนดให้ทุกร้านต้องมีเภสัชกรประจำร้านและติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ทำให้ร้านขายยากว่า 5 พันร้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์ต้องทยอยปิดตัวลง ส่งผลให้คู่แข่งในตลาดลดลง สวนทางกับภาพรวมของตลาดยาที่เติบโตขึ้น
แต่ถ้ามองเข้ามาที่ตัวเลขของจำนวนร้านขายยาแล้ว จะพบว่า บ้านเรามีร้านขายยาอยู่กว่า 20,000 ร้าน ในจำนวนนั้น เป็นตัวเลขของเชนร้านยาประมาณ 25% และร้านขายยาแบบสแตนด์อะโลน หรือร้านยาแบบเดี่ยวๆ ที่ไม่ได้เป็นเชนอีก 75%
โดยปัจจุบันร้านขายยาที่เป็นเชนจะมีทั้งที่เป็นผู้ประกอบการชาวไทย และเชนจากต่างประเทศ อาทิ วัตสัน จากฮ่องกง บู๊ทส์ สัญชาติอังกฤษ ร้านยาซูรูฮะ สัญชาติญี่ปุ่น ร้านยามัตสึโมโตะคิโยชิ สัญชาติญี่ปุ่น
ส่วนร้านยาที่เป็นเชนสัญชาติไทย อาทิ ร้านยา Health Up ร้านยา eXta ร้านยา Save Drug ร้านยา Fascino ร้านยา Pure ของบีเจซีที่ล่าสุดเปิดร้านสิริฟาร์ม่า เน้นขายยาในราคาส่ง และร้านยากรุงเทพดรักส์สโตร์ เป็นต้น
3.Tops Care จะถูกสร้างให้เป็นแพลตฟอร์ม Omni-channel ที่จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบ Omni-channel Experience ตามแนวทางการทำตลาดของผู้เล่นรายนี้ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้กับเซ็นทรัล รีเทล ที่กำลังมุ่งสู่การเป็น CRC Retailigence ได้เป็นอย่างดี
4.มีเครือข่ายค้าปลีกที่แข็งแกร่งเข้ามาช่วยสนับสนุนในการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็น การเลือกเปิดในศูนย์การค้าในเครือของเซ็นทรัลด้วยกันหรือการเปิดนอกศูนย์ หรือแม้แต่การเกาะไปกับร้านค้าปลีกที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นการช่วยปรู๊ฟเรื่องของโลเคชั่นได้เป็นอย่างดี
5.นอกจากการทำตลาดในประเทศแล้ว เซ็รทรัลรีเทลยังมีการนำฟอร์แมตของร้านค้าปลีกใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นไปขยายยังต่างประเทศอีกด้วย ทำให้กลายเป็นตัวช่วยต่อยอดธุรกิจค้าปลีกใหม่ๆให้กับเซ็นทรัล รีเทล โดยเซ็นทรัล รีเทล มีฐานธุรกิจอยู่ในย่านอาเซียนอย่างเวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น การมีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งจะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการทำตลาดร้านขายยาในรูปแบบเชนก็คือเรื่องของเภสัชกรประจำร้านซึ่งเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องมี ทำให้ที่ผ่านมา เชนใหญ่ๆ มีการขยายสาขาได้ไม่เร็วนัก เนื่องจากเภสัชกรส่วนใหญ่ของบ้านเราครึ่งหนึ่งจะเข้าไปทำงานเป็นดีเทลยา
ขณะที่ดิสทริบิวเตอร์ในตลาดยาของบ้านเราก็มีความแข็งแกร่ง ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุดเหมือนกับสินค้า FMCG
การขยับตัวในครั้งนี้ จึงน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว.....
#BrandAgeOnline #เซ็นทรัลรีเทล #TopsCare #ตลาดร้านยา
โฆษณา