27 พ.ค. 2022 เวลา 00:48 • ปรัชญา
คุณกล่างถึงว่าถ้าโลกระเบิดหรือจักรวาลสูญสิ้นไปหมดแล้วเราจะได้ไปนิพพาน อันนี้ไม่เป็นความจริงเป็นความเข้าใจผิด ผมคิดว่าคุณอาจจะกําลังนึกเปรียบเทียบอยู่ว่า การไม่เกิดหรือการไปนิพพานจะดีกว่าการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ที่มีแต่ทุกข์นี้หรือไม่? เราจะได้บุญหรือไม่? อันไหนคือทางเลือกที่ถูกต้องกันแน่?
ผมไม่เคยไปนิพพาน แต่เคยศึกษามาบ้าง การที่โลกระเบิดหรือจักรวาลสูญสลายไป ไม่ได้หมายความว่าตัวตนเราสูญสลายตาม แล้วเข้าสู่สภาวะนิพพาน ถ้าสรุปอย่างนั้นมันก็ง่ายเกินไปและไม่เป็นความจริง การที่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่เพราะมันมีหัวเชื้อที่นําและพาเราไปเกิด นั่นคือกิเลส ตัณหาและอวิชชา และไม่ว่าอย่างไรก็ตามถ้าสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ก็จะมีการเกิดใหม่เสมอ ด้วยอํานาจของวิบากกรรม
ถึงแม้ไม่มีโลกให้เกิด ก็จะมีภพอื่นๆให้เกิดอยู่ดี เนื่องจากวัฏสงสารนั้นกว้างใหญ่เกินกว่าจินตนาการ วัฏสงสารนั้นคือพหุจักรวาลที่มีเป็นอนันต์ ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย เมื่อเราอยู่ในโลกปัจจุบัน เรามีความทุกข์ เรามีความปราถนา ที่จะพ้นไปจากโลกซึ่งคุณตั้งหัวข้อให้เลือกว่าไปนิพพานหรือจะอยู่เหมือนเดิม
คนที่มีทุกข์ส่วนใหญ่ก็จะเลือกไปนิพพานเพราะเข้าใจว่าที่นั่นไม่มีทุกข์ เป็นสถานที่ที่หนึ่งที่เต็มไปด้วยความสุข สังเกตุจากความคิดของคุณเอง ภายใต้ความคิดที่ว่าโลกระเบิดแล้วได้ไปนิพพาน กับความคิดเรื่องได้บุญมากเมื่อเข้าสู่นิพพาน ความปรารถนาเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนจากอวิชชา คือความเข้าใจผิด เพราะถ้าเราปรารถนาไม่ต้องการสิ่งหนึ่งที่ชอบ แต่อยากได้อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบ เราก็ยังตกอยู่ในกระแสของโลกอยู่ดี
นั่นคือไม่มีทางไปสู่นิพพานภายใต้ความคิด นิพานคืออะไร ไม่มีใครรู้แน่ ถ้าไม่ได้ไปมาจริง บางคนไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ตามความเข้าใจของผมซึ่งก็ไม่เคยไปมาเช่นกัน คิดว่าไม่ใช่สถานที่ เหมือนโลกมนุษย์ หรือสวรรค์ หรือภพภูมิใดและไม่สามารถนิยามได้ด้วยภาษาแบบมนุษย์
เพราะนิพพานอยู่นอกเหนือไปจากวัฏสงสาร ที่พ้นไปจากสภาพการปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง พ้นไปจากการเวลา ไม่ใช่สถานที่ จึงไม่มีอะไรให้เกิดในนิพพาน บางคนก็บอกว่ามีสภาพเป็นอนัตตา เป็นสุญญตาหรือความว่างจริงๆที่ไม่ใช่ที่ว่างในอวกาศ ไม่มีทั้งบุญและบาปในนิพพาน เมื่อปราศจากตัวตนในนิพพานแล้วจะมีบุญและบาปได้อย่างไร
1
บุคคลที่จะไปนิพพานได้ ต้องละสังโยชน์ 10ประการได้ทั้งหมด (กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์)
ทําลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ทําลายกิเลสตัณหาในตัวตนได้หมด จึงจะบรรลุสภาวะที่จะเข้าถึงนิพพานได้ แต่เนื่องจากยังไม่ละสังขาร จิตยังครอบครองขันธ์อยู่ แต่สภาวะจิตของพระอรหันต์ เข้าสู่กระแสนิพพานได้แล้ว ไม่มีความยืดมั่นถือมั่นในตัวตนต่อไป ไม่มีการปรุงแต่งในจิต วงจร ปฏิจจสมุปบาทได้ถูกตัดขาดแล้ว อวิชชาในตัวได้ถูกตัดขาดแล้ว
ด้วยหนทางแห่งมรรค ซึ่งในระดับปุถุชนที่พึงปฏิบัติตามศีล สมาธิ และปัญญา แบ่งเป็น 8 ประเภทในระดับโลกียะ และแบ่งตามสภาวะจิตในระดับโลกุตระ ได้เป็นมรรค4 อริยะบุคคล 4 ประเภท (มรรค 4 ผล 4 หรือมรรค 8 หรือวิปัสสนาญาณ 16 ขั้น) เป็นหนทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล เพื่อให้เกิดญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ซึ่งเป็นอนุสัยกิเลสระดับลึกได้เด็จขาด เหตุ4 ให้เกิดผล 4 มีดังนี้
1. โสดาปัตติมรรค (มรรคแห่งความเป็นพระโสดาบันเป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
  2. สกทาคามิมรรค (มรรคแห่งความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง
  3. อนาคามิมรรค (มรรคแห่งความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง 5
 4. อรหัตตมรรค (มรรคแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10
ผล 4 ได้แก่ อริยบุคคล 4 ประเภท
 1. โสดาบัน (ท่านผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, “ผู้ถึงกระแส” — Stream-Enterer)
 2. สกทาคามี (ท่านผู้บรรลุสกทาคามิผลแล้ว, “ผู้กลับมาอีกครั้งเดียว” — Once-Returner)
 3. อนาคามี (ท่านผู้บรรลุอนาคามิผลแล้ว, “ผู้ไม่เวียนกลับมาอีก” — Non-Returner)
 4. อรหันต์ (ท่านผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว, “ผู้ควร” “ผู้หักกำแห่งสงสารแล้ว” — the Worthy One)
สังโยชน์ 10
 ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องต่ำเป็นอย่างหยาบเป็นไปในภพอันต่ำ)
1. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นต้น)
 2. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ)
 3. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต เห็นงมงายว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลวัตร)
4. กามราคะ (ความกำหนัดติดใจในกามคุณ)
 5. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิด
ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 ( สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง)
  6. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ
 7. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌานหรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ
  8. มานะ (ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
  9. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน )
10. อวิชชา (ความไม่รู้จริง, ความหลง)
หมายเหตุ: มรรค4 ผล4 สังโยชน์10 ความหมาย: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
โฆษณา