4 ส.ค. 2022 เวลา 09:58 • การศึกษา
ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
การสร้างบารมีเป็นเหมือนเสาหลักของชีวิต ที่มวลมนุษย์ทั้งหลายจะต้องกระทำ เพราะว่าทุก ๆ คนที่เกิดมาล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อทำอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป การจะเข้าถึงจุดที่บริบูรณ์ที่สุดของชีวิตคือพระนิพพานได้นั้น จะต้องมีบุญบารมีมากเพียงพอ และต้องเป็นบุญล้วน ๆ ไม่มีสิ่งอื่นที่เป็นบาปอกุศลเจือปนเลย
บุญที่บริสุทธิ์นี้ จะช่วยกลั่นกาย วาจา ใจของเราทุก ๆ วัน จะส่งผลให้ชีวิตของผู้นั้นเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้โดยไม่ยากเลย ต่างกับชีวิตของผู้ที่กระทำแต่บาปอกุศลย่อมจะได้รับผลที่ตรงกันข้าม เสวยแต่ผลแห่งวิบากกรรมที่เผ็ดร้อน มีทุคติอบายภูมิเป็นที่ไป เพราะการเกิดมาในสังสารวัฎนั้น
เมื่อทำดีต้องได้ดี ส่วนทำชั่วก็ย่อมจะได้รับผลชั่ว เมื่อเราทราบกันอย่างนี้ก็ควรตระหนักและมีใจมั่นคงในความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และต้องหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งกันอย่างสม่ำเสมอ จิตใจเราจะได้มั่นคงต่อหนทางแห่งความดีงามได้ตลอดไป
มีวาระพระบาลีที่ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ชาดก ความว่า
“ยานิ กโรติ ปุริโส ตานิ อตฺตนิ ปสฺสติ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ หรเต ผลํ
บุคคลทำกรรมใด ย่อมมองเห็นกรรมนั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ผลย่อมงอกขึ้นเช่นนั้น”
มีทุพภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ถ้อยคำอย่างนี้กลับเริ่มแผ่ขยายไปในทุก ๆ หมู่ชน โดยเฉพาะผู้ที่หาเช้ากินค่ำ ต้องการแสวงหาปัจจัยเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่ผิด อย่าไปคิดและอย่านำไปปฏิบัติอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เรากลายเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ จะก่อให้เกิดความหายนะแก่ตัวของเราเองทั้งภพนี้และภพหน้า
การเข้าใจในสิ่งที่ผิด ๆ อย่างนี้ จะก่อให้เกิดแต่ความเสียหายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเคยเกิดขึ้นมาแล้วทุกยุคทุกสมัย ผลก็ปรากฏชัดเจนว่า นำมาแต่ความทุกข์เท่านั้น เรื่องราวที่เป็นตัวอย่างเช่นนี้ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยทรงนำมาตรัสเล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจพุทธสาวก เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เป็นคติสอนใจอย่างดีเยี่ยม
มีอยู่คราวหนึ่ง พระโอรสของพระเจ้าอุเทนพระนามว่า โพธิราชกุมาร ประทับอยู่ที่สุงสุมารคีรี ได้รับสั่งให้เรียกช่างไม้ที่มีฝีมือดีที่สุดในยุคนั้นมาคนหนึ่ง ให้สร้างมหาปราสาทชื่อว่า โกกนุท โดยสร้างไม่ให้เหมือนกับพระราชวังของพระราชาอื่น ๆ มหาปราสาทโกกนุทนี้สวยงามมาก สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ มองดูแล้วเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ มีความวิจิตรพิสดารมาก
ตอนเริ่มสร้างก็ดูยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วเกิดมีความระแวงขึ้นมาว่า หากปล่อยช่างไม้นี้ไว้ เดี๋ยวคงต้องไปสร้างให้กับที่อื่นอีก จะทำให้ปราสาทของเรานี้ไม่เป็นสิ่งอัศจรรย์ของโลก จึงรับสั่งให้ควักนัยน์ตาของนายช่างไม้นั้นออกเสีย
เรื่องราวที่โพธิราชกุมารทำลงไปอย่างนี้ กลายเป็นข่าวแพร่กระฉ่อนไปทั่วบ้านทั่วเมือง แม้แต่ในหมู่ภิกษุสงฆ์ก็ยังนั่งสนทนาถึงเรื่องนี้กันในโรงธรรมสภา ในขณะนั้นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาพอดี พระองค์จึงตรัสถามว่า ที่นั่งสนทนากันนี้ปรารภถึงเรื่องอะไร?
เมื่อพระภิกษุสงฆ์กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระองค์จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย โพธิราชกุมารนั้น ไม่ใช่จะเป็นคนที่หยาบช้าสามานย์แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในอดีตก็เคยมีนิสัยเช่นนี้มาแล้ว ตนเองจึงต้องประสบผลแห่งการกระทำนั้นชนิดทันตาเห็นทีเดียว” เมื่อพระภิกษุอ้อนวอน พระองค์จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่าว่า
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์อยู่ในเมืองตักกศิลา สอนศิลปะวิทยาให้กับพระราชโอรสและบุตรของพราหมณ์ชมพูทวีปทั้งสิ้น แม้พระโอรสของพระเจ้าพาราณสีพระนามว่าพรหมทัตกุมาร ก็ได้ศึกษาในสำนักของพระโพธิสัตว์เช่นกัน ได้เรียนพระเวททั้ง ๓ กับพระโพธิสัตว์
พระเวทสามนี้ เป็นความรู้ทางศาสนาพราหมณ์ มักจะเรียกสั้น ๆ ว่า ไตรเพท เป็นคัมภีร์ศักสิทธิ์ตามความเชื่อของทางศาสนาพราหมณ์ มีความรู้ที่บรรจุไว้อยู่สามอย่างคือ
๑. ฤคเวท เป็นความรู้ที่ประมวลบทสรรเสริญเทพเจ้าต่าง ๆ ตามความเชื่อของศาสนิกในยุคนั้น
๒. ยธุรเวท ประกอบด้วยบทสวดอ้อนวอน หรือขับร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ และ
๓. สามเวท เป็นการประมวลบทเพลงสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญเช่นกัน เป็นความรู้ที่คนในสมัยนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนกับพระโพธิสัตว์เจ้า พรหมทัตกุมารนี้ได้ศึกษาอยู่กับเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย
โดยอุปนิสัยดั้งเดิมของพรหมทัตกุมารแล้ว เป็นคนที่กักขฬะ หยาบช้า ทารุณ ด้วยอำนาจแห่งความรู้ที่ดูลักษณะ พระโพธิสัตว์จึงกล่าวพร่ำสอนตักเตือนเนือง ๆ ว่า ”ดูก่อนพ่อ ความเป็นใหญ่ที่ได้มาด้วยความหยาบช้านั้น จะดำรงอยู่ได้ไม่นานเลย
เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ผู้ที่ได้ขึ้นเป็นใหญ่ด้วยความหยาบช้า จะไม่ได้ที่พึ่งจากบุคคลรอบข้าง เหมือนคนเรือแตกที่ไม่มีที่พึ่งกลางสมุทรฉะนั้น ดังนั้นพระองค์อย่าเป็นคนที่มีอุปนิสัยอย่างนี้เลย” ตอนที่อยู่กับอาจารย์ท่านก็ดูรับฟังด้วยความเคารพเชื่อฟังในทุกถ้อยคำ
หลังจากที่ศึกษาศิลปวิทยาจนจบการศึกษา ก็เดินทางกลับไปยังนครพาราณสี เพื่อเข้ารับตำแหน่งอุปราชประจำพระนคร จนกระทั่งพระราชบิดาสวรรคต จึงได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ อาจจะเป็นความอับโชคของท่านก็ว่าได้ เพราะมีปุโรหิตที่ปรึกษาประจำพระองค์เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง และเป็นผู้ที่มีความโลภในลาภ ยศ ไม่รู้จักพอ เกิดความคิดที่ไม่ดีขึ้นมาว่า เราจะยุให้พระราชาทำการยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปดีกว่า
เพราะหากว่าพระราชาของเราเป็นผู้ที่ครองราชย์ในชมพูทวีปแล้ว เราในฐานะปุโรหิตที่ปรึกษา ย่อมจะได้รับลาภ ยศ ชื่อเสียงยิ่งขึ้นตามไปด้วย ด้วยความปรารถนาลามกเช่นนี้จึงทำการยุยงพระราชาอยู่ทุก ๆ วัน จนกระทั่งพระราชาคล้อยตามความคิดของปุโรหิตผู้เป็นมิจฉาทิฏฐินั้น
พระเจ้าพรหมทัตราชาแห่งพาราณสีจึงกรีฑาทัพครั้งใหญ่พร้อมกับเหล่าเสนาทหารจำนวนมากเดินทางไปทั่วชมพูทวีป เมืองแรกที่ทำการรบได้ใช้วิธีปิดล้อมรบจนกระทั่งได้รับชัยชนะ ทำอย่างนี้จนยึดเมืองได้ก็จะเดินทางต่อไป สามารถรบจนได้รับชัยชนะทั่วทั้งชมพูทวีป ยึดเมืองและจับพระราชาได้ถึง ๑,๐๐๐ พระองค์
และเดินทางพร้อมกับพระราชาที่ศิโรราบมุ่งตรงไปยังพระนครสุดท้ายคือ นครตักกศิลา ซึ่งเป็นเมืองที่ตนเองเคยเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนเมื่อครั้งยังเป็นพระราชโอรส
ในขณะเดียวกัน อาจารย์ทิศาปาโมกข์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ก็ยังเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นเช่นเดิม ด้วยความเป็นผู้ที่มีปัญญา จึงวางแผนป้องกันพระนครอย่างเต็มความสามารถ ทำให้พระเจ้าพรหมทัตไม่สามารถกรีฑาทัพเข้ายึดครองได้ พระราชาจึงให้ตั้งค่ายพักรี้พลอยู่นอกพระนคร ให้วงม่านใต้ต้นไทรใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
แล้วทำเพดานข้างบน ลาดที่บรรทมแล้วพักผ่อน ท้าวเธอแม้จะพาเอาพระราชาทั้งพันพระองค์มาช่วยออกรบ ก็ยังไม่สามารถยึดนครตักกศิลาได้
เมื่อไม่สามารถที่จะยึดได้อย่างที่ตั้งใจ จึงปรึกษากับปุโรหิตมิจฉาทิฏฐิว่า เราควรจะทำอย่างไรดี จึงจะสามารถยึดเมืองนี้ได้ ปุโรหิตได้ให้คำปรึกษาว่า “มหาบพิตร เราควรจะทำพลีกรรมด้วยการควักนัยน์ตาของพระราชา ๑,๐๐๐ พระองค์ แล้วปลงพระชนม์เสีย ผ่าท้องเถือเอาเนื้อที่อร่อย กระทำพลีกรรมแก่เทวดา เอาเกลียวไส้ทั้งหลายวงรอบต้นไทรแล้วเจิมด้วยโลหิต ชัยชนะจะมีแก่เราอย่างแน่นอน”
ด้วยความเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยหยาบช้าอยู่แล้ว เมื่อได้ทรงรับฟังอย่างนั้นก็ไม่ต้องพินิจพิจารณาเลย รับสั่งให้ทำตามคำของปุโรหิตทันที โดยวางแผนให้เรียกพระราชาเข้ามาทีละองค์ แล้วทำให้สลบด้วยการบีบคอ ควักนัยน์ตา แล้วฆ่าให้ตาย เอาแต่เนื้อไว้ ลอยซากศพลงไปในแม่น้ำคงคา
แล้วทำพิธีบวงสรวงเทวดา กรรมที่พระเจ้าพรหมทัตทรงกระทำในครั้งนั้น เป็นบาปอกุศลอย่างยิ่ง กรรมชั่วนั้นส่งผลในทันที ได้มียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า อัชชิสกตะ มาควักนัยน์ตาข้างขวาของพระองค์ไป เวทนาอย่างใหญ่หลวงบังเกิดขึ้นกับพระองค์ ถึงกับนอนร้องครวญครางอยู่บนที่บรรทม
ในขณะนั้นเอง มีแร้งตัวหนึ่งบินมาจับอยู่บนยอดไม้ เมื่อกินเนื้อหมดแล้วทิ้งกระดูกลงมา ซึ่งเป็นกระดูกที่มีปลายคมกริบ ปลายกระดูกนั้นตกลงมาที่พระเนตรข้างซ้ายเข้าให้อีก ทำให้พระเนตรทั้งสองแตกไป เหมือนถูกหลาวเหล็กแทง
เมื่อได้ประสบกับความทุกข์ทรมานเข้าแล้ว จึงหวนคิดถึงถ้อยคำของอาจารย์ที่เคยกล่าวตักเตือนตนเองไว้ว่า คนที่สร้างกรรมก็ย่อมจะเสวยวิบากที่สมควรแก่กรรม อาจารย์ก็ตักเตือนเราแล้ว ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ตัวเรากลับไม่เชื่อฟัง จึงต้องประสบกับความทุกข์อย่างนี้ พระเจ้าพาราณสีนั้น นอนบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้จนกระทั่งสวรรคตลง ตายแล้วก็ไปบังเกิดในนรก
ส่วนปุโรหิตมิจฉาทิฏฐิไม่สามารถทำความเป็นใหญ่ให้ตนเองได้ เมื่อพระราชาสวรรคตไพร่พลก็แตกกระสานซ่านเซ็นไป
พระบรมศาสดาครั้นทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าจบลง แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาครั้งนั้นคือพระโพธิราชกุมาร ปุโรหิตคือพระเทวทัต ส่วนอาจารย์ทิศาปาโมกข์ คือตถาคต
เราจะเห็นกันแล้วว่า หากใครทำกรรมใดไว้ย่อมจะได้รับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน จะต้องประสบกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อยู่ที่ว่าเหตุการณ์นั้นจะปรากฏช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ย่อมส่งผลให้ประจักษ์แก่ผู้นั้น ดังนั้นเราควรจะเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคงอยู่กับการทำความดี อย่าทำบาปกันจนคุ้น ครั้นเมื่อบาปไม่ส่งผลก็เลยนึกว่าทำบาปเป็นสิ่งที่ดี
แต่ทำบาปนี่แหละจะทำให้เรามีปัญหาติดตามข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งการไปแก้ไขที่ปลายเหตุเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก มีแต่รับใช้ผลกรรมที่จะเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นดีที่สุดคือทำแต่บุญกุศล เว้นไกลจากบาปทุก ๆ ชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติธรรม เพื่อกลั่นจิตใจของเราให้ผ่องใสอยู่เนืองนิตย์ จะทำให้ชีวิตของเรามั่นคงดำรงอยู่ในเส้นทางแห่งความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๑๔๓ – ๑๕๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๕๘ หน้า ๗๒๒
2
โฆษณา