27 พ.ค. 2022 เวลา 19:14 • ประวัติศาสตร์
สรุปจาก 📝WIM EP.64: “ประวัติศาสตร์” เราเรียนรู้อะไรจากอดีตได้บ้าง 📖 (รับชมวิดีโอตัวเต็มได้ที่: https://bit.ly/3wRGEDW)
======================
1. ประวัติศาสตร์ คืออะไร
======================
- ประวัติศาสตร์คือเรื่องราวในอดีต เรื่องของความเป็นมา เกิดในยุคก่อนที่เราจะถือกำเนิด
- ไม่ว่ามนุษย์จะดำเนินชีวิตมานานแค่ไหน ชีวิตเราจะคล้ายๆ เดิม เลยมีความเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้จากเรื่องราวต่างๆ ในอดีตได้
- ผมเคยเป็นคนที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์มาก่อน เคยคิดว่าทำไมเราไม่ไปเรียนสิ่งใหม่ๆ จะมาเรียนเรื่องเก่าๆ ทำไม แต่ตอนไปเรียนที่ต่างประเทศได้สังเกตว่าคนต่างประเทศที่วัยเดียวกัน ทำไมเขามีความสนใจประวัติศาสตร์มากๆ ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่นหรือคนยุโรป เราก็ได้แต่ตั้งคำถามแต่ไม่มีคำตอบ จนวันนี้ก็ยังไม่มี แต่ว่าต้องยอมรับอย่างว่าประเทศที่มีการพัฒนาสูงแล้ว เขาให้ความสำคัญกับวิชานี้ เขาศึกษาและมีความตั้งใจเรียนมากๆ
- เชื่ออีกอย่างว่าเราเรียนหลากหลายวิชา เรียนเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คือการเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาเป็นไปของมนุษย์ แล้วมันสอนในเรื่องของความสัมพันธ์เชิงเหตุเชิงผล สิ่งต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุไม่มีผล ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วนำไปสู่อะไร ถ้าคนที่ตัดสินใจตอนนั้นพลิกมุมเปลี่ยนจาก A เป็น B โลกเราจะเปลี่ยนแปลงไปไหม
1
ทำไมเหตุการณ์ถึงเป็นแบบนี้ พลิกผันจากจุดนี้ไปได้อย่างไร เลยเป็นการสอนให้เราได้ฝึกความคิด ความเป็นเหตุเป็นผล
- ซึ่งมันน่าสนใจเพราะบางทีมันเกิดขึ้นมาแบบมีเหตุผลรองรับ แต่บางครั้งก็ไม่มีเหตุผลรองรับ แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้เรียนทั้งชีวิตคนและตรรกะแบบเหตุแบบผล
======================
2. แนะนำวิธีศึกษาประวัติศาสตร์
======================
- ใครชอบอะไรเรียนตรงนั้นไปเลย บางคนชอบสามก๊ก บางคนชอบอังกฤษ แต่ละคนก็จะมีความชอบไม่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าเมื่อชอบแล้ว ต่อไปคนที่ชอบประวัติศาสตร์ก็จะพยายามหามุมใหม่ๆ มาเรียนรู้
อย่างเราเคยชอบสามก๊กที่สุด แล้ววันนึงไปดูหนังเรื่อง Gladiator ด้วยยุคโรมันกับราชวงศ์ฮั่นน่าจะต้องใกล้กัน เลยลองจินตนาการเล่นว่าๆ ถ้าแม็กซิมัสไปรบกับขงเบ้งคงมันส์น่าดู
แล้วก็เลยลองเปรียบเทียบดูปีของทั้งสองฝั่ง รู้สึกว่ามันเปิดโลกทัศน์ คิดว่าถ้าเป็นสมัยนี้คงรบกันไปแล้วเหมือนประเทศมหาอำนาจ เลยตั้งคำถามต่อว่าทำไมเขาถึงไม่รบกัน ก็ค้นพบว่าเขาเดินทางหากันไม่ถึง พอเรารู้อย่างใดอย่างหนึ่ง มันจะต่อจิกซอว์ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ออกทางกว้างก็เป็นทางลึก ไม่ว่าแบบไหนก็มีประโยชน์หมด
- ตอนผมทำรายการ 8 Minute History ช่วงที่สนุกที่สุดไม่ใช่ตอนหาข้อมูล แต่คือช่วงที่เราได้คุยกับผู้ฟัง ซึ่งเขาก็จะเอาข้อมูลมาเสริม บางทีเราผิด เขาก็จะเสริมให้ ตรงนี้มันเป็นชุมชนที่น่ารักของคนชอบประวัติศาสตร์ด้วย เรารู้อย่างนึง อีกท่านมาเสริม อีกท่านมาบอกว่าตรงนี้มันไม่ถูก เราก็ค่อยๆ ปั้นมันออกมา ให้ความรู้มันสมบูรณ์แบบ เรื่องประวัติศาสตร์มันเป็นความรู้ที่ไม่รู้จบ
พอเราฟังคนชอบประวัติศาสตร์ เวลามีใครพูดถึงอะไรที่เป็นอดีต เมื่อไม่นานมานี้หรือห่างไกล เราก็จะตั้งคำถาม ความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์หรืออนาคต มันช่วยลับความคิดเรา
- ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น อย่างที่ผ่านมาที่มีการขายนาฬิกา Omega x Swatch แบรนด์​ Swatch ที่มีอายุน้อยกว่า Omega มาก แต่กลายเป็นแบรนด์ที่มาเป็นเจ้าของ Omega จริงๆ แล้ว Swatch สมัยเราโตขึ้นมาแปลว่า Second Watch เป็นนาฬิกาที่เกิดมาเป็นเรือนที่ 2 หลังจากนาฬิกาเรือนแพงๆ
แต่ปรากฏว่าบริษัทนี้มันใหญ่จนมันสามารถไปเทคโอเวอร์สองสมาคมนาฬิกาของสวิสต์ได้ พอเราเป็นคนชอบประวัติศาสตร์มันจะต่อให้เราเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ภาษาฝรั่งเขาเรียก curious พอเราอยากรู้อยากเห็นก็ทำให้เรามีความรู้ ยิ่งเดี๋ยวนี้เป็นยุคดิจิทัล ถ้าเป็นในอดีต อยากรู้เรื่องอะไรต้องไปห้องสมุด ไม่ก็ต้องไปคุยกับคน กว่าจะรู้เรื่อง
แต่ในยุคปัจจุบันคนชอบประวัติศาสตร์ เราไปทำการบ้านเพิ่มเติม เจอคนบ้าง เข้าเว็บไซต์ เชื่อมโยงกับคนที่รู้จริง กลายเป็นชุมชนที่มีความสนุก เชื่อว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้ทำให้เราแค่รู้ แต่ทำให้เราได้เหลาสติปัญญาของเราอย่างต่อเนื่องผ่านการตั้งคำถามใหม่ๆ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น
- ตอนนี้เราอยากรู้อะไรเราเห็นภาพเลย เมื่อก่อนเราได้ยินสงครามไคเมีย มันคือสงครามอะไร พอตอนหลังเรารู้ เราสนใจ ตอนนี้พอเจอแผนที่แล้วเราก็ต่อจิกซอว์ได้ต่อไปอย่างไม่รู้จบเลย แต่ว่าแน่นอนว่าความท้าทายของการศึกษาในประวัติศาสตร์
ในยุคนี้คือเราจะมีแหล่งข้อมูลที่บางครั้งไม่ตรงกัน
เราก็ต้องเอามาประมูลว่าอันไหนคือข้อเท็จจริง ถ้าหาข้อสรุปไม่ได้อย่างน้อยเราก็พอจะรู้ว่ามีคนถกกันเป็นสองแบบ ก็เป็นความสนุกของการเรียนประวัติศาสตร์ไปด้วย
======================
3. ข้อแนะนำในการเสพข้อมูล
======================
- อินเทอร์เน็ตเหมือนห้องสมุด จะมีข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูลทั่วไป บางทีอาจจะอยู่ในรูปของการอ่านหรือวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นหัวข้ออะไรก็ตามก็จะมีคนทำหลากหลาย เราสามารถเอาข้อมูลพวกนี้มาประมวล ส่วนใหญ่ข้อมูลจะตรงกัน เพราะประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมา
หลายอย่างมีเหตุผล มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่ในส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นที่เป็นส่วนน้อยจะมีที่เห็นไม่ตรงกันบ้าง ก็ต้องรู้จักแยกส่วนว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์หรือว่าเป็นข้อคิดเห็น
- นักประวัติศาสตร์คือคนที่ลงไปดูข้อมูลปฐมภูมิ เป็นคนที่ตั้งสมมุติฐานและสืบหาข้อมูล ไปสถานที่จริง ไปดูหลักฐานข้อมูล มีวิธีพิสูจน์ เราไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าในจักรวาลความรู้ในประเด็นเดียวกัน มีคนพูดถึงประเด็นนี้อย่างไรบ้าง
- ในศตรวรรษที่ 21 นี้จะได้เห็นการพิสูจน์ผิดถูกมาระดับหนึ่ง เช่น ประวัติของพระพุทธเจ้า เราศึกษามาตลอดแต่เราอาจจะไม่ได้ตั้งคำถามว่าท่านมีองค์จริงไหม เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมได้ไปอินเดีย ตอนนั้นมีพระอาจารย์ ว วชิรเมธี ไปด้วย ท่านก็พูดกับผมว่าสิ่งที่เราเจอนั้นถูกค้นพบโดย เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม เป็นนักสำรวจของบริษัท British East India
บุคคลคนนี้เป็นคนที่พิสูจน์ได้ว่าพระพุทธเจ้าคือบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ต่อมาพอเราสนใจประวัติศาสตร์ก็เลยมาสืบค้นเพิ่มเติม
- ฝรั่งเวลามีความสนใจเขาจะไม่ปล่อยผ่านแต่เขาจะลงไปในพื้นที่จริง แล้วดูว่าหลักฐานทางโบราณคดีเป็นยังไงบ้าง ยิ่งปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีรู้เลยว่าก้อนหินที่อยู่ในเมืองพาราณสีมันกี่ปีแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างในศตรวรรษที่ 21 ถูกพิสูจน์กันมาในระดับหนึ่งแล้วว่าสิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นการที่เรามีอินเทอร์เน็ต
มีการพิมพ์ research ก็ดี ข้อมูลต่างๆ ก็ดี เขาก็จะประมวลมา เป็นหน้าที่ของเราแล้ว เราลองประมวลว่าอันนี้เรามี A B C บางที A ดีแต่ไม่ค่อยรู้เรื่อง B ดีแต่เห็นต่าง เชื่อว่าการประมวลผลเป็นความสนุก แต่ก็จะมีประวัติศาสตร์ที่มีคนเห็นไม่ตรงกัน เพราะมันไม่ได้มีข้อเท็จจริง
- อย่างกรณีมีตอนนึงเป็นประวัติศาสตร์ของตระกูลรอธส์ไชลด์ อภิมหาเศรษฐีชาวยิว ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้คือ มีลูก 5 คน มีธุรกิจ 5 แขนง ท้ายที่สุดเหลือที่ลอนดอน บางคนก็จะเชื่อแบบนี้ มีทฤษฏีสมคบคิดว่าเขามีอำนาจเหนือธนาคารกลางสหรัฐฯ แล้วก็มีเครือข่ายที่ครองโลกได้ อีกกลุ่มก็แย้งว่ามันไม่มีหลักฐานที่ปรากฏเลย
เพราะว่าเห็นได้ชัดว่ารอธส์ไชลด์ไม่ได้มีการขยายธุรกิจไปที่อเมริกาเลย อย่างตอนเราทำรายการ เราก็จะบอกว่าเราก็ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง แต่เราประมวลมาว่าทางออกมันมี A และ B แต่แล้วแต่ท่านใดจะเชื่อแบบไหน หรือจะรอผลงานวิจัยในอนาคต ข้อสรุปของประวัติศาสตร์ก็มีหลากหลายมุม
- ที่สุดมันคือการสั่งสมประสบการณ์ การรวมรวบจักรวาลศาสตร์ พอเรามีอายุแล้วข้อมูลต่างๆ มันเริ่มผสมไปเรื่อยๆ เรายึดหลักนี้เสมอ การศึกษาประวัติศาสตร์ถ้าเรามองแต่ว่าเราดีที่สุด เป็นน้ำเต็มแก้วเราไปไหนไม่ได้ อย่างเราไม่รู้บางเรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร การที่เป็นน้ำเต็มแก้วตอนจบคือตายทุกคน
เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นน้ำครึ่งแก้วใช้หูสองข้างมากกว่าปาก ผมว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากๆ แล้วผมต้องขอบคุณทุกคนที่คุยกัน สิ่งใดไม่สมบูรณ์แบบเราเติมเต็มกันและกัน สิ่งไหนสมบูรณ์แล้วเราเกื้อกูลกันต่อยอดให้เป็นประโยชน์มากที่สุด มันคือเสน่ห์ของชุมชนประวัติศาสตร์
======================
4. ประวัติศาสตร์ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ไหม
======================
- ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ยุคใกล้ที่พึ่งเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้มีมากสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ที่ถอยไปไกลมากๆ อันนี้มีความเป็นไปได้ เช่น ล่าสุดพึ่งทำเรื่องโบราณคดี พระเจ้าแรเมซีสที่ 2 พูดถึงความหลงใหลในอารยธรรมอียิปต์ของคนยุโรป
โดยเฉพาะนโปเลียน เคยเห็นภาพนโปเลียนไปยืนที่ปิรามิด เราก็สงสัยว่าเขาไปทำไม มันทำให้ยุโรปได้รู้ว่าหลุมฝั่งศพของแรเมซีสที่ 2 ที่เขาคิดว่าจะอยู่ที่ Valley of the King ปรากฏว่าไม่ใช่พอเขาส่งนักโบราณคดีไปทีมแล้วทีมเล่า ปรากฏว่าไปอยู่ที่อื่นจากการที่มีคนเลี้ยงแพะสองคนไปหาแพะที่เข้าไปอยู่ในถ้ำ แล้วก็ไปเจอโบราณคดี ซึ่งนำไปสู่การเจอหลุมศพของแรเมซีสที่ 2 ในอีกที่หนึ่ง
เพราะฉะนั้นจะบอกว่าถ้าเป็นประวัติศาสตร์ยุคห่างไกลที่อาจจะไม่ได้มีใครบันทึกอะไรค่อนข้างเยอะ อันนี้น่าจะยังมีการเปลี่ยนแปลงได้อยู่ แต่ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ที่ได้มีการบันทึกเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนจากฝ่ายต่างๆ เราก็พอจะประมวลข้อมูลได้ เพราะมีคนทำข้อมูลปฐมภูมิ ทุติยภูมิ เอาไว้ค่อนข้างเยอะ
- ฝรั่งเป็นชนชาติที่ชอบจดบันทึกและเรียนรู้โดยไม่มีเหตุผล รู้ทุกอย่าง เขาไม่สนใจว่ารู้แล้วมีประโยชน์หรือเปล่า แต่รู้ไว้ก่อน เขาจะเก็บข้อมูลพวกนี้เอาไว้อย่างมากมายมหาศาล อย่างสหรัฐอเมริกา ก็จะมียุคที่เป็น British-America ที่ยังเป็นส่วนนึงของจักรวรรดิอังกฤษ เขาก็จะมีค่านิยมของพวกอังกฤษที่จะมีการเก็บข้อมูลจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนอเมริกันด้วย ซึ่งเขาก็เก็บจากวันนั้นสู่วันนี้แล้วก็สืบมันมาเรื่อยๆ
======================
5. จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณวิทย์มาชอบเรื่องประวัติศาสตร์
======================
- เริ่มต้นชอบประวัติศาสตร์มาจากตอนเด็กๆ ช่อง 7 จะมีฉายหนังเรื่องมังกรหยก เป็นหนังที่สนุกมาก ดูรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แล้วก็มีบุคคลสำคัญคนนึงในเรื่องชื่อว่า เจงกิสข่าน
1
ในยุคเดียวกันคือปลายยุค 70 จะมีวงดนตรีเยอรมันชื่อ เจงกิสข่าน สิ่งที่มาบรรจบกันคือเราพึ่งมารู้ว่าเจงกิสข่านมีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ เลยเริ่มมีความสนใจในประวัติศาสตร์จีน เวลาดูแล้วก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าตัวละครนี้มีตัวตนจริงไหม
- สักพักมาดูหนังจีนอีกเรื่อง ถึงยุค 80 มีหนังจีนเรื่องนึงดังมากชื่อว่า ศึกสายเลือด เป็นหนังเกี่ยวกับราชวงศ์ชิง ในหนังโฆษณาไว้อย่างดีว่าดาราชายทุกคนเสียสละมากเพราะต้องโกนหัว พวกแมนจูจะต้องโกนหัวครึ่งนึงแล้วไว้เปีย เราก็จะได้ยินองค์ชายสี่ตอนนั้นดังมาก ก็เลยยิ่งชอบคิดว่าประวัติศาสตร์จีนน่าสนใจ
- ถัดมาสักปี 2526-2527 มีหนังฟอร์มยักษ์จากจีนแผ่นดินใหญ่ชื่อ ซูสีไทเฮา เป็นเวอร์ชั่นที่รัฐบาลจีนสร้างเอง ไปถ่ายทำที่สถานที่จริง หนังเรื่องนี้มีฉากตอนที่จีนแพ้สงครามฝิ่น แล้วฝรั่งบุกมาสู้จีน ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมประวัติศาสตร์มันน่าสนใจขนาดนี้ ผมเริ่มต้นทุกอย่างมาจากหนังจีน ประวัติศาสตร์จีนมาก่อน
แล้วเราก็ปฏิเสธ ไม่สนใจฝรั่งเลย ฝรั่งถ้ามีความสนใจบ้างก็จะมีที่เราจบมาจากโรงเรียนคาทอลิก เรื่องที่จะดูตลอดคือพระเยซูแห่งนาซาเรธ พระเยซูถูกคนโรมันตรึงกางเขน เราสงสัยว่าคนโรมันที่ตรึงกางเขนพระเยซู แต่ตอนหลังกลายเป็นคริสต์แบบนี้หมายความว่าอะไร เรามีคำถามอยู่ว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น พอโตมาเริ่มสงสัยว่าชาวโรมันหายไปไหนหมด มันเป็นประเทศอิตาลีหรอกเหรอ
แล้วพอเราเริ่มมาชอบฟุตบอล เริ่มต่อจิกซอว์กันโดยที่มีคำถามแต่ไม่มีคำตอบ พอโตขึ้นมาไปเรียนต่างประเทศ มีหนังเรื่องนึงที่ทำให้ชอบประวัติศาสตร์มากและก็เป็นตอนที่หนึ่งของ 8 Minute History คือเรื่องสงครามฝิ่น สร้างในปี 1997 สร้างขึ้นเพื่อให้คนจีนตระหนักถึงความสำคัญว่าทำไมถึงจะต้องได้ฮ่องกงกลับไป เพราะว่าตอนนั้นคือตอนที่จีนอ่อนแอถึงจะขีดสุด แล้วอังกฤษบุกมาและชนะสงครามฝิ่นได้
พอมาดูตอนนั้นถึงได้รู้ว่านั้นเป็นครั้งแรกๆบนโลกนี้ที่ประเทศที่เป็นมหาอำนาจใหญ่ที่สุดของโลกตะวันออกกับตะวันตกมาเจอกัน และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีน เราก็เลยมานั่งคิดว่าโลกฝรั่งก็น่าสนใจ ทำไมเขาถึงได้ชนะประเทศที่เป็นพี่ใหญ่ของเอเชีย เพราะฉะนั้นจากนั้นเลยเป็นความสนใจของเราในการศึกษาเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากเดิมสนใจแต่จีน เริ่มมาศึกษาเรื่องต่างประเทศ หลังจากนั้นก็เริ่มเก็บหนังสือประวัติศาสตร์บ้าง
- มีเล่มนึงที่เป็นการ์ตูนประวัติศาสตร์ ตอนจบมีคำบรรยายของนักประวัติศาสตร์จีนที่ไปบรรยายที่มหาลัย Oxford ฟัง ในนั้นเขียนว่า ประเทศจีนแต่เดิมมี GDP สูงที่สุดในโลก จนปี 1842 ก็คือปีสงครามฝิ่น ปีนั้นจีนแพ้สงครามฝิ่นต่ออังกฤษ สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ก็เลยกลายเป็นว่าอังกฤษมี GDP สูงที่สุดในโลก น่าสนใจมากตอนโลกตะวันออกเจอตะวันตก ซึ่งคนเขียนคำบรรยายนั้นก็คือ กิมหยง ซึ่งคือคนประพันธ์มังกรหยก
เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์เพราะกิมหยง พื้นฐานแกเป็นนักประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นเลยรู้สึกว่าเราต้องศึกษาให้มันกว้างไกลกว่าเดิม พอเราเริ่มศึกษาจากจิกซอว์ตัวแรกคือ มังกรหยก เจงกิสข่าน แตกไปเป็น มาร์โค โปโล ต่อไปเป็นนครรัฐเวนิส นครรัฐเจนัว พอสนใจเรื่องของอังกฤษเราก็จะดูต่อว่าสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ปี 1860
สมัยพระเจ้าเสียนเฟิง ต่อมาเรื่อยๆ จากนั้นกลายเป็นคอมมิวนิสต์ได้ไง ก็จะดูหนังเรื่องต่างๆ พอต่อจิกซอว์ได้ เริ่มต้นหาหนังสืออ่าน ต่อไปทีละชิ้น เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ที่เราชอบมากๆ ในทุกๆ อย่าง
- เริ่มชอบเรื่องประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อนทำรายการ 8 Minute History แต่ตอนที่เริ่มชอบตอนนั้นก็อายุ 30 กว่าแล้ว แต่ก่อนเป็นคนที่ไม่มีความรู้รอบตัวเลย เรียนหนังสืออย่างเดียว ตอนนั้นเราก็เชื่อเหมือนหลายๆ คนว่าทำไมต้องเรียนเรื่องอดีตด้วย ไปดูข้างหน้าดีกว่าไหม เป็นช่วงวัฒธรรมคอมพิวเตอร์ โลกนี้จะไปถึงไหนกันแล้ว ยุคนั้นเริ่มเปลี่ยน อัลพาเน็ตเป็นอินเทอร์เน็ต
1
จำแม่นเลยว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ ไปต่างประเทศแล้วก็เจอศิษย์เก่าๆ เขาบอกเราว่าเราอยู่อังกฤษทั้งที ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยนะ ศึกษาวัฒนธรรมเขาด้วยนะว่ามีอะไรบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ดูฟุตบอล โดนเตือน ตอนนั้นก็โกรธว่าทำไมอาจารย์ไม่เข้าใจโลกเลย หัวเก่าคร่ำครึ พอโตมาพักหนึ่งผมโทรศัพท์ไปหาอาจารย์บอกว่าเข้าใจแล้วทำไมวันนั้นอาจารย์ถึงพูดกับผมแบบนั้น
1
ผมตื่นสายไปสิบกว่าปี อาจารย์แกหัวเราะและพูดว่า ไม่เป็นไร สนใจช้าดีกว่าไม่สนใจเลย ท่านนั้นคือหม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล เป็นอาจารย์ที่จุดประกาย
======================
6. ทำไมเราถึงควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์
======================
- ตึกก็ต้องมีฐานราก ไม่มีอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้อนาคตแต่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ เหมือนกับเราเห็นตึกสูงแต่มันไม่มีฐานราก ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้มันจะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกใบนี้แบบมีมิติมากขึ้น อย่างตอนเราทำรายการ Morning Wealth เรื่องอเมริกาว่ามีความมั่งคั่งสูงสุด อเมริกาพิมพ์แบงค์ได้เอง ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ ทุกอย่างมันมีเหตุผลว่าแต่เดิมโลกเราใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิง
จุดพลิกผันคืออะไรที่ทำให้ดอลลาร์ขึ้นมาแข็งแกร่งที่สุด มันมีวิวัฒนาการของมัน เหมือนแม้กระทั่งว่าทำไมทั่วโลกต้องซื้อน้ำมันด้วยดอลลาร์เป็นหลัก ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็โผล่มา แต่มันเป็นข้อตกลงระหว่างอเมริกากับโอเปค ทุกอย่างมีเหตุมีผลของมัน พอเรารู้แล้วคิดว่าการติดตามข่าวสนุกขึ้น ดูมีเหตุมีผลขึ้น
ทำให้เราได้รู้ว่าการพยายามของจีนที่พยายามจะลดทอนอิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งหมดทำให้เราสนุก ตอนนี้ก็สนใจเกือบหมด ประวัติศาสตร์ทุกๆ ด้านมีเสน่ห์ของตัวเอง ศึกษาไปเหอะ ใครเก่งเรื่องไหน เราพูดคุยกันก็จะตกผลึกเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจทั้งหมด
- พอเรารู้ประวัติศาสตร์แล้วมันจะทำให้เราสนุกและสามารถคิดต่อได้ อย่างเช่นการไปเที่ยวแล้วไปดูสถาปัตยกรรม สมมุติไปแต่ละที่ ผมเชื่อว่าคนเราจะเก็บข้อมูลได้ไม่เท่ากัน เพราะว่าความสนใจของเราจะไม่เหมือนกัน อย่างผมมีความสนใจเรื่องวัฒนธรรมโบราณ พวกโรมัน เราไปเที่ยวประเทศตุรกีที่เราไม่เคยรู้เลยว่าเป็นอู่วัฒนธรรม พอเราไปแต่ละอย่างที่เขาพูดมา
ถ้าเราสนใจ สิ่งที่แสดงเป็นเอกลักษณ์ว่านี้คือวัฒนธรรมโรมันที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ไปดูสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างอะไรที่เป็นโรมัน โรมันจะประกาศศักดาของตัวเอง สิ่งปลูกสร้างของเขาทั้งหมดต้องสร้างด้วยหินอ่อน ยุคก่อนคือหินทราย พอเราเห็นหินอ่อนปุ๊บเราก็จะเข้าใจว่ามันแสดงถึงอะไร แล้วไปที่วิหารฮาเกียยโซเฟีย
คนที่เป็นไกด์บอกว่าสิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมแต่คือการส่งน้ำ วิหารนี้อยู่บนยอดเขา คิดดูว่าโรมันใช้วิธีอะไรในการส่งน้ำจากที่ต่ำไปที่สูง แล้วเขาก็ให้ดูว่าสมัยก่อนระบบการปั๊มน้ำใช้กำลังมนุษย์ ทำให้เรารู้ว่าจากใช้แรงคนแล้วมาใช้เครื่องจักร มันต่อยอดความรู้ไปเรื่อยๆ
แล้วทำให้พอเราไปศึกษาสิ่งใดก็ตาม เราก็จะรู้สึกว่าเราจะมีองค์ความรู้ต่อยอดไปเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งมันจะน่าสนใจไปอีกมหาศาล ไม่ทำให้จินตนาการหยุดอยู่แค่นั้น แต่จะต่อยอดกับเราไปเรื่อยๆ
- ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่มันคือสุนทรียภาพด้วย อย่างตอนผมเคยไปนครวัดนครธม มีบอร์ดที่แปะข้างๆ เขาเทียบให้เราดูว่าวัฒนธรรมบาเยิร์นก็คือขอม ตอนเริ่มก่อสร้างคือตรงกับตอนสร้างมหาวิหารนอเทรอดาม พอเปรียบเทียบแล้วรู้สึกว่าเราเห็นภาพชัดเจนเลยว่าทางฝรั่งก็เหนือกว่า พอมาดูกรุงเทพฯ ก็มาตั้งคำถามว่าตอนก่อตั้งกรุงเทพตรงกับฝรั่งช่วงไหน พ.ศ. 2325 ตรงกับ ค.ศ. 1782
แสดงว่าอยู่ตรงกลางระหว่างการปฏิวัติอเมริกากับการปฏิวัติฝรั่งเศส มันมหัศจรรย์มาก เราเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ได้ตลอดเวลา พอเราเทียบแบบนี้จินตนาการเราจะไปไกล เราก็จะอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น เราก็จะเข้าใจว่าสมัยอยุธยา พวกตามในหนัง ทำไมเดี๋ยวมีฝรั่งเศส มีโปรตุเกส พอไปเทียบก็จะเห็นภาพ ประวัติศาสตร์มันทำให้เรามีระบบ กระตุ้นความคิด
======================
7. ประวัติศาสตร์ไทยช่วงไหนที่ชอบเป็นพิเศษ
======================
- ผมสนใจประวัติศาสตร์ไทยตอนยุคที่ฝรั่งเข้ามา มีคนบอกว่าเมืองไทยเป็น system integrator ไม่ว่าจะเป็นกี่ปีกี่ชาติ เราจะเป็นคนที่ถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจหลายๆ ชาติ เสมอ ดูสมัยอยุธยามีทั้งโปรตุเกส ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เราเป็นประเทศ international โดยธรรมชาติของเรา
มาดูยุคปัจจุบัน เราเป็นประเทศที่เก่งมาก อเมริกามาลงทุน ญี่ปุ่นก็มาลงทุน จีนก็มาทำการค้าขายกับเรา รัสเซียก็มาอยู่บ้านเรา จะมีสักกี่ประเทศที่ใครๆ เขาก็มาบ้านเราหมด ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจ
- ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง สมัยรัชกาลที่ 4-5 หลังจากที่ยุโรปจบสงครามนโปเลียน ยุโรปไม่รบกันเองแล้ว แต่ส่งเรือรบไปล่าอาณานิคม ต้องบอกว่าบ้านเราเก่งมากที่ ณ เวลานั้นเราสามารถประคองตัวจากมหาอำนาจสองชาติที่พร้อมจะเขมือบเรา เรามีความสนใจอิทธิพลของต่างชาติที่เข้ามาในช่วงเวลานั้น มีทำไว้เป็นตอนใน 8 Minute History ด้วย
- ที่ชอบทำเวลาศึกษาประวัติศาสตร์ไทยคือ ดูว่ามันตรงกับประวัติศาสตร์แต่ละชาติในยุคไหนบ้าง และตัวเราในบริบทโลกมันเป็นยังไง มองว่าเป็นความสนุกและมีเสน่ห์เวลาที่เราศึกษา อย่างนโปเลียนจะเป็นสมัยปลายรัชกาลที่ 1 เข้า 2 พอรัชกาลที่ 3 สงครามนโปเลียนจบแล้ว ฝรั่งก็จะเริ่มมาล่าอาณานิคม ก็จะเห็นว่าฝรั่งก็จะเริ่มเข้ามาสมัย รัชกาลที่ 3-5
ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 5 ก็คือปลายรัชสมัยของวิคตอเรียไปแล้ว เราก็จะเห็นภาพต่อเนื่องกันมาที่น่าสนใจ ถ้าดูปีที่ครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 คือปี 1911 จะเป็นปีที่ตรงกับปีสุดท้ายของราชวงศ์ชิง มีความหมายว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงโลกก็จะมีเยอะขึ้น ถัดมาก็จะเป็นปีแห่งการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ เราจะเห็นพลวัตของโลกกับของไทยต่อเนื่องกันมา ทำให้เราดูประวัติศาสตร์ไทยได้สนุกขึ้นอีกเยอะ รู้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้
======================
8. ทำอย่างไรถึงเป็นคนที่เล่าเรื่องได้สนุก
======================
- เทคนิคหลักๆ ผมได้มาจากอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ท่านเป็นสื่อมวลชนชั้นครู เคยเจอท่านที่งานแล้วท่านเล่าว่าเวลาคนไทยทำสารคดี ชอบทำแบบเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือเรียงตามลำดับเวลา ถ้าเป็นหนังฝรั่ง เขาจะเอาจุดที่เร้าใจที่สุดเป็นจุดแรกเสมอ
- ยกตัวอย่างหนังเรื่อง Saving Private Ryan ถ้าเป็นหนังทั่วไปอาจจะเริ่มจากครอบครัวมีพี่น้องห้าคน สี่คนไปสงครามแล้วตาย ไรอันถูกส่งไปยังกองบัญชาการ จากนั้นพ่อแม่รู้สึกเสียใจที่เสียลูกชายสี่คนไปแล้ว เลยให้จ่ามิลเลอร์ไปตามลูกชายกลับ
1
แต่ฉากที่หนึ่งในหนังเรื่องนี้เปิดมากลายเป็นคือไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เป็นนาวิกโยธินลงไปสู้กับนาซี คนตายกันเพียบ​ โดยที่ยังไม่รู้ว่าไรอันคือใคร ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พระเอกคือจ่ามิลเลอร์เป็นใครมาจากไหน ทำอะไร แต่ดึงอารมณ์ร่วมคนก่อน ถ้าเราทำตามลำดับเวลามันอาจจะไม่สนุก
- อย่างที่เราทำรายการล่าสุด เล่าเรื่อง อลัน ทัวริง ถ้าเริ่มด้วยการเล่าประวัติที่มา เรียนที่ไหน ทำงานอะไร คนอาจจะเบื่อ แต่เราจะเริ่มด้วยว่าโลกนี้มีแอปเปิ้ลที่เปลี่ยนโลกได้อยู่สี่ลูก ลูกที่หนึ่งคือแอปเปิ้ลของอดัม ลูกที่สองคือแอปเปิ้ลของสโนไวท์ ลูกที่สามคือแอปเปิ้ลของนิวตัน ลูกที่สี่ปัจจุบันคือแอปเปิ้ลของ สตีฟ จ๊อบส์
แล้วให้สังเกตว่าว่าโลโก้แอปเปิ้ลรุ่นที่หนึ่งของ สตีฟ จ๊อบส์ จะเป็นสีรุ้ง เลยมีคนไปถาม สตีฟ จ๊อบ ว่าเขาทำแอปเปิ้ลเป็นสีรุ้งเพราะระลึกถึงอลัน ทัวริงหรือเปล่า เพราะ อลัน ทัวริง เป็น homosexual และเขาตายเพราะกินแอปเปิ้ลที่เคลือบไซยาไนด์
เพราะฉะนั้นผมจะเริ่มเล่าเรื่องของ อลัน ทัวริง ด้วยแอปเปิ้ลของ สตีฟ จ๊อบส์ คนก็จะสนใจว่านักวิทยาศาสตร์ที่เป็น homosexual เขาทำอะไร จากนั้นเราจึงเล่าต่อว่าเขาถอดรหัสเครื่อง enigma ด้วยวิธีการอะไร
- อย่างตอนนี้ทำประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ คนฟังก็จะคิดว่าราชวงศ์นี้จะเกี่ยวอะไรกับเขา แต่ถ้าเราเริ่มด้วยคำว่า “โอ้ว พระเจ้าจอร์จ” เห้ย เราได้ยินคำนี้บ่อย เราก็จะเปิดด้วยว่า พระเจ้าจอร์จ มีทั้งหมดกี่พระองค์ เพราะพวกนี้เขาจะมีชอบมี running number ไม่เหมือนจักรพรรดิจีนที่จะมีชื่อรัชสมัยที่ต่างกัน แต่ของฝรั่งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีอยู่แปดองค์ พระเจ้าหลุยส์มีสิบหกองค์ พระเจ้าจอร์จมีหกองค์
- เราควรเริ่มตันด้วยอะไรที่คิดว่าคนน่าจะสนใจ แล้วค่อยตบเรื่องเข้ามา เพราะฉะนั้นการลำดับเรื่องของเหตุการณ์ว่าอันไหนจะเล่าก่อนหรือเล่าหลัง ไม่ต้องเล่าแบบเรียงลำดับ มันก็จะสนุกขึ้น มีโมเมนตัม เอาสิ่งที่คนอยากรู้ที่สุดคือขึ้นมาก่อน
- นอกจากนี้เราก็จะดูว่าคนที่ติดตามรายการของเรา เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ข้อมูลเราสมบูรณ์แบบไหม ควรเติมตรงไหน มีแนวไหนที่คิดว่าดีกว่า เราก็ใส่เข้าไป
======================
9. ฝากส่งท้าย
======================
- ผมทำรายการชื่อ 8 Minute History เป็นพอดแคสต์รับฟังได้หลายๆ ช่องทาง มีสองตอนที่คนดูฟังน้อย แต่ผมอยากให้ลองไปฟังดูมากๆ คือตอน “ประวัติศาสตร์การปลดแอกของแอฟริกาใต้จากนโยบายการเหยียดสีผิว” ซึ่งเป็นเรื่องของความปรองดอง คนผิวขาวและผิวสีที่เคยเกลียดกันมากแต่ทำไมเข้าถึงรวมกันได้ และเรื่องที่สองคือเรื่อง “การปฏิวัติในอิหร่าน” ซึ่งไม่ไกลตัวเราเลย อยากให้ลองไปฟังดู
- นอกจากนี้ยังมีทำรายการการเงินตอนเช้าชื่อ Morning Wealth ทางช่อง THE STANDARD WEALTH ใครสนใจการลงทุน ก็เชิญชวน
- เรื่องประวัติศาสตร์มันบังคับให้ชอบกันไม่ได้ ที่สุดแล้วใครชอบอะไร รู้สึกสนุกกับจุดไหน ให้เริ่มต้นจากตรงนั้น ชอบชาติไหนไปเลย อินเดีย ตุรกี จีน สุดท้ายมันจะเชื่อมโยงเป็นก้อนเดียวกัน แล้วจะทำให้แต่ละคนมีความถนัดคนละด้าน มองคนละมุม แล้วก็จะผสมผสานกันได้ในที่สุด
- ขอฝากสุภาษิตอาหรับว่า ธนูจะยิงไปได้ไกล ต้องง้างถอยหลังไปให้ไกลที่สุด อยากจะเดินไปข้างหน้าให้ได้ไกล ให้ยั่งยืน เราก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ให้ลึก ถอยหลังกลับไป แล้วเวลามองอะไรก็ตาม จะมองเป็นมิติที่ครบและสมบูรณ์แบบมากกว่าเดิม
======================
Speaker:
ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
- โฮสต์รายการ 8 Minutes History (The Standard Podcast)
- ผู้ดำเนินรายการ Morning Wealth (THE STANDARD WEALTH)
======================
Moderator: พี พนิต P Panit
1
======================
Date: 31 March 2022 (21:00-22:40)
#ประวัติศาสตร์​ #History #8MinuteHistory #TheStandardPodcast #WhyItMatters #วันนี้สรุปมา #todayinoteto
โฆษณา