29 ก.ย. 2022 เวลา 06:20 • การศึกษา
จุดจบของผู้ก่อเวร
ในดวงใจที่ใสบริสุทธ์ของเหล่าชน ผู้มีความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายในวัฏสงสาร เป็นต้นทางแห่งความสงบสุขของโลก ความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากดวงใจของผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เมื่อใจหลาย ๆ ดวงมารวมกันนี้ ก็จะเชื่อมประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจ ให้หันมาสมัครสมานสามัคคีกัน
1
จากความสับสนวุ่นวาย ก็กลับคืนมาสู่ความสงบนิ่ง จากความเร่าร้อนก็กลายมาเป็นความเยือกเย็น กระแสแห่งความปรารถนาดีนี้จะเป็นคลื่นแห่งความสงบสุข ที่ทำให้มวลมนุษยชาติเกิดการปรองดองกัน ยิ่งกระแสแห่งความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้นมากเพียงใด ก็จะช่วยให้โลกสงบเย็นได้เร็วยิ่งขึ้นเพียงนั้น
การประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นหลักสำคัญในการสร้างสันติสุขของโลก เพราะใจที่สงบสุขใสบริสุทธิ์ จะทำให้อากาสโลก ขันธโลก สัตวโลกบริสุทธิ์ขึ้น ความบริสุทธิ์จะทำให้สันติสุขบังเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ดังนั้น ควรหมั่นชำระกาย วาจา ใจให้บริสุทธ์ผ่องใสกันทุก ๆ วัน
มีพระบาลีที่ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า
 
“น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน
 
ในกาลไหน ๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรทั้งหลายย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นั่นเป็นธรรมเก่า”
ในโลกปัจจุบันนี้ที่เกิดกระแสแห่งการแก่งแย่งชิงดีกันในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้เกิดการแข่งขันและขัดแย้งกันไปในตัว ก่อให้เกิดความวุ่นวายมากมาย เมื่อมีการเมื่อมีการแข่งขันกัน ถ้าเกิดความพ่ายแพ้ในการแข่งขัน ผู้พ่ายแพ้ก็ย่อมจะก่อเวร แก้กันไปแก้กันมา ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ทำให้การอยู่ร่วมกันมีปัญหาขัดแย้งมาทุกยุคทุกสมัย
หากว่าต่างฝ่ายต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ความวุ่นวายทั้งหลายในโลกนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น หากรู้จักการให้อภัยกัน มีจิตที่ปรารถนาดีต่อกัน จะมีแต่ความสุขความสบายใจ
ลองสังเกตดูใจของเราก็ได้ หากเรามีจิตใจที่นุ่มนวล เปี่ยมด้วยอภัยทานแล้ว สภาวะจิตใจของเราจะโปร่งเบาสบายทีเดียว จะไม่รู้สึกว่ามีทุกข์ใจอะไร ความทุกข์ที่คนอื่นมองเห็นเท่าภูเขา แต่สำหรับเราแล้วเป็นเหมือนเพียงอากาศธาตุ ว่างเปล่าไม่มีอะไร เพราะสุขหรือทุกข์นั้นอยู่ที่ใจของเราเองต่างหาก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เราเป็นทุกข์เพราะการไปก่อเวรกับใคร พระองค์ทรงสอนว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เพราะหากยังมีการจองเวรผูกเวรกันอยู่ ก็จะไม่สงบสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ผูกใจเจ็บก็จะทุรนทุราย ฝ่ายที่ถูกทำลายก็จะหวาดระแวงคอยหาทางแก้แค้นอยู่รํ่าไป ความกรุณาในสรรพสัตว์ทั้งหลายคือทางสิ้นสุดของเวร
แต่ทว่าหากปราศจากธรรมะในใจแล้ว ความกรุณาก็ไม่อาจบังเกิดขึ้นได้ แล้วยิ่งจะทำให้เป็นทางมาแห่งเวรมากขึ้น เหมือนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล
ครั้งนั้น กระแสข่าวคราวของพระเทวทัตแรงมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด มักจะได้ยินการจับกลุ่มสนทนากันถึงความไม่ดีของพระเทวทัต บุคคลคนเดียวแต่ถูกพูดถึงในหลายแง่หลายมุม
มีอยู่วันหนึ่ง เรื่องของพระเทวทัตได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเช่นเดิมว่า "ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตนั้น เป็นผู้ที่หยาบช้า กักขฬะ ไม่ควรที่ใครจะเอาเยี่ยงอย่าง พระเทวทัตไม่มีแม้แต่ความเมตตาในหมู่สัตว์เลย" ในขณะที่หมู่ภิกษุกำลังสนทนากันอยู่นั้น
พระบรมศาสดาเสด็จมาถึง ตรัสถามว่า "พวกเธอสนทนาอะไรกันอยู่หรือ" เมื่อพระภิกษุกราบทูลเรื่องที่สนทนา พระองค์ก็ตรัสว่า "เทวทัตนั้น ไม่ใช่จะเป็นคนไม่มีความเมตตากรุณาเฉพาะในภพชาติเท่านั้น แม้ในอดีตเธอก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน" แล้วพระองค์ก็ตรัสเล่าว่า
มีอยู่สมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพญาช้างในป่าหิมพานต์ เมื่อเจริญวัยแล้ว เป็นช้างที่มีรูปร่างสวยงาม ร่างกายก็สูงใหญ่ดูน่าเลื่อมใส เป็นจ่าโขลงมีช้างแปดหมื่นเชือกเป็นบริวาร ได้อาศัยหากินอยู่ที่ป่าหิมพานต์
ครั้งนั้นได้มีนางนกไส้ตัวหนึ่ง ออกไข่ไว้ในที่ที่โขลงช้างเที่ยวหากินพอดี ต่อมาลูกนกเหล่านั้นก็ออกจากกระเปาะไข่ ปีกยังไม่ทันงอกไม่สามารถจะบินได้ พระมหาสัตว์พร้อมทั้งบริวารเดินทางหากินมาถึงที่นั้น นางนกไส้เห็นอย่างนั้น ด้วยความห่วงใยลูก จึงได้ประคองปีกทั้งสองข้างเข้าด้วยกันข้างหน้าพระโพธิสัตว์ กล่าวอ้อนวอนว่า "ข้าพเจ้าขอความเมตตาท่านพญาช้างผู้เป็นเจ้าโขลง อย่าได้ฆ่าลูกน้อยของข้าเลย"
พระโพธิสัตว์ได้ฟังอย่างนั้นแล้วกล่าวปลอบประโลมว่า "นางนกไส้เอ๋ย เจ้าอย่าเสียใจไปเลย เราจะรักษาบุตรน้อยของเจ้าเอง" แล้วยืนคร่อมอยู่เหนือลูกนกเหล่านั้น ยืนสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งช้างทั้งแปดหมื่นเชือกเดินผ่านไป
พระโพธิสัตว์จึงเรียกนางนกไส้มากล่าวว่า "ดูก่อนนางนกไส้ มีช้างอยู่เชือกหนึ่งมักจะเที่ยวไปตัวเดียว จะมาข้างหลังเรา ช้างตัวนั้นไม่เชื่อฟังเราเลย เมื่อช้างเชือกนั้นมาถึง เจ้าก็พึงอ้อนวอนช้างนั้น อย่าให้ทำร้ายลูกเจ้าก็แล้วกัน"
เมื่อกล่าวจบ พญาช้างโพธิสัตว์ก็เดินหลีกไป เมื่อพญาช้างคล้อยหลังไปได้สักพักหนึ่ง ช้างเชือกที่กล่าวถึงก็เดินหากินมาถึงบริเวณนั้น นางนกไส้เห็นก็ได้เข้าไปอ้อนวอนว่า "ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านพญาช้าง ผู้เที่ยวไปแต่ผู้เดียว ขอท่านอย่าได้เหยียบลูกน้อยของข้าพเจ้าเลย ลูก ๆ ของข้าพเจ้ายังเล็กอยู่"
เจ้าช้างดุร้ายเชือกนั้น เมื่อได้ยินเสียงอ้อนวอน แทนที่จะเกิดความเห็นอกเห็นใจ กลับพูดขึ้นมาด้วยอาการที่ฉุนเฉียวว่า "นางนกไส้ เราจะฆ่าลูกเจ้าเสีย ตัวเจ้าก็เล็ก ๆ จะทำอะไรเราได้ เราจะขยี้นกไส้อย่างเจ้าตั้งแสนให้แหลกละเอียดด้วยเท้าข้างซ้ายของเรานี่แหละ"
ด้วยอุปนิสัยที่ไม่มีความเมตตากรุณา ช้างจอมเกเรเชือกนั้นครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ใช้เท้าขยี้ลูกนกทั้งหลายจนแหลกละเอียดตาย แล้วก็บันลือเสียงด้วยความพึงพอใจ จากนั้นก็เดินหลีกไป
เมื่อเห็นช้างเกเรทำอย่างนั้น นางนกไส้ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีทางสู้ และไม่มีหนทางที่จะช่วยเหลือลูกน้อยของตนเอง ทำได้แต่เพียงจับอยู่บนกิ่งไม้มองดูช้างพาลทำร้ายลูกของตนเองด้วยความรันทดใจ พร้อมกับกล่าวว่า "เจ้าช้างเกเร เจ้าจงบันลือไปก่อนเถิด เจ้าจะเห็นกำลังของเรา"
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ด้วยความเคียดแค้นจึงพยายามเสาะหาหนทางแก้แค้น นางนกไส้ได้เข้าไปรับใช้กาตัวหนึ่งอยู่สองสามวันเท่านั้น การู้สึกพอใจ ได้ถามถึงวัตถุประสงค์ที่เข้ามารับใช้ นางนกไส้ได้ช่องจึงบอกว่า ที่ฉันเข้ามานี้ไม่ต้องการอะไรมากมายเลย
อยากจะให้ท่านเอาจะงอยปากจิกเข้าที่ตาทั้งสองข้างของช้างเชือกหนึ่งให้แตก กาก็รับคำ ต่อจากนั้น นางนกไส้ได้เข้าไปหาแมลงวัน รับใช้จนแมลงวันพอใจแล้วก็บอกว่า เวลาที่ช้างตาแตกแล้ว ขอให้ท่านช่วยหยอดไข่ลงนัยน์ตาทั้งสองข้างของช้างเชือกนั้นด้วย แมลงวันก็รับคำ
หลังจากนั้น นางนกได้เข้าไปหากบตัวหนึ่ง รับใช้อยู่จนกบพอใจแล้วขอร้องกบว่า เมื่อท่านเห็นช้างตาบอดเที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม ในกาลนั้น ท่านพึงขึ้นไปบนที่ยอดเขาส่งเสียงร้อง เมื่อช้างขึ้นไปที่ยอดเขา ขอให้ท่านลงไปส่งเสียงร้องที่หุบเหว กบฟังอย่างนั้นก็รับคำว่า "ได้ไม่มีปัญหา"
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อได้จังหวะ กาตัวนั้นซึ่งรอคอยโอกาสมาหลายวัน เห็นช้างเชือกนั้นเดินผ่านมา ก็บินโฉบเอาจะงอยปากจิกดวงตาทั้งสองข้างของช้างตัวนั้น ดวงตาทั้งสองได้แตกไป ช้างเกเรได้รับทุกข์ทรมานมาก
ต่อมาแมลงวันที่รอเวลาเหมือนกันก็หยอดไข่ลงไปที่นัยน์ตาของช้าง เมื่อไข่กลายเป็นหนอน ช้างถูกหนอนชอนไชไปมา ได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ในยามที่รู้สึกกระหายน้ำ กบตัวนั้นเห็นท่าทางที่กระหายน้ำของช้าง ก็ขึ้นไปส่งเสียงร้องบนยอดเขา
ช้างเข้าใจผิดคิดว่า บนเขามีสระน้ำ เพราะได้ยินเสียงกบร้อง จากนั้นกบก็ลงมาส่งเสียงร้องที่ปากเหว ช้างก็บ่ายหน้าเดินไปทางปากเหว แต่เนื่องจากมองไม่เห็นจึงได้ลื่นและพลัดตกลงไปในหุบเหวเสียชีวิตตรงที่นั้น นางนกไส้เมื่อรู้ว่าช้างพาลตัวนั้นตายแล้ว ก็ร่าเริงยินดีตามประสา แล้วก็ไปตามยถากรรมของตน
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเรื่องนี้จบแล้ว พระองค์จึงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าเวร ไม่ควรทำกับใคร ๆ สัตว์ทั้งสี่จำพวกร่วมมือกัน ยังทำให้ช้างผู้ที่มีกำลังมาก ต้องถึงแก่ความตายได้ พวกเธอจงดู นางนกไส้ กา กบ และแมลงวัน สัตว์ทั้ง ๔ ได้ร่วมใจกันจึงฆ่าช้างได้
ท่านทั้งหลายจงเห็นคติแห่งเวรของผู้มีเวรทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกท่านทั้งหลาย อย่าพึงกระทำเวรกับใคร ๆ แม้ผู้ที่ไม่เป็นที่รักก็ตาม” ช้างเกเรที่ชอบเที่ยวไปเพียงเชือกเดียว และไม่มีความกรุณานั้น คือพระเทวทัต ส่วนช้างจ่าโขลงคือเราตถาคตเอง
ดังนั้น ขอจงอย่าก่อเวรกันเลย เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะนำทุกข์นำโทษมาให้ จุดจบของผู้ที่ก่อเวรก็คือความทุกข์ทรมานแสนสาหัส หัวใจที่มีความปรารถนาดีต่อสรรพชีวิตทั้งหลายเท่านั้น ที่จะทำให้หมู่สัตว์อยู่เย็นเป็นสุข คือจะต้องมีหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์
หัวใจอย่างนี้ที่โลกกำลังต้องการ เพราะใจที่ประกอบด้วยความเมตตากรุณาจะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่โลกได้ การก่อเวรก่อกรรมทั้งหลายจะได้เจือจางหายไปในที่สุด ถ้าไปก่อเวรจะทำให้เราพบจุดจบเหมือนผู้ก่อเวรดังเช่นพระเทวทัต
เราต้องหมั่นฝึกฝนใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา และตั้งจิตที่ประกอบด้วยเมตตาธรรมต่อกัน ช่วยกันทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนชาวโลกให้มาทำความดี ให้ชาวโลกหันมาประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้ กระแสแห่งความบริสุทธิ์ ความรักความปรารถนาดีจะได้แผ่ขยายไปขจัดกระแสที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งหลายให้มลายหายไป หากทุก ๆ ท่านช่วยกันทำได้อย่างนี้ ในไม่ช้าโลกเราจะพบกับสันติสุขที่แท้จริงได้อย่างแน่นอน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๑๗๒ – ๑๘๐
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๕๘ หน้า ๗๕๘
1
โฆษณา