2 ก.ย. 2022 เวลา 09:38 • การศึกษา
กรรมของการรังแกสัตว์
ในการสร้างบารมีกันเป็นทีมใหญ่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมนั้น จำเป็นต้องอาศัยกำลังบุญบารมีมาก ๆ คือต้องมีบุญใหญ่และร่วมทำพร้อมกันไปเป็นทีม โดยไม่มีใครน้อยหน้า ไม่มีใครลํ้าหน้า
แต่ว่าเป็นการสร้างบารมีกันไปอย่างพร้อมหน้า ต้องรู้จักสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์ มุ่งอุทิศตนให้กับงานสร้างบารมี ทำหน้าที่ของผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรอย่างเต็มที่ เพื่อขยายประทีปแห่งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปสู่ดวงใจของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย
การฝึกฝนอบรมตนเองให้สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน และเป็นต้นแบบต้นบุญให้กับชาวโลก เป็นสิ่งสำคัญของการดำรงตนเป็นผู้นำบุญ โดยเฉพาะการฝึกฝนใจให้ใสสะอาด บริสุทธิ์ หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกาย เพื่อให้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งที่แท้จริงของตัวเองให้ได้เสียก่อน
มีเนื้อความที่กล่าวเอาไว้ใน ฐานะสูตร ว่า...
“สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง ใครทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น“
เรื่องของกฎแห่งกรรมเป็นกฎสากล ที่มีความเที่ยงธรรมที่สุด สิ่งใดก็ตามที่เราได้กระทำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล สักวันหนึ่งต้องส่งผลให้เราอย่างแน่นอน ความสุขหรือความทุกข์ที่เราได้รับในปัจจุบันชาตินี้ ล้วนเป็นผลมาจากกรรมที่เราเคยกระทำเอาไว้ในอดีตทั้งสิ้น
ผู้ที่สามารถแสดงเรื่องนี้ให้กับเราได้ดีที่สุด มีเพียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ และผู้มีรู้มีญาณเท่านั้น เพราะท่านเหล่านั้นสามารถระลึกชาติได้ มีอนาคตังสญาณ รู้กระทั่งอนาคตว่า กรรมที่เราประกอบเหตุเอาไว้นี้ จะส่งผลเป็นอย่างไรต่อไป
ผลของการกระทำที่ถูกแสดงออกทั้งทางกาย วาจา ใจนี้ ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ง่าย ๆ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดซับซ้อน เป็นสิ่งที่พัวพันกันมาข้ามภพข้ามชาติ จะพิสูจน์กันตามหลักวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ยังทำไม่ได้ เหมือนดังเช่นปัญหาที่สุภมาณพเคยทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ปรากฏความเลวและความประณีตต่างกัน
มนุษย์บางพวกปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา ขอพระองค์ทรงชี้บอกข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมเท่านั้นที่จำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต
บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด ไม่เอ็นดูเกื้อกูลในหมู่สัตว์มีชีวิต เขาตายไปจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมที่ทำไปแล้วนั้น หากตายไป แม้ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีอายุสั้น ดูก่อนมาณพ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อมีอายุสั้นนี้ คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป"
จากนั้นพระองค์ทรงยกตัวอย่าง สมัยที่ยังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ได้เกิดเป็นลูกของพราหมณ์มหาศาลมีสมบัติมากมาย มีชื่อว่า ทีปายนะ ท่านมีเพื่อนรักอยู่คนหนึ่งชื่อ มัณฑัพยะ ครั้นเมื่อโตขึ้นรู้สึกไม่เห็นสาระในการที่จะต้องอยู่ครองเรือน จึงชักชวนเพื่อนทำบุญให้ทานเป็นการใหญ่ ได้ขนสมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดมากองไว้หน้าบ้าน ประกาศให้มหาชนมาขนเอาไปโดยไม่มีความรู้สึกเสียดาย
เนื่องจากทั้งสองท่านเป็นที่เคารพรักของคนทั้งเมือง การตัดสินใจออกบวชของท่านทำให้มีผู้คนต่างร้องห่มร้องไห้เพราะไม่อยากให้ออกบวช เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่เมื่อท่านตัดสินใจลงไปที่จะบำเพ็ญเนกขัมมบารมีแล้ว
แม้จะมีใครมาหน่วงเหนี่ยวอ้อนวอนฉุดรั้งเอาไว้ก็ไม่ใส่ใจ ไม่ห่วงใยอาลัยอาวรณ์ในสิ่งใดทั้งสิ้น ทั้งสองท่านออกไปสร้างอาศรม บวชอยู่ในป่าหิมพานต์ได้ ๕๐ ปี ก็ชักชวนกันออกจากป่า เพื่อจะมาเสพรสเค็มรสเปรี้ยวในเมืองบ้าง จึงเที่ยวไปตามชนบทจนถึงเมืองพาราณสี
อาศัยอธิมุตติกสุสานเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่หลายวัน ทีปายนดาบสเห็นว่าได้พำนักอยู่ที่ป่าช้าหลายวันแล้ว จึงออกเดินทางไปหมู่บ้านอื่น เพื่อแนะนำมหาชนให้รู้จักสั่งสมบุญ เหลือเพียงมัณฑัพยะดาบสเท่านั้นที่ยังอยู่ในสุสานนั้นตามลำพัง
อยู่มาวันหนึ่ง พวกโจรเข้าไปขโมยของภายในเมือง เมื่อเจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ตื่นขึ้น รู้ว่ามีขโมยแอบเข้ามาก็พากันรีบออกตามจับ โจรวิ่งหนีเข้าไปในป่าช้าและทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลาของพระดาบสส่วนหนึ่ง แล้วรีบหลบหนีไป พวกมนุษย์ที่ตามมาติด ๆ เห็นห่อทรัพย์วางอยู่หน้าบรรณศาลาเข้า จึงตรงเข้าจับท่านดาบสซึ่งกำลังทำภาวนาอยู่ภายในห้องนั้น ต่างช่วยกันรุมทุบตีท่าน แล้วจับส่งพระราชา
ฝ่ายพระราชาเองยังไม่ทรงพิจารณาให้ดีเสียก่อน ก็รับสั่งให้ราชบุรุษเอาตัวท่านไปเสียบไว้ที่หลาว พวกราชบุรุษจึงนำตัวท่านไปเสียบไว้ที่หลาวไม้ตะเคียนในป่าช้านั่นแหละ ถึงแม้ว่าดาบสจะเป็นผู้มีฤทธิ์มีเดชมาก ไม่มีใครสามารถฆ่าท่านได้ หากท่านจะเหาะหนีไป ก็กลัวเจ้าหน้าที่จะเหมารวมไปถึงนักบวชทั้งหมดว่าเป็นผู้ไม่มีศีล
ต่อไปก็จะอยู่กันอย่างไม่มีความสุข ท่านจึงยอมให้เขาทรมานอยู่อย่างนั้น แต่ทว่าหลาวไม้ตะเคียนที่เอามาเสียบร่างกายของท่านนั้น จะเสียบจะแทงยังไงก็ไม่เข้า จึงได้เปลี่ยนเอาหลาวไม้สะเดามาเสียบบ้าง ก็ยังเสียบไม่เข้าอีก เอาหลาวเหล็กมาเสียบก็ไม่เข้าอีกเหมือนกัน
ท่านดาบสจึงใคร่ครวญดูบุพกรรมของตนเอง เมื่อระลึกชาติไปดูว่า กรรมอะไรหนอทำให้ต้องได้รับโทษทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดในครั้งนี้เลย ท่านจึงรู้เห็นในญาณว่า.... ในภพชาติก่อนได้เกิดเป็นลูกชายของช่างไม้ ติดตามไปถากไม้กับบิดา และจับแมลงวันมาตัวหนึ่งแล้วเอาหนามไม้ทองหลางมาเสียบ บาปกรรมนั้นจึงตามมาทันแล้ว
ท่านรู้ตัวว่าไม่อาจพ้นบาปกรรมนี้ได้ จึงบอกพวกราชบุรุษว่า “ถ้าท่านต้องการจะเอาหลาวเสียบเราจงใช้หลาวไม้ทองหลางเถิด” พวกราชบุรุษได้ทำตาม แล้วก็วางคนซุ่มรักษาอยู่ เพื่อคอยดูผู้ที่จะแอบมาช่วยเหลือดาบส
แล้วในวันนั้นเอง ทีปายนดาบสนึกถึงเพื่อนที่ไม่ได้พบกันมาหลายวัน จึงเดินทางกลับเพื่อมาเยี่ยมท่านที่ป่าช้านั้น ในระหว่างทางเมื่อท่านทราบข่าว จึงรีบตรงเข้าไปในป่าช้า เห็นเพื่อนถูกทรมานอยู่อย่างแสนสาหัสเลือดท่วมตัว จึงบังเกิดความสงสัยไต่ถามว่า “เพื่อนเอ๋ย ท่านได้ทำผิดอะไรหรือ ทำไมถึงโดนทรมานถึงเพียงนี้”
เมื่อรู้ว่าเพื่อนไม่ได้ทำผิด จึงถามต่อไปว่า “ท่านอาจจะรักษาใจของตนเองไม่ให้มีความขุ่นมัวได้หรือไม่” มัณฑัพยดาบสตอบว่า “เพื่อนเอ๋ย เราไม่ได้มีใจขุ่นมัวหรือขัดเคืองเลย”
ทีปายนดาบสฟังแล้วรู้สึกชื่นใจ บอกเพื่อนไปว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่านเป็นความสุขสำหรับเรา แล้วเข้าไปนั่งพิงหลาวอยู่เป็นเพื่อน ขณะที่หยาดโลหิตที่ออกมาจากร่างกายของมัณฑัพยะดาบส หยดลงถูกตัวของทีปายนดาบส สรีระที่ผ่องใสดุจทองก็เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด
แต่ท่านไม่ได้รู้สึกรังเกียจหรือขยะแขยงแต่อย่างใด ท่านนั่งพิงหลาวตลอดคืนยังรุ่งโดยไม่ได้สะทกสะท้านว่า จะถูกจับไปฆ่าพร้อมกันกับเพื่อนของท่าน
วันรุ่งขึ้น พวกราชบุรุษได้กราบทูลเหตุการณ์นั้นให้พระราชาทรงทราบ แล้วพระองค์ทรงดำริว่า เราได้ตัดสินลงไปโดยไม่พิจารณา จึงรีบเสด็จไปหาตรัสถามทีปายนดาบสว่า “ดูก่อนบรรพชิต เหตุไรท่านจึงนั่งพิงหลาวอยู่” ทีปายนดาบสตอบว่า “มหาบพิตร อาตมภาพนั่งรักษาดาบสนี้อยู่ ก็มหาบพิตรทรงทราบแล้วหรือว่า ดาบสนี้ทำผิดหรือไม่ได้ทำผิด จึงได้ลงอาญาอย่างนี้”
เมื่อทราบว่ายังไม่ได้ทันพิจารณา จึงกล่าวสอนว่า “ธรรมดาคฤหัสถ์ ถ้าเป็นคนเกียจคร้านแล้วไม่ดี พระราชาควรจะพิจารณาก่อนแล้วจึงกระทำ จึงจะเป็นที่พึ่งของมหาชนได้”
เมื่อพระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยะดาบสไม่มีความผิด จึงรับสั่งให้ถอนหลาวนั้นออก แต่พวกราชบุรุษไม่สามารถจะถอนหลาวออกได้ ฝ่ายดาบสทูลพระราชาว่า “มหาบพิตร อาตมภาพถึงความพินาศย่อยยับอย่างครั้งนี้ ก็ด้วยอำนาจกรรมที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน ไม่มีใครถอนหลาวออกจากตัวอาตมภาพได้หรอก ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานชีวิตแก่อาตมภาพ ก็โปรดให้เอาเลื่อยมาตัดหลาวนี้ให้เสมอหนังเถิด"
พระราชารับสั่งให้กระทำตามนั้น ภายในร่างกายของดาบสจึงมีหลาวติดอยู่ด้วยตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกรรมที่เคยเอาหนามทองหลางไปเสียบไว้ที่ก้นของแมลงวันอยู่อย่างนั้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับทำให้มันตาย จะตายต่อเมื่อหมดอายุขัยของมัน
ฉะนั้น จึงทำให้ดาบสนี้ยังไม่ถึงกับตายลงในครั้งนี้ แต่ปลายหลาวก็ยังคงฝังติดอยู่ในร่างกายของท่านเรื่อยมา พระราชาทรงกราบพระดาบส ขอให้ท่านทั้งสองโปรดงดโทษ แล้วนิมนต์ให้อยู่ในพระราชอุทยานเพื่อทำการรักษาแผล และให้ท่านบำเพ็ญสมณธรรมอย่างมีความสุขตลอดอายุขัย
เราจะเห็นว่า บาปกรรมแม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าคิดว่าจะไม่ส่งผล เพราะว่าทุกอย่างที่เราทำเอาไว้ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในใจของเราเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอวันให้ผลเท่านั้นเอง ในอดีตที่ผ่านมานั้นเราไม่รู้ว่าได้ทำบาปอกุศลอะไรเอาไว้บ้าง
เพราะฉะนั้น จงอย่าได้ประมาทปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสที่รุกคืบเข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ ควรให้ใจของเราดวงนี้มีแต่ภาพของกุศลกรรม เก็บเกี่ยวเอาแต่สิ่งที่ดีงามไว้ให้มาก ๆ ผลของบาปจะได้ไม่มาเป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างบารมีของเรา จะมีแต่บุญหนุนนำชีวิตให้ประสบความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๒๐๒ – ๒๑๐
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๕๙ หน้า ๘ ๓๑
โฆษณา