1 มิ.ย. 2022 เวลา 08:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข่าวด่วนทันกระเเส!
วันที่ 1 มิ.ย. 65 นี้ บังคับใช้ PDPA เเน่นอน เเละจะต้องจัดเก็บใช้ หรือเปิดเผย "ข้อมูลส่วนบุคคล" หลังเริ่มใช้ "PDPA" หรือ "พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562" หลักการนี้เหมือนจะง่าย เเต่ทำอย่างไรให้ไม่กระทบ "สิทธิของผู้ใช้งาน" พร้อมบทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเเบบไหนมาดูกันครับ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล โพสต์เฟซบุ๊ก รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แจ้งพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ศ.2562) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ หลังจากเลื่อนการประกาศใช้มาแล้ว 2 ปี
กฎหมายฉบับนี้ มีหลักสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่า ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และได้รับการดูแลมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิด
โดยกำหนดให้การเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใด จะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลหรือตามที่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย และต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลไปใช้และต้องใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งด้วย
PDPA คืออะไร ?
PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีขึ้นเพื่อให้เอกชนและรัฐที่เก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผย และ/หรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลในราชอาณาจักรไทย ให้เป็นไปตามมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว โดยต้องขอ "ความยินยอม" จากเจ้าของข้อมูล ก่อนการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยก่อน
และมีผลใช้บังคับ กรณีผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประเมินผลข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่นอกราชอาณาจักร หากมีกิจกรรม ดังนี้
- เสนอขายสินค้าหรือบริการแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะมีการชำระเงินหรือไม่ก็ตาม
- เฝ้าติดตามพฤติกรรมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร
ข้อมูลส่วนบุคคล ณ ที่นี้ คือข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ทำให้ระบุตัวบุคคลได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เลขประจำตัวประชาชน, ชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล, ข้อมูลทางการเงิน, เชื้อชาติ, พฤติกรรมทางเพศ, ประวัติอาชญากรรม, ข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น
ฝ่าฝืน PDPA จะมีบทลงโทษ หรือไม่ ?
เเน่นอนเลยจะมีความรับผิดทางแพ่ง
โดยต้องชดเชยเป็นค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่ได้รับจริง และศาลสั่งลงโทษเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมทดแทน
ส่วนโทษทางปกครอง
- ไม่ขอความยินยอมให้ถูกต้อง ไม่แจ้งรายละเอียดให้เจ้าของข้อมูลทราบ ไม่ให้เจ้าขอข้อมูลเข้าถึงตามสิทธิ ฯลฯ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
- เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท
- เก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท
โทษอาญา
- ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
- เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
- ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. นี้ ห้ามนำไปเผยแพร่แก่ผู้อื่น (เว้นแต่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย) จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้กระทำความผิด เป็นนิติบุคคล หากกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลที่ได้รับผิดชอบ สั่งการหรือกระทำหรือละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำ จนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ต้องรับโทษในคดีอาญานั้นไว้ด้วย
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ธปท.
.
.
ติดตามข่าวสารจาก Avery IT tech เพิ่มเติมได้ทุกช่องทางตามด้านล่าง
Facebook: Avery IT Tech
Blockdit: Avery IT Tech
#AveryITTech #IT #Awareness #security
โฆษณา