3 มิ.ย. 2022 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
กฎหมายโลกร้อนฟินแลนด์ ประเทศแรกที่คาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2035 และติดลบในปี 2040
ในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี ผู้นำประเทศต่างๆ จะออกมากล่าวถึงเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง
ส่วนใหญ่มักบอกว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050
อาจมีบ้าง บางประเทศที่วางแผนไว้เร็วกว่านั้น เช่นในปี 2040
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำกล่าวเหล่านั้น ก็เป็นเพียงสัญญาลมปาก ไม่ได้ผลบังคับใช้ทางกฎหมาย
ทำนองเดียวกับที่ผู้นำบางประเทศเคยพูดว่า เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน
ถ้าไม่ทำก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด ไม่ได้มีโทษปรับ ติดคุก หรือประหารชีวิต
หรือในรายละเอียดปลีกย่อย ที่การลดก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ก็ทำได้เพียงขอความร่วมมือ แต่ไม่สามารถบังคับใครได้
มีเพียงต้องลุ้นว่าหน่วยงานที่ไปขอความร่วมมือจะตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้หรือไม่
ดังนั้น การออกกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติ จึงเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่ผ่านมามีหลายประเทศออกกฎหมายว่าด้วยการลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กันมาบ้างแล้ว
แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ขั้นตอนดำเนินการอยู่ระหว่างการเขียนร่าง
เป็นต้นว่าประเทศไทย ได้ประกาศว่าจะร่างพระราชบัญญัติลดโลกร้อนเมื่อปี 2020 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี
ส่วนจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร ก็ต้อง ‘รอ’ ติดตามกันต่อไป - แต่ ณ เวลานี้ ยังไม่เห็นความคืบหน้าดังกล่าว
แต่เป็นที่น่าสนใจว่าระหว่างที่ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายโลกร้อนกันอยู่ ตอนนี้ประเทศฟินแลนด์ได้พัฒนากฎหมายว่าด้วยการลดโลกร้อนฉบับใหม่สำเร็จออกมาแล้ว
และจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2022
กฎหมายโลกร้อนของฟินแลนด์มีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง และถือเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศกล่าวว่าเป็นความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการร่างกฎหมายว่าด้วยการลดโลกร้อนออกมา
ในรายละเอียดหลักๆ ฟินแลนด์กำหนดให้ประเทศต้องมีการปล่อยค่าคาร์บอนฯ หักลบเป็นกลางภายในปี 2035
และในอีก 5 ปีหลังจากนั้น หรือภายในปี 2040 ปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ ของประเทศจะต้องติดลบ
เป้าหมายที่ว่านี้ ไม่เคยมีประเทศใดเคยร่างมันขึ้นมาก่อน ดังที่กล่าวไปว่าประเทศส่วนใหญ่ตั้งเป้าเป็นกลางภายในปี 2050 หรืออย่างเร็วอาจเป็น 2040
จะมีก็แต่ประเทศซูดานเท่านั้นที่ตั้งเป้าลดคาร์บอนฯ ให้สำเร็จภายในปี 2030
(ไม่นับประเทศภูฏานและซูริมาเนที่มีปริมาณคาร์บอนฯ เป็นศูนย์อยู่แล้ว เพราะมีพื้นที่ป่ามาก)
แต่ในความเป็นไปได้ ประเทศซูดานซึ่งเป็นประเทศยากจนยังขาดเงินทุนสนับสนุน โอกาสสำเร็จจึงเป็นไปได้น้อย
เป้าหมายของฟินแลนด์จึงเป็นอะไรที่ใหม่ และน่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ว่าจะทำสำเร็จภายในปี 2035 ได้จริง
เหตุที่รัฐบาลฟินแลนด์ตัดสินใจผ่านกฎหมายฉบับนี้ (โหวตผ่านผ่านระบบรัฐสภา) ทีมผู้ร่างกฎหมายซึ่งประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์และคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของฟินแลนด์ เขียนขึ้นจากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ ที่ระบุว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนฯ ให้ได้โดยไวที่สุด เช่นในปี 2030
ซึ่งเป็นเส้นชี้เป็นชี้ตายว่าอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสหรือไม่
โดยข้อบังคับทางกฎหมายนี้มีผลให้รัฐบาลของฟินแลนด์ต้องรายงานความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการสร้างทิศทางการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ให้ร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ไปพร้อมๆ กัน
นักวิเคราะห์มองว่า ความเป็นไปได้ที่ฟินแลนด์จะทำสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาพื้นที่ป่าของประเทศ
โดยประเทศฟินแลนด์พื้นที่ป่าประมาณ 3 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศ แต่ทศวรรษที่ผ่านมาอัตราการสูญเสียป่าของประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวล
หากยับยั้งการทำลายป่าได้ โอกาสที่ประเทศจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนฯ ตามที่กฎหมายกำหนดก็จะสามารถทำได้จริง
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า กฎหมายของฟินแลนด์อาจเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาเอาอย่าง
1
ส่วนจะเกิดผลกระทบมากแค่ไหนก็ต้องติดตามกันต่อไป
อนึ่ง ฟินแลนด์เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ประเทศเร่งพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลมเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซีย
และหันหน้าไปสู่ทิศทางพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากยิ่งขึ้น
อ่านพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับเต็มได้ที่ https://shorturl.asia/bQsYy
#IsLife #Finland #ClimateCrisis #Law
อ้างอิง
Climate Home News : https://shorturl.asia/lFme4
Photo : Alex Inkiläinen
โฆษณา