6 มิ.ย. 2022 เวลา 09:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สัญญาณ “ขาดดุลแฝด” เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเจอวิกฤตคล้ายต้มยำกุ้ง
การขาดดุลแฝด สัญญาณเตือนอันตรายเศรษฐกิจไทย หลัง สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 อาจขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หวั่นซ้ำรอยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เพราะประเทศไทยเคยอยู่ในภาวะ ขาดดุลการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทางออกในการแก้ปัญหาเป็นยังไงต้องฟัง
1
สัญญาณน่าหวาดผวาสำหรับเศรษฐกิจไทยกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.5 – 3.5% โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุล 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น -1.5% ของ GDP ต่อเนื่องจากการขาดดุล 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ -2.1 ของ GDP% ในปี 2564
1
ภาวะเช่นนี้เรียกกันว่า “การขาดดุลแฝด” (Twin Deficits) หรือ การขาดดุลการคลัง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ควบคู่กัน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้แม้จะเข้าใจสาเหตุว่าเกิดจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก วิกฤตในยุโรป และการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ภาวะแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนิ่งนอนใจ ปล่อยให้ผ่านไปเพียงแค่เฉย ๆ
ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้อธิบายข้อมูลกรณีการขาดดุลแฝดไว้อย่างน่าสนใจว่า มีสาเหตุมาจาก 1.การขาดดุลการคลัง เกิดจากรัฐบาลมีการใช้จ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้ต้องชดเชยการขาดดุลโดยการกู้ยืม จะทำให้อุปสงค์การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น และอุปสงค์การนำเข้าเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อได้
3
2.การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เกิดจากการขาดดุลสุทธิของดุลการค้า ดุลบัญชีบริการ ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ และดุลเงินโอนระหว่างประเทศ ซึ่งสาเหตุหลักมักมาจากการขาดดุลการค้า นั่นคือ มีรายจ่ายจากการนำเข้ามากกว่ารายรับจากการส่งออกสินค้า
1
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการรองรับความเสี่ยงและความเชื่อมั่นของผู้ที่จะเข้ามาลงทุน แม้ว่าการขาดดุลแฝดจะทำให้ค่าเงินอ่อนลง ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ในขณะเดียวกันเงินที่อ่อนค่าจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ผ่านราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วย
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายเรื่องนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นคนสุดท้ายถึงเรื่อง “การขาดดุลแฝด” ไว้ดังนี้
การบริหารเศรษฐกิจมหภาค จะมีสภาพแวดล้อมที่ลำบากมากขึ้น ณ วันนี้ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องอัตรากรขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพสูงขึ้น และยังเกิดการขาดดุลแฝด โดยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลการคลัง ซึ่งถ้าขาดดุลการคลังมากขึ้น ก็ส่งผลต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดภาวะขาดดุลแฝด โดยการขยายวงเงินงบประมาณขาดดุล (ปีงบประมาณ 2566 ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 6.95 แสนล้านบาท) อาจกระทบต่อเสถียรภาพต่างประเทศได้ และตอนนี้เครื่องมือที่รัฐบาลจะใช้ในการบริหารเศรษฐกิจ ก็คงมีอยู่แค่เรื่องของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น
“เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ประเทศไทยเคยอยู่ในภาวะนี้ นั่นคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และทุนสำรองระหว่างประเทศ ดังนั้นในตอนนี้ที่รัฐบาลตั้งงบประมาณ 2566 อย่างระมัดระวังก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ดูแลได้” นายพิสิฐ ระบุ
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยสูญเสียเงินตราระหว่างประเทศไปมาก ทั้งเสียเงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยว และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีมูลค่าเทียบเท่ากับวงเงินงบประมาณประจำปี เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการกำหนดนโยบาย
1
โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปีถูกกำหนดโดยรายได้ และการขาดดุล แต่ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แม้ว่าจะเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด และสงครามการค้า ทำให้ประเทศไทยมีรายได้ต่ำลง โดยรายได้จริงเทียบกับประมาณการในปี 2563 รายได้ลงลง 3.43 แสนล้านบาท ต่อเนื่องถึงปี 2564 ลดลง 3.05 แสนล้านบาท รวม 2 ปีก็พุ่งไปกว่า 6.4 แสนล้านบาทแล้ว
ส่วนฐานะการคลัง ในช่วง 4-5 ปี มีการใช้จ่ายสม่ำเสมอ และตั้งงบประมาณขาดดุล 3-4% ต่อ GDP แต่เมื่อดูการขาดดุลเงินสด ทั้งเงินในและนอกงบประมาณ พบว่าพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากมีการใช้จ่ายเงินกู้สู้โควิด วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้การขาดดุลเงินสุดกระโดดจาก 2-3% ในช่วงก่อนเกิดโควิด เพิ่มขึ้นมา 6.8% ในปี 2563 และกระโดดขึ้นเป็น 9% ในปี 2565
นายพิสิฐ ยอมรับว่า โชคดีหน่อยที่ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งงบประมาณแบบระมัดระวัง โดยปรับลดการขาดดุลเงินสุดแบบไม่เวอร์ หรืออยู่ที่ 4% เพราะถ้าสูงไปจะกระทบต่อปัญหาหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างคือระยะข้างหน้าจะมีภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
โดยดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายประมาณ 2% ของหนี้ ณ เวลานี้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 แสนล้าน อธิบายง่าย ๆ คือ ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1% หนี้รัฐบาลจะเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท ดังนั้นหากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2% ก็ตั้งจ่าย 2 แสนล้านบาท เงินก้อนนี้ต้องใช้จ่ายจากเงินคงคลัง เพราะงบประมาณ 2566 ไม่ได้ตั้งงบเอาไว้
1
นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่ซ่อนอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล อีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5% ต่อ GDP เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 882,763 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 40,300 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคม 6 หมื่นล้านบาท และมหาวิทยาลัยที่มีโรงพยาบาลคณะแพทย์ศาสตร์ 8,000 ล้านบาท หากรวมวงเงินนี้เข้าไปด้วย จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP แตะ 70% ได้จึงต้องระวัง
ด้าน ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ระบุเรื่องนี้กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านการระบาดของโควิด-19 การขาดดุลแฝดก็เกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ ประเทศ เพราะภาวะการคลังติดลบเกือบหมด หลังจากรัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินกู้มาสู้กับโควิด
ขณะที่บัญชีเดินสะพัด ในเดือนมีนาคม 2565 ดูเหมือนว่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยกลับมาเป็นบวก หลังจากติดลบมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 แต่หลังจากนี้เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จึงน่าจะส่งผลถึงบัญชีเดินสะพัดต่อไปแน่นอน
ทางออกที่จะรองรับวิกฤตนี้ได้ คือ รัฐบาลต้องแสวงหาช่องทางการค้า เปิดตลาดใหม่ ๆ และเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าให้มากกว่าเดิม สร้างนวัตกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมทั้งหาโอกาสใหม่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าจะทำได้ยากในช่วงนี้ เพราะตลาดใหญ่อย่างจีนยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกมานอกประเทศ
“ในอดีตประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐฯ ก็เคยเกิดปัญหาการขาดดุลแฝดแบบนี้ แต่เขาแก้ไขโดยการเจรจาการค้า ทั้งกลุ่ม G5 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อเพิ่มการค้า การลงทุน และการใช้กลไกของค่าเงินดอลลาร์ไปแก้ไข แต่ไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน และปัญหาการขาดดุลแฝดนี้จะเป็นไปอีกระยะในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังมีปัญหา” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว
ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยระบุถึงเรื่องการขาดดุลแฝดด้วยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อปี 2522-2523 เป็นช่วงที่ต้องแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะไทยประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพที่มักเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพในแง่ทำให้เงินเฟ้ออย่างเดียว แต่ทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย
นั่นคือมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมาก ขณะที่เงินสำรองไม่ค่อยพอเพียง ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจระบบเปิด ทำให้มีการความต้องการนำเข้าสูงขึ้น แต่ส่งออกได้น้อยลง จึงขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และยังมีการขาดดุลการคลังค่อนข้างมาก ทำให้เป็นการขาดดุลแฝด
สำหรับเครื่องมือดำเนินนโยบายขณะนั้นมีความหลากหลายกว่าปัจจุบัน และใช้ผสมผสานกัน ดังนี้
* เครื่องมือแรกคือ ควบคุมปริมาณเงิน
* เครื่องมือต่อมา คือ ดอกเบี้ย
* เครื่องมือที่สาม ใช้เป็นครั้งคราว คือ การจำกัดเชิงปริมาณ (Quantitive Distriction)
* เครื่องมือที่สี่ คือการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Flow)
* เครื่องมือสำคัญที่สุด คือ ค่าเงินบาท
2
อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวนต่อเนื่อง แถมยังคาดเดาอะไรได้ยาก ปัญหาการขาดดุลแฝด จึงนับเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาล และหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจต้องไม่นิ่งนอนใจ และต้องเร่งหาทางแก้และรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ทันกาล เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต
โฆษณา