17 มิ.ย. 2022 เวลา 00:00 • หนังสือ
หลังจากใช้ชีวิตหลายปีในต่างประเทศ ผมกลับเมืองไทยในปี 2528 และเริ่มเข้าสู่วงการหนังสือ
ผมไม่รู้ว่าอะไรทำให้จับปากกาขึ้นมาเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรก อาจเป็นเพราะเวลาว่างมีมาก หรือเพราะความเหงา หรือเพราะเวลากลางคืนยาวกว่ากลางวัน หรือเพราะความรู้สึกว่าส่วนหนึ่งในชีวิตยังไม่เต็ม
ไม่ว่าอะไรคือปัจจัยหลัก ผมก็พบว่าตนเองกำลังจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
ผมแวะร้านหนังสือบ่อย ๆ แต่ไม่พบสิ่งที่อยากอ่าน ผมพบว่าตนเองเข้าสู่ 'วัยทอง' ของการอ่านนิยายเพื่อความบันเทิงแล้ว ผมไม่รู้สึกสนุกกับการอ่านนิยายเริงรมย์ เช่นที่เคยคลั่งไคล้ใหลหลงจนต้องแอบนำไปอ่านในห้องเรียน
นี่เป็นช่วงเวลาที่ผมอ่านหนังสือสารคดีเป็นหลัก หนังสือธรรมะ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เรื่องบันเทิงชนิดเดียวที่ผมอ่านในช่วงนี้คือเรื่องสั้นและนวนิยายสายพันธุ์ 'วรรณกรรมจ๋า' ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมไม่แตะต้องในวัยเด็ก และทำให้ผมเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่าง 'นิยาย' กับ 'วรรณกรรม'
2
ผมไม่รู้ว่าอะไรทำให้จับปากกาขึ้นมาเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ไม่ว่าดีหรือไม่ ผมก็มีความเพลิดเพลินในกิจกรรมใหม่นี้มาก งานเรื่องสั้นในช่วงแรกเริ่มนี้ล้วนเป็นงานที่เน้นการวางพล็อต แนวหักมุมจบ ในลักษณะงานเขียนของ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว, โอ. เฮ็นรี, กีย์ เดอ โมปาสซังก์ ฯลฯ ผมเขียนไว้หลายเรื่อง เขียนเสร็จแล้วก็เก็บไว้ ไม่กล้าให้ใครอ่าน
1
เย็นวันหนึ่งผมแวะร้านหนังสือแห่งหนึ่งตรงข้ามที่ทำงาน หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา เป็นนิตยสารในรูปพ็อคเก็ตบุ๊กที่เพิ่งออกใหม่ชื่อว่า ช่อการะเกด นี่เป็นฉบับที่ 5 ที่ต่อเนื่องมาจากนิตยสาร โลกหนังสือ ฉบับเรื่องสั้น นิตยสารฉบับนี้หายไปจากวงการวรรณกรรมนานหลายปี และเพิ่งกลับมาใหม่ เป็นนิตยสารเรื่องสั้นฉบับเดียวในเมืองไทย
คุณภาพของเรื่องสั้นในเล่มอยู่ในเกณฑ์ดี ลุ่มลึกกว่างานที่ผมเคยเห็น อ่านดูแล้ว ผมก็ไม่คิดว่าตัวเองมีความสามารถเขียนงานวรรณกรรมแบบนี้ได้
1
แต่ใจหนึ่งก็คิดว่า ผมอาจสามารถถ่ายทอดความคิดต่าง ๆ ที่อัดอยู่ภายในออกมาในรูปเรื่องสั้นแบบนี้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรื่องสั้นแนวหักมุมจบอย่างที่ผมเขียนเล่น
ผมยังเชื่อเสมอว่า ผมสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ขอให้ทำงานหนักพอ ผมเคยเขียนนิยายภาพได้ เคยเรียนภาษาจีนเองได้ เคยทำอะไรต่ออะไรได้อีกมากมาย ทำไมจะเขียนเรื่องสั้นไม่ได้
1
ช่วงหลายปีนั้น ผมทำงานสองด้านควบคู่กันไป ทำงานโฆษณาในยามกลางวัน และเขียนหนังสือกลางคืน
ผมเขียน ๆ ๆ เขียนไปโดยไม่คิดมาก เขียนเสร็จก็ยัดต้นฉบับใส่ลิ้นชัก ไม่คิดจะให้ใครอ่าน เขียนไปเรื่อย ๆ เป็นเหมือนกระดาษชำระที่ใช้เพื่อเช็ดคราบฝันในหัว
3
บางครั้งยามครึ้มใจ ผมก็ลองส่งเรื่องสั้นบางเรื่องไปที่นิตยสารบางฉบับ และก็ไม่สนใจตามข่าว เพราะไม่คิดว่าจะได้ตีพิมพ์ บางครั้งก็ได้รับจดหมายตอบกลับมาว่า เรื่องสั้นที่ส่งไปจบชีวิตไปแล้วในตะกร้า ขอให้พยายามต่อไป แต่ส่วนใหญ่ไม่ตอบกลับ ซึ่งหมายความว่า เรื่องสั้นที่เขียนยังไม่ดีพอที่จะรับการตีพิมพ์
แต่ผมก็ยังเขียนต่อไป
วันหนึ่งขณะพลิกอ่านนิตยสารอิมเมจเล่มหนึ่ง ผมแทบไม่เชื่อสายตาเมื่อพบเรื่องสั้นของตัวเองปรากฏบนหน้ากระดาษ เรื่องสั้นเรื่องนั้นชื่อ ไฟ ความรู้สึกที่เรื่องสั้นได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเป็นความรู้สึกยากบรรยาย อิ่มใจไม่ต่างจากเมื่อมีคนตีพิมพ์นิยายภาพของผมเมื่อกาลโน้น
3
ความรู้สึกนี้กระมังที่ทำให้ยังมีคนอยากเป็นนักเขียน ทั้งที่รู้ว่าเป็นงานที่หนักและเหนื่อย ผมพลันเกิดความสนุกกับงานอดิเรกใหม่นี้ โดยไม่รู้ตัวมันกลืนกินเวลาว่างทั้งหมดของผม
1
แต่การได้แจ้งเกิดด้วยเรื่องสั้นเรื่องเดียวในบรรณพิภพไม่ได้รับประกันอะไรทั้งสิ้น ช่วงเวลานั้นผมส่งงานไปตามนิตยสารหลายฉบับ และได้รับจดหมายปฏิเสธหลายฉบับ บรรณาธิการบางท่านมีอัธยาศัยดี ส่งข้อความให้กำลังใจแนบมากับจดหมายปฏิเสธ
1
เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยเงียบหายไปโดยไม่มีคำตอบ และแน่นอน ผมก็สรุปว่างานของตนเองยังไม่ดีพอ แต่น่าแปลกที่ผมไม่เคยเกิดความรู้สึกท้อแท้ ผมเริ่มเขียนงานชิ้นใหม่ทันทีที่เขียนเรื่องหนึ่งจบ อาจเป็นเพราะผมถือว่าการเขียนเป็นการผ่อนคลายอารมณ์อย่างหนึ่ง จึงไม่รู้สึกแย่เมื่องานถูกปฏิเสธ
ผมรู้สึกเพียงว่า การเขียนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง และผมสนุกกับความท้าทายนี้ เมื่อไม่เกร็ง ก็มีงานออกมาสม่ำเสมอ และทำอย่างสนุกสนาน ราวกับเด็กน้อยที่สนุกกับเครื่องเล่นชิ้นใหม่
2
พลันผมพบเห็นแสงสว่างรำไรลอดมาจากประตูแห่งความฝันบานนั้นที่ถูกแง้มออก
แล้วผมก็ก้าวเข้าไปในโลกนั้น
นานก่อนหน้าที่ผมริเขียนเรื่องสั้น ผมเคยอ่านคู่มือการเขียนเรื่องสั้นที่มีผู้วิเคราะห์หลักการเขียนเรื่องสั้นที่ดี ผมเคยอ่านงานชั้นดีจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผมก็เลือกไม่เดินไปตามทางสายนั้น ผมเชื่อว่าเราไม่อาจกำหนดสูตรสำเร็จให้กับงานศิลปะได้
5
การผ่านชีวิตในนิวยอร์ก บวกกับการทำงานสายโฆษณาและออกแบบทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า จำเป็นหรือที่จะต้องเขียนหนังสือตามแนวทางมาตรฐาน? เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสร้างสรรค์งานในแบบลูกผสม และก้าวไปสู่สายทางใหม่? หรืออย่างน้อยก็ไร้กฎเกณฑ์ใด ๆ มาบังคับ
1
นั่นคือที่มาของการทำงานแบบที่ภายหลังผมเพิ่งรู้ว่าเป็นงานแนวที่เรียกว่า experimental (แนวทดลอง) ความจริงผมไม่เคยให้ความสนใจว่างานที่ทำจัดเป็นงานตระกูลใด เรียกว่าอะไร ผมรู้แต่ว่าผมเพียงทำในสิ่งที่อยากทำ ผสมผสานงานเขียนกับกราฟิก เป็นอิสระจากกฎเกณฑ์การเขียนหนังสือทั้งหลาย และก็สนุกกับมันมาก
6
ที่น่าแปลกก็คือ แม้จะเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก แต่เป็นงานอดิเรกที่ผมทำงานอย่างจริงจังมาก แม้เวลาไม่มากที่เหลือจากชีวิตมนุษย์เงินเดือน แต่ผมก็เลือกหนทางแบบ 'จับปลาสองมือ' และ 'เหยียบเรือสองแคม'
1
แต่การจับปลาสองมือให้มั่นนั้นมีราคาของมัน ผมนอนน้อยลง เลิกดูโทรทัศน์รายการไร้สาระ และพบว่าคนเรามีเวลาเหลืออีกมากสำหรับทำงานที่ตัวเองอยากทำ ถ้าหากว่าเราอยากทำมันจริง ๆ
2
คำถามคือ คุณอยากทำมันมากแค่ไหน?
4
เวลาก็เหมือนเงินตรา แบ่งใช้ให้เป็นก็สามารถทำอะไรต่ออะไรได้มากมาย ผมเชื่อว่า คนที่บอกว่า "ไม่มีเวลา" คือคนที่ไม่อยากทำสิ่งนั้นต่างหาก
2
ผมยอมรับว่างานในรอบหลายปีนั้นหนัก ทั้งงานประจำที่ต้องมาก่อน และต้องไม่ให้เสียหาย กับงานในฝันที่จรรโลงใจให้เดินต่อไป
1
บางวูบ ผมนึกอยากทำงานเขียนเป็นงานหลัก แต่ก็รู้ว่างานเขียนยังเลี้ยงตัวไม่ได้ แต่นั่นมิได้ทำให้ท้อ ความรักในงานเขียนฝังตัวลึกในสายเลือดเสียแล้ว
2
นอกจากตะกร้าในห้องของบรรณาธิการแล้ว ยังมีตะกร้าอีกหลายใบของผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเลือกที่จะทำงานแบบแหวกขนบ นำมาซึ่งปฏิกิริยาแปลก ๆ และบางเรื่องก็น่าขำ
ครั้งหนึ่งมีผู้อ่านเขียนแจ้งบรรณาธิการบริหาร มติชนสุดสัปดาห์ ว่า อ่านเรื่องสั้นชื่อ ชู้ แล้วอยากจะฉีกหน้านั้นทิ้งจากนิตยสาร มิใช่เพราะเรื่องหมิ่นเหม่ศีลธรรม แต่เพราะอ่านแล้วลายตา เนื่องจากเรื่องสั้นเรื่องนี้มีแต่คำศัพท์เรียงพรืดต่อกันเต็มหน้า!
บางครั้งก็มีคนเขียนมาต่อว่าสำนักพิมพ์ว่าพิมพ์หนังสือไม่เรียบร้อย ปล่อยให้เรื่องสั้นมีรอยขีดฆ่า (เรื่อง การหนีของราษโลกสามใบของ ราษฎร์ เอกเทศ), ข้อมูลในเรื่องผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย (เรื่อง คำให้การ) ฯลฯ
เพื่อนนักเขียนคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ผู้อ่านสองคนนั่งทะเลาะกันทั้งคืนด้วยเรื่องที่ผมเขียน คนหนึ่งว่ามันเป็นความใหม่ อีกคนว่ามันเป็นการแหกคอกน่าแปลกที่ตอนที่เขียนหนังสือ ผมไม่คิดว่าจะมีใครสนใจอ่าน ยิ่งไม่เคยคิดว่าจะมีคนทะเลาะกันเรื่องที่ผมเขียน ผมเขียนเพื่อความเพลิดเพลินของตัวเองเท่านั้น
แต่ที่รุนแรงที่สุดก็คือ บทวิพากษ์ในเชิงด่าสาดเสียเทเสีย ซึ่งมิได้อิงกับข้อมูลที่ถูกต้อง นี่เป็นอีกด้านหนึ่งของวงการหนังสือที่ผมไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า มันดำรงอยู่ และในตอนแรกแทบทำให้คนเขียนหมดกำลังใจ
3
แต่ความจริงของคนสร้างสรรค์งานศิลปะก็คือ งานใดที่ออกสู่สาธารณะแล้ว ย่อมกลายเป็นสมบัติของสาธารณะ พูดง่าย ๆ ก็คือ หากไม่ชอบคำวิจารณ์เชิงลบ ก็ไม่ควรเผยแพร่งานต่อสาธารณชน
4
แน่นอนไม่มีใครชอบยาขม แต่หากลองคิดว่า มีคนอุตส่าห์เสียเวลาเขียนบทวิจารณ์ ก็น่าจะยินดีน้อมรับไว้ ใช้คำวิจารณ์ในการปรับปรุงงานต่อไป
3
หากถามผมวันนี้ว่า อะไรทำให้กลายเป็นนักเขียนได้ คำตอบก็คือ ความไม่กลัวตะกร้า
1
ตะกร้าสร้างนักเขียน เป็นความจริงมาแต่ไหนแต่ไร และยังเป็นความจริงอยู่
บทเรียนจากชีวิตในช่วงนี้คือ ยาขมมีประโยชน์กว่าคำหวาน
4
บทเรียนถัดมาก็คือ อย่าติดกับดักที่ตัวเองสร้างขึ้น
ตลอดเวลาในการทำงานช่วงแรก ผมพยายามหนีความจำเจ และมุ่งมั่นที่จะทำงานชิ้นใหม่ให้ดีกว่างานชิ้นเก่าเสมอ
ผมอยากสร้างความแปลกใหม่ จนที่สุดก็ติดในกรอบ
ในที่สุดผมก็เริ่มเข้าใจว่า ศิลปะไม่มีกรอบ ไม่มีกติกา บางครั้งการพยายามแหกคอกมากเกินไปกลับเป็นการสร้างคอกใหม่มาล้อมตัวเอง
3
บทเรียนช่วงนี้คือ อย่ากลัวที่จะฉีกขนบ แต่อย่าฉีกขนบเพียงเพราะอยากฉีกขนบ
1
เขียนเมื่อปี พ.ศ. 2551 ตีพิมพ์ในหนังสือ เดินไปให้สุดฝัน
4
โฆษณา