24 มิ.ย. 2022 เวลา 05:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินเฟ้อมีกี่แบบและแบบไหนที่เราเจออยู่ 💸💸
ว่ากันเรื่องเงินๆ อยากจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพราะว่าช่วงนี้เราได้ยินคำว่า"เงินเฟ้อ" หรือ "inflation" บ่อยมาก เนื่องจากทั่วโลกประสบกับปัญหาข้าวของแพง เศรษฐกิจมีปัญหา และการฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิดก็เป็นไปได้ช้า ส่วนประเทศไทยล่าสุดพ.ค.65ก็เงินเฟ้อทั่วไป 7.1% เข้าไปแล้ว 😱😱 💵💵
cost push vs demand pull inflation
ผลกระทบหลักๆของ Inflation คือ สินค้าและบริการแพงขึ้น หรือ มูลค่าของเงินด้อยค่าลง ทำให้เราต้องซื้อสินค้าชิ้นเดิมด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว 30 ปีก่อน ชามละ 5 บาท แต่วันนี้ 50บาทต่อชาม 💸💸💸
แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อพูดถึงเรื่องของ inflation จริงๆจะมีอยู่ 2 แบบ คือ
แบบ Cost push และแบบ Demand pull ซึ่งเกิดจากปัจจัยที่แตกต่างกัน
1. Demand pull inflation เป็นปัจจัยด้านอุปสงค์ (demand)
ขอเริ่มที่ Demand pull ก่อนเพราะน่าจะเข้าใจและเห็นภาพง่ายกว่า Demand pull คือ การที่ความต้องการซื้อ (Demand) มีสูงขึ้น และเมื่อมีคนต้องการซื้อมากขึ้นเกินกว่ากำลังที่ผลิตได้ (supply หรือ production capacity) ก็ทำให้สินค้านั้นมีไม่เพียงพอหรือขาดแคลน ราคาสินค้านั้นก็จึงแพงขึ้น เพราะสินค้ามีน้อย มีจำกัด จึงต้องแย่งกันซื้อ
ลองนึกย้อนไปในช่วง lockdown ที่มีข่าวไข่ไก่แพง คนก็แห่ไปซื้อตุนไว้ ทำให้ของเริ่มขาดตลาดและทำให้ไข่ไก่มีราคาสูงขึ้น
เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อแบบนี้ เช่น มีการพิมพ์เงินเข้ามาสู่ระบบของรัฐบาล ทำให้คนมีเงินมากขึ้น ก็ทำให้มีกำลังซื้อ(demand) สูงขึ้น หรือ ช่วงที่เศรษฐกิจดีๆ คนก็มีเงินมากขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้นdemandก็สูงขึ้น เราจึงเคยได้ยินว่ามีเงินเฟ้อนิดๆนั้นดี เพราะเป็นสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งก็จัดอยู่ในรูปแบบ Demand pull inflation นี่แหละ
2. Cost push inflation เป็นปัจจัยด้านอุปทาน (supply)
เงินเฟ้อจากต้นทุนผลัก เกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าแรง ค่าน้ำมัน หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ก็ต้องปรับเพิ่มราคา ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่แย่กว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพราะมีความต้องการเพิ่ม
ตัวอย่างของเงินเฟ้อรูปแบบนี้ ไม่ต้องมองไกล ตอนนี้เราอยู่ในสภาวะนี้นี่แหละ รอบๆตัวเราที่มีแต่ข้าวของอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้น เนื้อหมู ไข่ไก่ น้ำมัน แม้กระทั่ง เป๊บซี่ และ มาม่า 🍜🍜 ที่ต้องปรับขึ้นราคา จากผลของโรคระบาดโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศ
และจะแย่ลงอีกถ้า Cost push inflation แย่ขึ้น จนถึงจุดที่เรียกว่า “Stagflation” หรือ สภาวะเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งเป็นการนำคำว่า Stagnation ที่แปลว่า สภาวะหยุดนิ่ง กับ คำว่า Inflation มารวมกัน 💰💰
😱😱 Stagflation สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ของแพงขึ้น แต่คนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพจะทำให้เกิดการเก็บออมไม่อยากบริโภค ผู้ประกอบการจะขายสินค้าได้ลดลง ทำกำไรได้ลดลง ทำให้มีการจ้างงานหรือลงทุนขยายกิจการลดลง
และอาจต้องปลดคนงานออกและทำให้มีอัตราว่างงานสูงขึ้น เมื่อคนตกงานมากขึ้น คนไม่มีรายได้ก็มากขึ้น การบริโภคก็ยิ่งย่ำแย่ วนเป็นวงจรที่ใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่สภาพปกติ เมื่อคนไม่มีรายได้ตกงานมากเข้าๆ
ไม่ว่ามองยังไง ตอนนี้เราก็ยืนอยู่กลางวงของสภาวะเงินเฟ้อที่ลำบากกันและแน่นอนว่าจะวนๆอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปอีกสักพักใหญ่ๆ เราต้องบริหารความมั่นคงทั้งการงานและการเงินให้ดีที่สุด
โฆษณา