9 มิ.ย. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษามะขามสารัช สินค้าบ้าน ๆ แต่รายได้ร้อยล้าน
ใครที่เข้าร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven บ่อย ๆ ก็คงจะเคยเห็นมะขามจี๊ดจ๊าด ที่เป็นกระปุก ๆ วางอยู่
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า มะขามแปรรูปเหล่านี้มีชื่อแบรนด์ว่า “สารัช”
แล้วเส้นทางธุรกิจของมะขามสารัช มีเรื่องราวเป็นอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
พอพูดถึงมะขาม แน่นอนว่าจังหวัดที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึง คงเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกจากจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากที่นี่ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกมะขามที่สำคัญของประเทศไทย
เพราะนอกจากจะมีพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูกมะขามแล้ว เกษตรกรในพื้นที่ยังมีความชำนาญในการปลูกมะขามมาเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า
ปี 2564 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่สำหรับปลูกมะขามเปรี้ยว จำนวน 5,901 ไร่
และมีเกษตรกรผู้ปลูกจำนวน 887 ราย
และด้วยความที่เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องมะขาม
ทำให้ที่นี่เป็นต้นกำเนิดของ แบรนด์มะขามสารัช ผู้บุกเบิกการผลิตมะขามแปรรูปของจังหวัดเพชรบูรณ์นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของแบรนด์มะขามสารัช ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
จากสองสามีภรรยาที่ชื่อว่า คุณจินดาและคุณสุภาลักษณ์ กมลธรไท
ทั้งคู่มีอาชีพเป็นครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยทั้งสองคนมักใช้เวลาหลังเลิกงานจากที่โรงเรียน มาทำมะขามกวนแปรรูปขาย เพื่อหารายได้เสริมจากการเป็นครู
หลังจากขายมะขามกวนแปรรูปมาสักระยะหนึ่ง ทั้งคู่ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู เพื่อมาทำธุรกิจดังกล่าวแบบเต็มตัว
เพราะทั้งคู่เชื่อว่าการทำธุรกิจมะขามกวนแปรรูป จะสามารถสร้างรายได้ ได้มากกว่าการเป็นครู และน่าจะเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงครอบครัวได้
แต่หลังจากที่มาทำธุรกิจแบบเต็มตัว ทั้งคู่ก็ได้เผชิญกับช่วงเวลาที่ทั้งดีและแย่
โดยเฉพาะในช่วงที่แย่ เพราะช่วงแรกเริ่มนั้นเป็นช่วงที่ขายสินค้าได้ไม่ดี จนหลายครั้งทั้งคู่เกือบที่จะตัดสินใจเลิกทำธุรกิจมะขามกวนแปรรูป แล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน
แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อเพราะเชื่อว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นมาถูกทางแล้ว
ทั้งสองคนพร้อมกับลูกชายที่ชื่อว่า คุณสารัช ก็ค่อย ๆ ช่วยกันปลุกปั้นธุรกิจมะขามแปรรูปของครอบครัว ด้วยการไปฝากขายตามท่ารถ ตามร้านโชห่วย และร้านขายของฝากต่าง ๆ ในเขตอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง
และจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจมะขามสารัชก็เกิดขึ้น
เมื่อตอนที่ทุกคนในครอบครัวมาขายสินค้าในงานเกษตรแฟร์ ซึ่งในตอนนั้นเองคุณสารัช ก็ได้เห็นว่าคุณพ่อและคุณแม่ต้องลำบากมาออกร้าน เพื่อขายของทั้งวันทั้งคืน
จากเหตุการณ์นั้น ทำให้คุณสารัชเริ่มกลับมาคิดว่า เขาต้องพัฒนาธุรกิจมะขามสารัชให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้คุณพ่อและคุณแม่สบายขึ้น
ดังนั้นคุณสารัชจึงหาทางเพิ่มมูลค่าของสินค้า ด้วยการแปรรูปมะขามที่มีอยู่ให้ดีขึ้น
คุณสารัชจึงเริ่มลงมือปรับปรุงและพัฒนาสูตรมะขามต่าง ๆ ให้มีรสชาติที่หลากหลาย ซึ่งสูตรแรกที่เขาคิดค้นขึ้นมาก็คือ มะขามจี๊ดจ๊าด และมะขามเคี้ยวหนึบ
ซึ่งทั้งสองสูตรนี้ถือเป็นสินค้าเรือธงที่ทำให้มะขามสารัชกลายเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากมะขามแปรรูปที่เป็นสินค้าชูโรงแล้ว ปัจจุบันแบรนด์มะขามสารัช ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ผลิตออกมาขายอีก เช่น ขนมจีน, น้ำพริก
เรามาดูรายได้ของ บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กัน..
ปี 2562 รายได้ 161 ล้านบาท กำไร 2.2 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 102 ล้านบาท กำไร 1.5 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 86 ล้านบาท กำไร 1 ล้านบาท
สาเหตุที่รายได้ลดลงในปีล่าสุด เป็นเพราะวิกฤติโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทเต็ม ๆ เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของมะขามสารัชนั้นอยู่ในร้านค้าปลีก
ก็ต้องติดตามกันต่อว่าเมื่อวิกฤติโควิด 19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยอดขายของ มะขามสารัช จะกลับไปเติบโตแบบเดิมได้หรือไม่..
โฆษณา