10 มิ.ย. 2022 เวลา 12:21 • ธุรกิจ
-- ลาออกจากงานมาเปิดร้านอาหารดีมั้ย ? --
นี่คงจะเป็นอีกคำถามที่ติดอยู่ในใจลึกๆ ของเหล่าพนักงานประจำอย่างแน่นอน เพราะหลายคนอาจเริ่มเบื่อกับการเป็นพนักงานประจำ เบื่อกับการต้องทำตามคนอื่นตลอดเวลา เห็นเพื่อนหลายคนที่เป็นนายตัวเอง ทำธุรกิจส่วนตัวมีรายได้มากมาย มีเวลาไปไหนมาไหน หรือว่าเราจะออกมาทำบ้างดีมั้ยนะ...
อย่าพึ่งลุกไปเซ็นใบลาออกนะครับ ก่อนที่คุณจะตัดสินใจ ผมอยากให้คุณลองถามตัวเองด้วย 4 ข้อนี้ดูซะก่อน หากคุณสามารถตอบตัวเองได้ทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว นั่นหมายถึงคุณน่าจะพร้อมที่จะเป็นเจ้าของร้านอาหารแล้วจริงๆ
1. ดูประสบการณ์ความรู้เรื่องธุรกิจและเรื่องอาหาร
เพราะการเป็นพนักงานที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่ดีได้ เวลาคุณเป็นพนักงาน คุณได้รับมอบหมายให้คุณแค่แผนกเดียว ดูเพียงเรื่องเดียว การรู้ลึกเรื่องนั้นๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
แต่สำหรับการเป็นเจ้าของธุรกิจแล้วรู้ลึกอย่างเดียวไม่พอ คุณจะต้องรู้กว้างในทุกๆ เรื่องด้วย ทั้งเรื่องบัญชี การจัดการ การบริการ งานบุคคล รวมไปถึงเรื่องการตลาดที่จำเป็นอย่างมากในยุคนี้
นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องตัวอาหารเองที่จะแค่ทานเป็นไม่ได้ แต่คุณต้องรู้ถึงขนาดที่ว่าร้านอาหารประเภทนั้นมีร้านอะไรบ้าง รสชาติแต่ละที่ต่างกันยังไง กลุ่มลูกค้าเป็นใคร และจะทำยังไงให้รสชาติของคุณมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับร้านอื่นๆ ด้วยไม่เช่นนั้นแล้วคุณก็ไม่ต่างจากร้านที่มีอยู่ในตลาดทั่วไป ที่ต่างกันแค่ชื่อกับโลโก้เท่านั้น
2. ดูศักยภาพการรับความเสี่ยง
เพราะแต่ละคนมีภาระไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจึงมีศักยภาพในการแบกรับความเสี่ยงที่ไม่เท่ากันด้วย ธุรกิจร้านอาหารถือเป็นธุรกิจที่เสี่ยงสูง โอกาสในการประสบความสำเร็จอาจมีแค่ 10-20% เท่านั้น แล้วหากมันเกิดขายไม่ดี คุณมีเงินทุนสำรองเพื่อเติมเข้าไปในธุรกิจมากแค่ไหน
หากทุกวันนี้ ลูกคุณก็ต้องส่งเรียน พ่อแม่ก็ต้องดูแล ต้องดูแลค่าใช้จ่ายที่บ้านทั้งหมด การออกจากงานประจำมาทำธุรกิจร้านอาหารเต็มตัว หรือหากคุณต้องทุ่มเงินทั้งหมดที่มีในการเปิดร้านอาหารเลยก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก
อย่างน้อยคุณควรจะกันเงินส่วนนึงเก็บไว้ หากวันนึงร้านที่ทำอยู่ไม่เวิร์คคุณก็ยังพอมีเงินในการดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ในระยะเวลานึง
3. ดูรายได้ที่คาดหวังกับเงินเดือนที่ได้ในปัจจุบัน
คุณอย่าลืมว่าต่อให้ร้านคุณคาดว่าจะได้กำไรเดือนละ 50,000 บาท ในขณะที่ปัจจุบันคุณได้เงินเดือนอยู่ที่ 40,000 บาท ซึ่งมากกว่าอยู่ถึงเดือนละ 10,000 บาท แต่ความเสี่ยงก็มากกว่าด้วยเช่นกัน
คุณเป็นพนักงานประจำ คุณมีวันลาหยุด มีสวัสดิการ มีประกันสังคม สิ้นปีเผลอๆ คุณก็ยังมีโบนัส ได้ขึ้นเงินเดือน แต่การทำร้านอาหารในช่วงแรก เมื่อไหร่ที่คุณหยุด รายได้คุณก็จะหายไปด้วยเช่นกัน เจ็บป่วยคุณก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาลเอง เพียงแต่หากร้านคุณขายดีก็มีโอกาสจะได้กำไรมากกว่าที่คุณตั้งไว้ด้วยเช่นกัน
อีกประเด็นนึงก็คือ บางครั้งกำไรที่คุณได้จริงอาจไม่เท่ากับที่คุณคิดไว้ ต่อให้จะขายได้ตามที่คิด เพราะส่วนใหญ่คนที่เพิ่งเริ่มทำร้านอาหารมักจะลืมคิดค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าประกันภัย ค่าทำการตลาด ค่าจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ และค่าVAT ต่อเดือนเป็นต้น
แต่ถ้าแบบอยากลองทำจริงๆ ผมแนะนำว่าคุณอาจจะเริ่มด้วยการขายอาหารดิลิเวอรี่ช่วงวันหยุดควบคู่กับการทำงานประจำไปก่อน จนวันนึงเมื่อกำไรในธุรกิจเริ่มใกล้เคียงกับเงินเดือนที่คุณได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนแล้ว ถึงวันนั้นถ้าอยากออกมาทำเต็มตัวก็อาจจะคุ้มเสี่ยงมากกว่านี้
1
4. หากร้านไปไม่รอดสามารถกลับไปทำงานประจำได้มั้ย
ฟังแล้วอาจดูหดหู่ไปซักนิด แต่ชีวิตจริงอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นครับ ถ้าวันนึงร้านที่คุณทำเกิดไปไม่รอดจริงๆ การมี Exit Plan ล่วงหน้าไว้อย่างน้อยก็อาจช่วยให้คุณตัดสินใจในช่วงนั้นได้ดีขึ้น
1
การรักษาความสัมพันธ์กับนายจ้างหรือบริษัทเดิมเอาไว้เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่คุณลาออกกะทันหัน หรือทิ้งงานแล้วลาออกไปดื้อๆ ไม่มีการสอนงานคนใหม่ที่จะมาดูแลแทนคุณไว้เลย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงไม่มีใครอยากรับคุณกลับเข้ามาทำงานอีกแน่นอน
หรือระหว่างที่ทำร้านอาหาร คุณอาจต้องคอยอัพเดทข่าวสารความรู้ของงานประจำที่คุณเคยทำไว้บ้าง เผื่อวันนึงที่คุณกลับไปสมัครงานบริษัทเหล่านี้ คุณก็ยังพอพูดคุยกับเค้ารู้เรื่อง
.
#torpenguin #ต่อเพนกวิน #ลาออก #ลาออกจากงาน #งานประจำ #ออฟฟิศ #เริ่มทำธุรกิจ #อยากทำธุรกิจ #เทคนิคร้านอาหาร #เปิดร้านอาหาร #ความรู้ร้านอาหาร #ร้านอาหาร #ธุรกิจ #ทำธุรกิจ #business #restaurant #restaurantmanagement
โฆษณา