1 ก.ค. 2022 เวลา 01:22 • การศึกษา
ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ ๒๕ ต่างชาติ ต่างภาษา
ในแต่ละภาษาจะมีคำเรียกชนชาติต่าง ๆ ตามคำที่ได้ยินเป็นครั้งแรกแล้วดัดแปลงให้เข้ากับสำเนียงท้องถิ่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับคำที่เจ้าของชนชาตินั้นเรียกตัวเอง เช่น เราเรียกญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ตามวิธีการที่คนชาติอื่นเรียกสองชาตินี้อีกทอดหนึ่ง
ในสมัยอยุธยายังเคยเรียกโปรตุเกสว่าพุทธเกศ และเรียกเนเธอร์แลนด์ว่าวิลันดา โดยแปลงให้เข้ากับลิ้นคนไทย ส่วนในโคลงภาพคนต่างภาษาที่วัดโพธิ์ ก็เรียกคนตุรกีว่า “หรุ่มโต้ระกี่”
Hagia Sophia เคยเป็นโบสถ์คริสต์ในสมัยอาณาจักรไบแซนไทน์ ก่อนจะถูกแปลงเป็นมัสยิดโดยอาณาจักรออตโตมัน แล้วกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะกลับมาเป็นมัสยิดอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๖๓ Hagia Sophia เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนครอิสตันบูลในประเทศ “ตุรสก์” หรือตุรกี ซึ่งมีชื่อใหม่ว่าทูร์เคีย ภาพโดย นาวินี พลายน้อย ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา
ในภาษาเบงกาลี มีคำเรียกชนชาติอื่นที่ไม่เหมือนภาษาไทยหลายคำ เช่น อินเดีย อียิปต์ และตุรกี โดยเรียกอินเดียว่า “ภารต (Bharat)” ตามที่คนอินเดียเรียกชื่อประเทศตัวเอง เรียกอียิปต์ว่า “มิศอร์ (Misar)” ตามภาษาอาหรับ และเรียกตุรกีว่า “ตุรสก์ (Turaska)”
สหรัฐอเมริกามีชื่อเป็นเบงกาลีว่า “ยุกตราษฏระ (Yuktarastra)” และสหราชอาณาจักรเป็น “ยุกตราชย์ (Yuktarajya)” (ดูตอนที่ ๒๑)
เพื่อนจากสถานทูตออสเตรเลียที่เคยใช้ชีวิตที่อินโดนีเซียตั้งข้อสังเกตว่า ในภาษาอินโดนีเซีย ทิศตะวันตกคือ barat เช่น Jakarta Barat คือจาการ์ตาตะวันตก คำนี้น่าจะมาจากภารต เพราะทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของอินเดีย ก็เลยเรียกทิศนี้ตามชื่อประเทศอินเดียไปด้วย
Jakarta Barat หรือจาการ์ตาตะวันตกเป็นย่านเมืองเก่าที่มีอาคารตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อเนเธอร์แลนด์ยังเป็นเจ้าอาณานิคม ในครั้งนั้นจาการ์ตาใช้ชื่อว่าปัตตาเวีย ภาพโดย จุลฉัตร กาญจนโอฬารศิริ เลขานุการเอก คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา
บางภาษาเรียกชื่อประเทศอื่นแบบรู้อยู่คนเดียวหรือบัญญัติศัพท์ขึ้นเองก็มี อาทิ ภาษาฮังการีเรียกประเทศโปแลนด์ว่า Lengyelorszag และเรียกฟิลิปปินส์ว่า Fulop-Szigetek แปลว่าหมู่เกาะของพระเจ้าฟิลิป ส่วนภาษาเวียดนามเรียกออสเตรเลียว่า Uc (อุ๊ก) และเรียกสหรัฐฯ ว่า My (หมี)
Gdansk เป็นเมืองท่าการค้าริมอ่าวบอลติก และศูนย์กลางการต่อเรือของโปแลนด์มาตั้งแต่ยุคกลาง ในย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำ Motlawa มีอาคารหลายหลังที่สร้างตั้งแต่ครั้งที่ Gdansk ยังเป็นส่วนหนึ่งของ Hanseatic League ในศตวรรษที่ ๑๒ ภาพโดย จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ
นานาชาติหรือระหว่างประเทศในภาษาเบงกาลีคืออานตรชาติก และเขตแดนระหว่างประเทศใช้ คำว่า สีมานา ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกันกับใบสีมาหรือใบเสมาที่แสดงอาณาเขตของอุโบสถในวัดไทย
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๔ มีชื่อต่อท้ายว่า “มหาสีมาราม” เพราะใบเสมาอยู่ที่แนวกำแพงวัด ดังนั้นจึงพิเศษกว่าวัดอื่นตรงที่สามารถทำสังฆกรรมบริเวณใดก็ได้ในวัด ไม่จำกัดเฉพาะที่อุโบสถเท่านั้น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ ๕ ก็สร้างด้วยแนวคิดเดียวกัน
สีมาของเบงกาลีมีความหมายว่าขอบเขต (limit) ด้วย ตามข้างถนนในกรุงธากาจะมีป้ายจำกัดความเร็วที่ใช้คำว่าสีมา เช่น ระบุว่า 40km gati sima แปลว่าจำกัดความเร็วไม่เกิน ๔๐ กม./ชม.
นายพนม ทองประยูร
อัครราชทูตที่ปรึกษา
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา
โฆษณา