17 มิ.ย. 2022 เวลา 08:00 • สุขภาพ
หลัง "ปลดล็อกกัญชา" ชวนส่องสรรพคุณ "กัญชา" ทางการแพทย์
1
"ปลดล็อกกัญชา" 9 มิ.ย.65 อนุญาตให้ประชาชนปลูก และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยวัตถุประสงค์หลักคือ มุ่งใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ชวนเปิดลิสต์สรรพคุณ "กัญชา" ว่ามีส่วนช่วยบรรเทาโรคใดบ้าง?
หลัง "ปลดล็อกกัญชา" ชวนส่องสรรพคุณ "กัญชา" ทางการแพทย์
ประเทศไทยประกาศ "ปลดล็อกกัญชา" อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อ 9 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา นอกจากอนุญาตให้ปลูกได้ไม่ผิดกฎหมายแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วนของต้นกัญชา สำหรับประชาชนที่ปลูกต้องลงทะเบียนจดแจ้งกับ อย. ผ่านแอป "ปลูกกัญ" โดยเป้าหมายหลักคือ ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และดูแลสุขภาพ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่องสรรพคุณ "กัญชาทางการแพทย์" ที่มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ พบว่า มีส่วนช่วยรักษา และบรรเทาอาการของโรคร้ายแรงได้หลายโรค อีกทั้งมีสรรพคุณเด่นเรื่องการช่วย "คลายเครียด" และบรรเทาความวิตกกังวลได้
1. "ปลดล็อกกัญชา" ส่วนไหนใช้ได้ไม่ผิดกฎหมาย?
พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านป้องกันปราบปราม (รอง ผบ.ตร.ปป.) และ ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 พืชกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด แต่ก็ยังมีข้อควรรู้และข้อจำกัด ได้แก่
ส่วนที่ไม่ใช่สารเสพติด ไม่ผิดกฎหมาย คือ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ สดหรือแห้ง ยางกัญชา กาก/เศษเหลือจากการสกัดกัญชา
ส่วนที่เป็นสารเสพติดผิดกฎหมาย คือ สารสกัดจากกัญชา/กัญชง ที่มีปริมาณ THC เกิน 0.2%
สูบกัญชาทำได้ แต่ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ หากรบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
2. "ปลดล็อกกัญชา" อะไรทำได้-ทำไม่ได้บ้าง?
การปลดล็อกกัญชาครั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้ประชาชน "ปลูกกัญชา" และ "มีพืชกัญชาไว้ในครอบครอง" ได้ ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใด ก็ไม่มีความผิด โดยเน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่เน้นสันทนาการ โดยสิ่งที่ทำได้-ทำไม่ได้ ได้แก่
ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ต้องมีการจดแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ"
การปลูกในเชิงพาณิชย์ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ห้ามใช้/จำหน่าย "สารสกัดกัญชา" ที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่ผ่านการรับรองโดย อย. ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
การขายหรือส่งออกทำได้ แต่ต้องขออนุญาตจาก อย. ห้ามขายแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร
การนำเข้าทำได้ แต่ให้เฉพาะจุดประสงค์เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์เท่านั้น
โฆษณา