16 มิ.ย. 2022 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
ปฏิวัติวงการค้าปลีก ด้วยประโยชน์จากการใช้เอไอและข้อมูล (June 2022)
การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันเป็นผลมาจากตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อเราในหลาย ๆ ด้าน ในแง่ของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ที่ต้องเจอกับปัญหามากมาย ทั้งจากการที่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว สภาพแวดล้อมทางสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือโรคระบาดอย่างโควิด-19 ซึ่งล้วนกระทบต่อรายรับและกำไรของธุรกิจ
ทั้งนี้ การใช้แรงงานมนุษย์เพียงอย่างเดียวในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก เสี่ยงต่อการประมวลผลที่ไม่ครอบคลุมและขาดความแม่นยำ หรือแม้แต่ความผิดพลาดด้านการบริหารจัดการ ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล
ธุรกิจค้าปลีกจึงต้องคำนึงถึงแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการสินค้า กลยุทธ์การตลาด การเข้าถึงความต้องการลูกค้า การเพิ่มยอดขาย ไปจนถึงการบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพ
โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นตัวเร่งชั้นดีสำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ที่จะนำเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่างเอไอและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data) มาช่วยยกระดับธุรกิจให้เกิดความคล่องตัว เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ได้ประโยชน์จากการนำเอไอและข้อมูลเข้าไปเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการในแต่ละฟังก์ชันธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น
การบริหารด้านกลยุทธ์การตลาด ด้วยการทำงานของแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการจับจ่ายและความสนใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าแต่ละชนิดจากข้อมูล และนำไปต่อยอดวางแผนโปรโมชั่นให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ซึ่งจะมีการแบ่งกลุ่มลูกค้า เพื่อให้การขายสินค้าและนำเสนอโปรโมชั่นตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน การวัดความคุ้มค่าของการทำการตลาด ช่วยประเมินประสิทธิภาพการทำการตลาดให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม และต่อยอดไปสู่ไอเดียใหม่ ๆ ให้กับโปรโมชั่นอื่น ๆ
จะมีการคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายของลูกค้าตลอดความสัมพันธ์กับแบรนด์ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถคาดการณ์การซื้อสินค้าของลูกค้า และรู้ถึงค่าใช้จ่ายและความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และสร้างฐานลูกค้าใหม่ โดยใช้การประมวลผลมูลค่าการใช้จ่ายในอดีตของลูกค้าเพื่อหาแพทเทิร์นและเทรนด์การเปลี่ยนแปลงมูลค่าการใช้จ่าย
รวมถึงการประเมินอัตราการเกิดการหยุดซื้อในกลุ่มลูกค้า และวิเคราะห์ปัจจัยที่จะช่วยป้องกันการหยุดซื้อ พร้อมวางกลยุทธ์ในการดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าซ้ำในอนาคต และการแนะนำสินค้า ด้วยการปรากฏสินค้าที่ลูกค้าชอบและอยู่ในความสนใจในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อและเพิ่มยอดขาย
ในด้านการจัดการสินค้า จะใช้การวิเคราะห์ข้อมูลประวัติการซื้อขายสินค้าแต่ละชนิด ร่วมกับข้อมูลกระแสหรือเทรนด์ของสินค้า รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการจัดการสินค้าได้ดียิ่งขึ้น เช่น การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า ช่วยเพิ่มความแม่นยำและรวดเร็วในการวางแผนและจัดเตรียมสต็อกสินค้าให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องของลูกค้า
รวมถึงการเลือกจัดวางสินค้า ที่เป็นสินค้าที่อยู่ในความสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้าในแต่ละสาขาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยสร้างยอดขายและผลกำไรได้อย่างดีเยี่ยม และการบริหารจัดการคลังสินค้า โดยระบบจะช่วยคำนวณและแนะนำปริมาณการสั่งสินค้าที่เหมาะสม เพื่อลดการเสียโอกาสจากสินค้าที่ขาดสต็อก รวมถึงลดค่าใช้จ่ายจากสินค้าเหลือค้างสต็อก
การคาดการณ์เชิงพื้นที่ เป็นการทำงานของศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งภายนอกอื่น ๆ เช่น ข้อมูลจากการสำรวจในพื้นที่ ข้อมูลจากระบบนำทาง ข้อมูลจากเซนเซอร์ รวมถึงข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ สังคม และประชากรในพื้นที่
เพื่อช่วยประเมินพื้นที่ในการทำการตลาด ในการหารูปแบบ และแนวโน้มการทำการตลาดทั้งแบบออฟไลน์ และการยิงโฆษณาแบบออนไลน์ และการหาสถานที่ในการเลือกเปิดร้านค้าหรือเปิดสาขาใหม่ ในทำเลที่เหมาะสม เพื่อสร้างยอดขายและกำไรที่ยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าบทบาทและความสามารถที่โดดเด่นของเอไอและข้อมูล ได้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนและยกระดับการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ ของธุรกิจค้าปลีกให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการใช้แรงงานมนุษย์ที่ไม่จำเป็น และเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเห็นได้ชัดและวัดผลได้ ถือเป็นทางรอดของธุรกิจค้าปลีก ที่ไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไปในโลกยุคปัจจุบัน
บทความโดย
คุณธัชกรณ์ วชิรมน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง
บริษัท เซอร์ทิส จำกัด
โฆษณา