17 มิ.ย. 2022 เวลา 11:37 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดและการล่มสลายของสองบริษัท
ที่ถือได้ว่ายิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ EIC และ VOC
ตอนที่ 2 กำเนิดของ EIC และ VOC
ก่อนอื่นผมอยากจะชวนมาลองจินตนาการกันนะครับ
สมมติว่าคุณเป็นชาวยุโรปเมื่อประมาณ 400 กว่าปีที่แล้ว คุณต้องการจะทำธุรกิจด้วยการส่งเรือใบเดินทางไปซื้อสินค้าที่เอเชียเพื่อนำกลับมาขายทำกำไรที่ยุโรป
คำถามคือ มีอะไรที่คุณต้องกลัวหรือต้องระวังบ้าง ?
อะไรที่จะทำให้การลงทุนทำธุรกิจครั้งนี้ของคุณขาดทุน ?
1
อย่างแรกสุด ความยากของการเดินทาง เพราะด้วยเทคโนโลยีและความรู้สมัยก่อน การเดินเรือจากยุโรปมาเอเชียไม่ใช่เรื่องง่าย มีโอกาสสูงที่จะโดนคลื่นลมหรือพายุทำให้เรืออัปปาง และไม่ใช่ความเสี่ยงแค่เที่ยวเดียว แต่ยังมีความเสี่ยงทั้งไปทั้งกลับ
1
อย่างที่สอง โจรสลัด ข้อนี้ก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก เอาเป็นว่าถ้าเจอโจรสลัดการลงทุนก็กลายเป็นศูนย์
1
อย่างที่สาม เรือของคุณอาจจะไปทับเส้นทางค้าขายกับชาวยุโรปชาติอื่น และถ้าเจอกันก็มีโอกาสจะต้องต่อสู้กัน
1
อย่างที่สี่ การลงทุนส่งเรือไปซื้อสินค้ากลับมาขาย เป็นการลงทุนที่สูงมาก เป็นไปได้ว่าคุณต้องใช้เงินทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งชีวิตไปกับการส่งเรือลำนี้ หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้าพลาดทีเดียวก็หมดตัวไปเลย
อย่างที่ห้าคือ เป็นการลงทุนที่กว่าจะได้ผลตอบแทนก้อนแรกกลับมาต้องรอนานมาก คือ ต้องรอให้เรือเดินทางกลับมา ซึ่งใช้เวลานานเป็นปีๆ ดังนั้นถ้าสายป่านไม่ยาว ก็ไม่มีทางที่จะมาลงทุนในธุรกิจนี้
แล้วด้วยเหตุทั้งหมดนี้ จึงเกิดวิธีการแบบใหม่ขึ้น นั่นก็คือ การร่วมลงทุนกันหลายๆ คน หรือที่เรียกว่า joint stock
คำว่า joint คำนี้แปลว่า มาลงร่วมกัน หรือแชร์กัน ส่วนคำว่า stock ที่แปลว่า หุ้นในปัจจุบัน มีความหมายดั้งเดิมว่า ท่อนไม้ หรือแผ่นไม้ ซึ่งเมื่อพูดถึงเรือจะหมายถึง ตัวแผ่นไม้ที่ใช้เป็นโครงของเรือ เลยเชื่อกันว่าความหมายแรกๆ ของ joint stock คำนี้ มีความหมายทำนองว่า การลงทุนเพื่อเป็นเจ้าของแผ่นไม้บางแผ่นที่ใช้ประกอบขึ้นเป็นเรือ
แล้วด้วยวิธีการลงทุนแบบนี้ ทำให้แต่ละคนไม่ต้องใช้เงินเก็บทั้งชีวิตมาลงทุนในธุรกิจนี้ หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้มีเงินมาก ก็สามารถที่จะมาร่วมลงทุนได้เช่นกัน แต่ละคนก็จะได้ส่วนแบ่งตามเงินที่ลงทุนไป เมื่อไม่ต้องลงเงินมากเกินตัว ความเสี่ยงของแต่ละบุคคลจึงลดลง ทำให้คนกล้ามาร่วมลงทุนได้มากขึ้น ผลคือ เงินจากประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าเป็นทุนให้กับธุรกิจนี้มากขึ้น ธุรกิจจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ระบบการร่วมลงทุนแบบนี้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศดัตช์ ต่อมาไม่นาน ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน ออสเตรีย ก็เริ่มทำตามบ้าง
แต่ธุรกิจนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอีกอย่าง คือ ความเสี่ยงของคู่แข่งชาติเดียวกัน
หมายความว่า ถ้ามีคู่แข่งมากขึ้น มีสินค้าในตลาดมากขึ้น ราคาของสินค้าก็จะตกลง กำไรที่จะได้เมื่อเทียบกับความเสี่ยงก็อาจจะไม่คุ้มค่าเหมือนเดิม
ในปี ค.ศ. 1600 พ่อค้าชาวอังกฤษจำนวน 128 คน จึงรวมตัวกันเพื่อไปขออำนาจจากพระราชินีอลิซาเบธ ที่ 1 ว่า ขอให้พวกเขาได้รับสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวที่จะส่งเรือไปค้าขายกับทางตะวันออก หรือที่เรียกว่าเป็น Chartered company (Charter คือเอกสารที่ให้สิทธิ์ทำสิ่งนั้นแต่เพียงผู้เดียวหรือบริษัทเดียว)
ทางรัฐบาลของอังกฤษและพระราชินี เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าธุรกิจนี้ยังไงก็ยังเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และต้องใช้ทุนเยอะ ทำให้กลุ่มคนที่จะมาลงทุนทำธุรกิจนี้มีไม่มากนัก แต่ก็เป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนกับรัฐบาลในรูปของการเก็บภาษีได้สูง ถ้าไม่ให้ผูกขาด อาจจะมีคนอยากมาทำธุรกิจตรงนี้น้อยลง จึงอนุญาตให้บริษัทใหม่นี้มีสิทธิ์ที่จะเดินทางไปค้าขายทางตะวันออกแต่เพียงบริษัทเดียว
ปี ค.ศ. 1600 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท English East India company หรือ EIC ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่ออังกฤษรวมกับสก็อตแลนด์ บริษัทนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Brithis East India company
อีกสองปีต่อมา บริษัทของดัชต์ที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Dutch East India company หรือที่ย่อในชื่อภาษาดัชต์ว่า VOC ก็ก่อตั้งขึ้นตามมาในปี ค.ศ. 1602
คราวนี้ผมจะชวนมาดูกันต่อว่า สองบริษัทยักษ์ใหญ่นี้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานของระบบทุนนิยมที่เราใช้มาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ยังไงบ้าง
อย่างแรกที่เราเห็นกันไปแล้วคือ เรื่องของบริษัทแบบ Joint Stock หรือการรวมหุ้นเพื่อนำไปลงทุนในการทำธุรกรรมบางอย่าง
อย่างที่สอง กฎหมายบริษัทที่เรียกว่า Limited Liability หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งแม้ว่าจะมีมาก่อน EIC แต่การเกิดขึ้นของบริษัทที่มีลักษณะห้างหุ้นส่วน ทำให้กฎหมายแบบนี้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
คำว่า จำกัดในที่นี้ หมายถึง จำกัดความรับผิดชอบ เช่น ถ้าคุณนำเงินไปลงทุนกับการเดินเรือแล้วสุดท้ายเกิดความเสียหายที่ต้องใช้คืนเจ้าหนี้ ภาระความเป็นหนี้ของคุณจะจำกัดตามเงินที่คุณลงไปเท่านั้น เจ้าหนี้จะไม่สามารถไปตามเก็บเงินทุกบาทุกสตางค์ที่เป็นเงินส่วนตัวของคุณได้ กฎหมายที่ออกมานี้จึงช่วยให้คนกล้าจะมาลงทุนกันมากขึ้น
อย่างที่สาม เรื่องของธุรกิจประกัน ด้วยความที่ธุรกิจการเดินเรือเป็นธุรกิจประเภท high risk, high return คือ มีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนก็สูง ทำให้นักลงทุนหลายคนเมื่อมีโอกาสลงทุนกับเรือสักลำก็ไม่อยากจะลงเงินจำนวนน้อยเกินไป
แต่ถ้าลงทุนเยอะแล้วเกิดเรือไม่กลับมา เราอาจจะไม่มีเงินเหลือไปลงทุนต่อได้อีกเลย ทำให้มีคนเห็นโอกาสตรงนี้และเข้ามาจัดการความเสี่ยงในรูปแบบของการทำประกันให้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะถ้าเรือไม่กลับมาแต่นักลงทุนทำประกันไว้ ก็ยังได้เงินคืนมาเพื่อนำไปลงทุนต่อในครั้งหน้าได้
ธุรกิจประกันจึงเสมือนกับเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้เงินลงทุนไหลเวียนกลับเข้ามาในลงในธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงแรกๆ ของการลงทุน ส่วนใหญ่นักลงทุนจะร่วมลงทุนในลักษณะของการลงทุนแค่ครั้งเดียวคือ เมื่อเรือกลับมาปุ๊บก็แบ่งกำไรแล้วแยกย้ายกันไป
และด้วยปัจจัยเสริมต่างๆ เหล่านี้ ทั้งเรื่องของกฎหมาย และระบบประกัน ทำให้การลงทุนในธุรกิจการเดินเรือทำได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น
ผลคือ ทั้งดัชต์และอังกฤษจึงผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลของโลกอย่างรวดเร็ว
ความร่ำรวยทำให้ดัชต์ก้าวเข้าสู่ยุคทองหรือ Dutch golder are ซึ่งเรายังเห็นผลของความร่ำรวยนั้นได้มาจนถึงยุคปัจจุบัน เช่น ถ้าเราไปเที่ยวเมืองอัมสเตอร์ดัมเราจะเห็นตึกเก่าๆ ที่สวยงาม หรืองานศิลปะที่มีชื่อเสียงของ เวอร์เมียร์ (Vermeer) และ เรมแบรนดท์ (Rembrandt) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าที่ร่ำรวย (แต่ก็เป็นเงินที่ได้มาจากการกดขี่ สังหารชนพื้นเมืองที่ปัจจุบันคือชาวอินโดนิเซีย)
แต่ต่อมาโดยเฉพาะชาวดัตช์ก็เริ่มมองว่าเมื่อเราลงทุนร่วมกันแล้วได้เงินกลับมาแล้ว อย่าเพิ่งรีบแบ่งกำไรกัน แต่เราเอาเงินที่ได้มา ร่วมลงขันกันอีกรอบ คราวนี้อาจจะต่อเรือที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มจำนวนเรือให้มากขึ้น หรือจ้างเรือทหารมาช่วยคุ้มกัน แล้วส่งเรือออกไปค้าขายอีกหลายๆ รอบ
การทำเช่นนี้ทำให้บริษัท VOC ของดัชต์ มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นนักลงทุนและพ่อค้าชาวอังกฤษก็นำวิธีการนี้ไปใช้บ้างในปี ค.ศ. 1612 จนบริษัท EIC ก็เติบโตแข็งแกร่งตามมาเช่นกัน
1
จนถึงจุดที่เหมือนกับว่า โลกจะเล็กเกินกว่าจะให้สองบริษัทยักษ์ใหญ่นี้จะอยู่ร่วมกันได้
และนั่นคือ เรื่องราวที่เราจะคุยกันต่อในตอนหน้าครับ Anglo-Dutch war แล้วการล่มสลายของบริษัททั้งสอง
เรือสามลำที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก (Columbian exchange)
🎧 Podcast : https://bit.ly/3mCWopC
🎧 Podcast การล่มสลายของ Aztec
🔗 ตอนที่ 1 : https://bit.ly/3ynUfAc
🔗 ตอนที่ 2 : https://bit.ly/38ntIsc
🔗 ตอนที่ 3 : https://bit.ly/3BmmNMH
🔗 ตอนที่ 4 : https://bit.ly/3zjbUKO
💻 Youtube การล่มสลายของ Aztec
🔗 ตอนที่ 1 : https://youtu.be/QZBSNZ-61Gs
🔗 ตอนที่ 2 : https://youtu.be/M4_oi-TBLzo
🔗 ตอนที่ 3 : https://youtu.be/j6SJtxif-Rk
🔗 ตอนที่ 4 : https://youtu.be/Ejf6c4zEsX8
🎧 Podcast การล่มสลายของอินคา
🔗 ตอนที่ 1 : https://bit.ly/3sWj4Dv
🔗 ตอนที่ 2 : https://bit.ly/3PS7mE2
💻 Youtube การล่มสลายของอินคา
🔗 ตอนที่ 1 : https://youtu.be/IqHz5oixpCc
🔗 ตอนที่ 2 : https://youtu.be/NimubD49E48
ถ้าชอบเรื่องราวเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการแพทย์ สามารถเข้าไปเลือกดูหนังสือของหมอเอ้วได้ที่ Chatchapol Book ใน shopee และ Line Myshop ได้เลยค่ะ
👉 Line Myshop : https://bit.ly/2UX8w5F
โฆษณา