20 มิ.ย. 2022 เวลา 05:04 • ข่าวรอบโลก
ไทยกับการเป็นประธาน BIMSTEC ปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖
ปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖ ไทยเป็นประธาน BIMSTEC แต่บางท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า BIMSTEC คืออะไร? และไทยจะมีบทบาทอย่างไร? ……. วันนี้ดิฉันขอถือโอกาสถ่ายทอดการให้สัมภาษณ์ของ คุณรชา อารีพรรค ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ถึงเรื่องนี้ค่ะ (รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=BeTzs9Jm2QE)
BIMSTEC หรือ Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือชื่อเป็นภาษาไทยว่า ความริเริ่มอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก ๗ ประเทศ ได้แก่ ไทย บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ภูฏาน และศรีลังกา ก่อตั้งโดยประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งครบรอบ ๒๕ ปี ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยไทยเป็นประธานด้วย
ความริเริ่มอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ได้เชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เข้าด้วยกัน โดยภูมิภาคนี้มีประชากรรวมกันถึง ๑,๖๐๐ ล้านคน หรือ ร้อยละ ๒๓ ของประชากรโลก ซึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ทำให้มีกำลังการผลิตสูง โดยมี GDP อยู่ประมาณ ๓๐๐ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
และที่สำคัญไปมากกว่านั้น สมาชิกในกรอบความร่วมมือนี้ มีความอบอุ่น ไว้เนื้อเชื่อใจ และความรู้สึกที่ดีต่อกัน และไม่มีความขัดแย้ง โดยประเทศทางภูมิภาคเอเชียใต้มีทัศนคติและความใกล้ชิดที่ดีกับประเทศไทยของเรา
ภาพจาก เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยได้รับมอบตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา พร้อมมุ่งสานต่อความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-๑๙ และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน ภาพจาก เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
หากพูดถึงเรื่องวิสัยทัศน์ ฝ่ายไทยเป็นคนริเริ่มและเสนอนโยบายที่เรียกว่า “PRO BIMSTEC” หรือที่ย่อมาจาก Prosperous, Resilient, and Open BIMSTEC ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตโควิด-๑๙ และเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือกับปัญหาและประเด็นท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต
ตัว “P” ใน “PRO BIMSTEC” มาจากคำว่า “Prosperous” คือ การรีสตาร์ทเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิก ด้วยการอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจให้กลับมาเหมือนเดิม และส่งเสริมการเชื่อมโยงทางภูมิภาค เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งร่วมกัน
สิ่งสำคัญที่จะเอื้อต่อความมั่งคั่ง และอีกอย่างหนึ่งที่เราน่าจะรู้สึกภาคภูมิใจ คือ การที่ไทยเป็นผู้นำสำหรับการหารือในสาขาการเชื่อมโยง (Connectivity) ของกรอบ BIMSTEC ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงทางบก ทางทะเล ทางพลังงาน และทางดิจิทัล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
ส่วนในระดับประชาชน กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันเอกสารแม่บทของ BIMSTEC เรื่องโครงสร้างด้านการเชื่อมโยง โดยหากผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างไทยกับภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินทาง การค้า และการลงทุน ของประชาชนต่อไป
ตัว “R” ใน “PRO BIMSTEC” ของการเป็นประธาน BIMSTEC ของไทย มาจากคำว่า “Resilient” คือ การพลิกฟื้นสู่โอกาส ด้วยการร่วมมือกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสาธารณสุข ซึ่งไทยมีความสามารถด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว เราสามารถจัดการปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิดได้เป็นอย่างดี ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใต้ต่างชื่นชมประเทศเรา
อีกทั้งเราจะผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในกลุ่มประเทศ BIMSTEC และกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ด้วย
ส่วนตัวสุดท้าย “O” ใน “PRO BIMSTEC” มาจากแนวคิด “Open BIMSTEC” คือ การเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ประชาชนมีการติดต่อ และการเดินทางมากยิ่งขึ้น
การประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภาพจาก เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
ท้ายที่สุด ท่าน ผอ. ขอประชาสัมพันธ์การจัดงานของกระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับ BIMSTEC ที่ห้างสรรพสินค้า ICON SIAM ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ ซึ่งถือเป็นการฉลองครบรอบ ๒๕ ปีของ BIMSTEC จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน
ส่วนท่านที่ไม่สามารถเดินทางไปงานนิทรรศการ สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ จากเว็บไซต์ BIMSTEC Knowledge Platform ซึ่งเปิดตัวในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๖๕ เช่นกันค่ะ
นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา