17 มิ.ย. 2022 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ดัชนีชายกระโปรง” ยิ่งสั้นยิ่งดี?
Image Credit: Pixabay
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา หากเราต้องการวิเคราะห์หรือคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ ผู้คนที่ทำการวิเคราะห์ก็ต่างคิดค้น และนำวิธีใหม่ๆ มาเป็นตัวชีวัดกันอยู่เสมอ
และหนึ่งในวิธียอดนิยมที่มักใช้กันก็คือ การประเมินสภาพเศรษฐกิจในอนาคตผ่าน “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” หรือ Behavioral Economics
โดยวิธีที่เราคุ้นชิน และได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นการนำราคาของแฮมเบอร์เกอร์ทั่วโลกมาเป็นตัวชี้วัด หรือที่เรียกว่า “ดัชนีบิ๊กแม็ค” (Big Mac Index) ทฤษฎีที่คิดค้นโดยนิตยสาร The Economist
Credit Image: Statista
ซึ่งว่าด้วยการสะท้อนค่าเงินของแต่ละประเทศว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ผ่านหลัก Purchasing-power parity (PPP) ที่มีความเชื่อว่าในท้ายที่สุดราคาสินค้าชนิดเดียวกันในแต่ละประเทศควรจะต้องมีราคาเท่ากันในท้ายที่สุด
หรือจะเป็นในประเทศไทยบ้านเราก็มี “ดัชนีมาม่า” ที่สามารถช่วยในการบอกว่าเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลานั้นๆ เป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ มาม่ามักจะเป็นสินค้าที่ยังมียอดขายที่เติบโตได้สวนทางกับเศรษฐกิจ นั่นก็เพราะผู้คนถังแตก และต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย อันนี้เมคเซ้นต์
Image Credit: Pixabay
แต่โลกยังคงหมุนต่อไป วันนี้...ดัชนีมาม่าก็อาจจะมีข้อมูลที่ไม่ตอบโจทย์เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาม่า กำลังขออนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ (15 มิ.ย. 2565) ปรับราคาจากเดิมซองละ 6 บาท เป็น 7 บาท หลังไม่ได้ปรับมาถึง 14 ปี
หรือหากย้อนไปในอดีตก็มี “ดัชนีคลิปหนีบกระดาษ” ที่ชี้วัดได้ว่าถ้าบริษัทเติบโต จำนวนเอกสารต่างๆ ก็ต้องใช้เยอะขึ้น และส่งผลให้ยอดขายของคลิปหนีบกระดาษเยอะขึ้นไปด้วย แต่ทฤษฎีนี้ก็อาจจะไม่ร่วมสมัยและคาดการณ์ได้ลำบากแล้ว จากความนิยมของคลิปหนีบกระดาษที่ลดลงจากแต่ก่อน
Image Credit: Pixabay
และมาดูทฤษฎีชิ้นเอก ซึ่งย้อนไปเมื่อ ค.ศ.1926 ก็มีอีกหนึ่งทฤษฎีน่าสนใจที่นำเสนอโดย จอร์จ เทย์เลอร์ ซึ่งได้นำเอา “ความสัมพันธ์ระหว่างความยาวของกระโปรงมาเทียบกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ” ในทฤษฎีที่มีชื่อว่า “ดัชนีชายกระโปรง” (Hemline Index)
โดยเทย์เลอร์ได้นำเสนอข้อมูลว่า ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผู้หญิงมักไม่มีเงินซื้อถุงน่อง ทำให้ต้องสวมกระโปรงยาวเพื่อปิดคลุมถุงน่องที่เก่า ไม่ให้คนสังเกตเห็น ต่างจากช่วงเศรษฐกิจดี ที่ผู้หญิงจะนิยมสวมกระโปรงสั้นๆ เพื่ออวดถุงน่องผ้าไหมสวยๆ ของพวกเธอ ซึ่งกระโปรงสั้นๆ จึงกลายเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่ดีไป
1
Image Credit: Pixabay
ในปี ค.ศ. 1930 ก็มีเหตุการณ์ที่สนับสนุนแนวคิดนี้อีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ความยาวชายกระโปรงของผู้หญิงยาวขึ้นจริงๆ เมื่อเทียบกับ ค.ศ. ที่ 20
ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 นักเศรษฐศาสตร์หญิงชื่อ แมรี แอนน์ มาบรีย์ ได้ทำวิจัยเรื่อง “ความเกี่ยวโยงระหว่างความยาวกระโปร่งกับตลาดหุ้นนิวยอร์ก” ในชื่องานวิจัยว่า “ทฤษฎีความยาวกระโปรง” (Skirt Length Theory)
เธอนำเสนอว่า “กระโปรงผู้หญิงยิ่งสั้น แสดงว่าหุ้นยิ่งขึ้น” โดยเกิดเหตุการณ์สนับสนุนคล้ายๆ กับทฤษฎีของเทย์เลอร์ นั่นคือช่วง ค.ศ. 1960 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟูเฟื่องมาก กระโปรงสั้นๆ เป็นที่นิยมสุดๆ ต่างกับช่วงปี ค.ศ. 1970 ที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ และราคาน้ำมันแพง
Credit Image: https://fashionblogga.wordpress.com/2017/10/31/the-hemline-index-if-skirt-lengths-could-talk/
อย่างไรก็ตาม ก็มีคนที่ออกมาแย้งกับทฤษฎีดังกล่าวอยู่เหมือนกันว่าการสวมกระโปรงสั้นไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่นั่นเป็นเพราะผู้หญิงใส่กระโปรงสั้นกันเพราะการทำกิจกรรมทางสังคมของพวกเธอๆ กันมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่ขัดแย้งกันเพิ่มเติม อย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษขาดแคลนผ้าสำหรับใช้ในกองทัพ จนรัฐบาลกำหนดเป็นกฎหมายให้ผู้หญิงเปลี่ยนมาใส่กระโปรงสั้นกัน
หรือแม้แต่ในเกาหลีใต้ ที่หลายคนเชื่อว่าการที่ผู้หญิงใส่กระโปรงสั้นนั้นเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจฝืดเคืองเนื่องจากผู้หญิงต้องการปรับอารมณ์ของตนให้สดใสเพื่อหลีกหนีจากอารมณ์หดหู่จากการที่หุ้นตก และเศรษฐกิจไม่ดีนั่นเอง
Image Credit: https://abfabstyle.com/choose-best-skirt-length/
รวมถึงยังมีทฤษฎีจิตวิทยาหนึ่งที่นำเสนอว่าช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ผู้ชายไม่มีเวลามาเหล่มองสาว พวกผู้หญิงจึงนิยมใส่กระโปรงให้สั้นๆ กันไว้เพื่อดึงดูดผู้ชายให้เหลียวมอง
กลับมาที่ปัจจุบัน ทฤษฎีนี้คงใช้ไม่ค่อยได้แล้ว เพราะการที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเลือกซื้อกระโปรงซักชุด คงจะไม่ได้ดูว่าความยาวของมันว่าสั้นมากน้อยเสมอหูแค่ไหน แต่คงเลือกกันที่รูปแบบ และสไตล์ที่ชอบ รวมถึงความเข้ากับแต่ละบุคคลมากกว่า
และสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่ ลากยาวมาตั้งแต่ COVID-19 ระบาด ราคาพลังงานสูงปริ๊ด จนรัสเซียกับยูเครนตีกัน และจีนกำลังจะบุกไต้หวันไปอีก อย่าว่าแต่ใส่เสื้อผ้าความยาวแค่ไหนเลย เพราะอนาคตไม่รู้จะมีเสื้อผ้าใส่กันอยู่อีกหรือเปล่าด้วย.
Source:
หนังสือ “เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนสิ่งประหลาดให้เป็นเรื่องปกติ”
โฆษณา