21 มิ.ย. 2022 เวลา 08:53 • หุ้น & เศรษฐกิจ
30 หุ้น SET100 ดิ่งแรงสุด 1 วีคหลัง ดันอัพไซด์สูงสุด 63.46%
SET ช่วง 1 วีคหลัง ดิ่งถึง 73.41 จุด หรือ 4.49% ทำนิวโลว์รอบ 1 ปี กดผลตอบแทนหุ้น SET100 ติดลบเฉลี่ย 4.17% ขณะที่ 30 หุ้น SET100 ดิ่งแรงสุด ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย 5.24% หุ้นพลังงาน - นอนแบงก์ติดโผเพียบ พบ GLOBAL ดิ่งแรงสุด 9.13% ฟาก SYNEX อัพไซด์สูงสุด 63.46% วงการแนะสะสมหุ้นเปิดเมือง ก่อนประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น 1 ก.ค.นี้
*** SET ดิ่งทำนิวโลว์รอบ 1 ปี รับเงินเฟ้อพุ่งแรง
 
ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (13 - 20 มิ.ย.65) ปรับตัวลงถึง 73.41 จุด หรือ 4.49% โดยในช่วงดังกล่าว ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลงลึกสุดที่ระดับ 1,544.26 จุด ทำสถิติต่ำสุดใหม่ (นิวโลว์) ในรอบ 1 ปี
สำหรับ สาเหตุหลักที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลงถึง 73.41 จุด ภายใน 1 สัปดาห์ เนื่องจากได้รับปัจจัยลบ จากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลก ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่ง กดดันให้สภาพคล่องส่วนเกินในตลาดทุนลดลง
*** หุ้น SET100 ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 4.17%
 
ทั้งนี้ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจการเคลื่อนไหวราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในดัชนี SET100 พบว่าในช่วงดังกล่าว บจ. SET100 มีผลตอบแทนราคาหุ้นติดลบเฉลี่ย 4.17% โดยมีถึง 88 บริษัท ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นติดลบ ขณะที่ 30 บจ. ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงสุดประกอบด้วย
1
30 หุ้น SET100 ดิ่งแรงสุด 1 วีคหลัง ดันอัพไซด์สูงสุด 63.46%
30 บจ.ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ถึง 15 บริษัท รองลงมา คือ กลุ่มธุรกิจเงินทุน และหลักทรัพย์ที่ติดโผจำนวน 6 บริษัท ซึ่งหากนับเฉพาะ 30 บจ.ดังกล่าว พบว่า ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลตอบแทนราคาหุ้นกลุ่มนี้ ติดลบเฉลี่ย 5.24%
*** GLOBAL ดิ่งแรงสุด 9.13% ช่วง 1 วีคหลัง
 
บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) เป็นบริษัทที่ราคาหุ้นช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลงมากที่สุด 9.13% ขณะที่ เมื่อสำรวจราคาเหมาะสมต่ำสุด - สูงสุด จาก IAA Consensus ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.65 พบว่า GLOBAL มีอัพไซด์ระหว่าง 5.82 - 58.73%
รองลงมา คือ บมจ.ปตท. (PTT) ที่ราคาหุ้นปรับตัวลง 8.9% ขณะที่ เมื่อสำรวจราคาเหมาะสมต่ำสุด - สูงสุด จาก IAA Consensus ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.65 พบว่า PTT มีอัพไซด์ระหว่าง 26.32 - 27.82%
*** พบอีก 11 หุ้น ดิ่งแรงกว่า 5% ช่วง 1 วีคหลัง
 
นอกจากนี้ ยังมีอีกถึง 11 บริษัท ที่ราคาหุ้นช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลงมากกว่า 5% ประกอบด้วย บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) ราคาหุ้นปรับตัวลง 8.47%, บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ราคาหุ้นปรับตัวลง 8.38%, บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ราคาหุ้นปรับตัวลง 8.24%
ด้าน บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ราคาหุ้นปรับตัวลง 7.94%, บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ราคาหุ้นปรับตัวลง 7.48%, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ราคาหุ้นปรับตัวลง 7.09%, บมจ.ดูโฮม (DOHOME) ราคาหุ้นปรับตัวลง 6.21%, บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ราคาหุ้นปรับตัวลง 5.92%
ส่วน บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCPG) ราคาหุ้นปรับตัวลง 5.86%, บมจ.แสนสิริ (SIRI) ราคาหุ้นปรับตัวลง 5.61% และ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ราคาหุ้นปรับตัวลง 5.51%
*** SYNEX อัพไซด์กว้างสุด 49.73 - 63.46%
 
ขณะที่ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) เป็นบริษัทที่ราคาหุ้นซื้อ - ขาย ปัจจุบัน มีอัพไซด์สูงสุดถึง 49.73 - 63.46% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมจาก IAA Consensus โดยราคาหุ้น SYNEX ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลง 4.21%
รองลงมา คือ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ที่ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์ระหว่าง 44.83 - 63.22% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมจาก IAA Consensus โดยราคาหุ้น MTC ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลง 4.40%
*** พบอีก 6 บจ. ราคาหุ้นมีอัพไซด์เกิน 50%
 
ขณะที่ มีอีก 6 บริษัท ที่ราคาหุ้นซื้อ - ขาย ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์มากกว่า 50% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมจาก IAA Consensus ประกอบด้วย บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ที่ราคาหุ้นมีอัพไซด์ 49.51 - 62.14%, บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) ราคาหุ้นมีอัพไซด์ 5.82 - 58.73%
ฟาก บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ราคาหุ้นมีอัพไซด์ 15.15 - 55.56%, บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ราคาหุ้นมีอัพไซด์ 36.93 - 53.41%, บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) ราคาหุ้นมีอัพไซด์ 15.94 - 50.72% และ บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) ราคาหุ้นมีอัพไซด์ (-3.03) - 50.30%
*** กูรูชี้ถึงเวลาสะสมหุ้นเปิดเมือง - พื้นฐานแกร่ง
"กรภัทร วรเชษฐ์" ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า หุ้น SET100 ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสะสมของนักลงทุน เนื่องจากในระยะถัดไป หุ้นดังกล่าวยังมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นได้ จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และ ยังเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างประเทศ (Fund Flow) รวมถึงกองทุนต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้จะเริ่มเห็นการรีบาวด์ขึ้นบ้างก็ตาม แต่ระยะถัดไป หุ้น SET100 ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯยังคงท่าทีปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่ง ดังนั้น การเข้าลงทุน จึงต้องเลือกหุ้นเป็นรายตัว ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยมองว่า จังหวะเข้าซื้อที่ดี คือ รอช่วงดัชนีย่อตัวลงบริเวณ 1,550 จุดอีกครั้ง
ส่วน "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล. เอเซียพลัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ้นในกลุ่ม SET100 ที่มีความน่าสนใจเข้าสะสมในช่วงนี้ ยังเป็นหุ้นที่ได้รับอานสิงส์จากการเปิดเมืองที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง เนื่องจากผลการดำเนินงาน มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ 1 ก.ค.65 หลังรัฐบาลประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ มองว่า จังหวะเข้าซื้อที่เหมาะสม คือ ช่วงที่ดัชนี ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1,570 จุด โดย แนะนำ หุ้นในกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์, สื่อและสิ่งพิมพ์, และ โรงพยาบาลที่มีรายได้หลักจากผู้ป่วยต่างประเทศ เนื่องจากหุ้น 3 กลุ่มดังกล่าว จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบสูงสุด
โฆษณา