21 มิ.ย. 2022 เวลา 09:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อ ‘เงินสด’ คือ ‘ขยะ’ อย่าหยุดลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ
ถ้าวันนี้มีคนเดินมาบอกว่า ‘อย่าถือเงินสดนะ’ หรือ ‘ต้องลงทุนนะ’ เราคงคิดในใจว่า บ้าหรือเปล่า ในภาวะที่เศรษฐกิจก็ยังฟื้นตัวเต็มที่ แถมยังมีสงครามเข้ามาซ้ำเติม ไหนจะภาวะเงินเฟ้อตามหน้าข่าว ทำไมเราจะต้องเอาเงินไปเสี่ยงลงทุนด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งในภาวะเงินเฟ้อนี่แหละ ยิ่งต้องลงทุน
แต่ขอดอกจันตัวโตๆ ว่า การลงทุนไม่ว่าจะในสินทรัพย์อะไรก็ตามล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ดังนั้น เงินที่จะนำมาลงทุน ควรเป็นเงินเย็นที่เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือสามารถรับผลขาดทุนได้ในระยะเวลาหนึ่งเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะยาว
กลับมาที่หัวข้อว่า ทำไมเงินสดถึงเป็นขยะ ทำไมต้องลงทุน ก็เพราะภาวะที่เราเรียกกันว่า ‘เงินเฟ้อ’ ทำให้มูลค่าเงินในกระเป๋าของเราลดลง ยกตัวอย่างเช่น เราเคยซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ชามละ 40 บาท แต่ในภาวะเงินเฟ้อ ก๋วยเตี๋ยวถ้วยเดิมกลับราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น 60 บาท เป็นต้น
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเหรียญ แบงก์ หรืออยู่ในรูปแบบไหนก็ตามแต่ ดันเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็แค่ช่วงต้นเท่านั้น เมื่อฝั่งผู้ขายไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทัน ก็ใช้วิธีการขึ้นราคาสินค้าเพื่อแก้ปัญหา ทำให้เงินที่เราถืออยู่จำนวนเท่าเดิมมีมูลค่าที่แท้จริงลดลง เพราะของมันดันแพงขึ้น
[ ฝากเงินกับธนาคารดีไหม ]
4
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดในใจว่า ไม่เห็นจะยากเลย เราฝากเงินกับธนาคารก็ได้ ฝากออมทรัพย์ก็ได้ดอกเบี้ย ยิ่งฝากประจำดอกเบี้ยก็ยิ่งสูง แถมฝากเงินกับแบงก์ไว้เฉยๆ แทบจะไม่มีความเสี่ยงด้วยซ้ำ
1
แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ ‘ตัวเลขเงินเฟ้อ’ ประจำเดือน พ.ค. 2565 ผลปรากฏว่า เงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงถึง 7.1%
แต่ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์ประจำวันที่ 17 มิ.ย. พบว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ 0.23% เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.49% 6 เดือน 0.56% 12 เดือน 0.59% และ 24 เดือน 0.68%
2
อธิบายให้เข้าใจโดยง่าย คือ เรามีเงิน 100 บาท ในช่วงที่เงินเฟ้อ 7% หรือเทียบบัญญัติไตรยางค์คือ 7 บาท ทำให้เงินในกระเป๋าเรามีมูลค่าที่แท้จริงลดลงเหลือเพียง 93 บาทเท่านั้น
แต่เรารู้ว่า เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เงินที่มีอยู่ได้ด้วยการเอาเงินไปลงทุน แต่เรากลับเลือกลงทุนในเงินฝากของธนาคาร
ซึ่งในกรณีที่ดีที่สุด เช่น ธนาคาร A ให้ดอกเบี้ยสูงสุดในตลาด 2% เทียบบัญญัติไตรยางค์เร็วๆ คือ 2 บาท ทำให้เงิน 93 บาทที่เราโดนกระทบจากเงินเฟ้อ ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 95 บาท
จะเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วเงิน 100 บาทของเราก็ยังหายไป 5 บาทอยู่ดีในภาวะที่เงินเฟ้อของประเทศเราสูงถึง 7% แต่เงินฝากแบงก์ อย่างเก่งก็ได้กลับมาแค่ 2% เท่านั้น
[ ทำไม ‘หุ้น’ ถึงน่าสนใจที่สุด ]
‘Cash is still trash, and equities are trashier’ หรือแปลได้ว่า ‘เงินสดก็ยังคงเป็นขยะ แต่หุ้นเป็นขยะซะยิ่งกว่า’ โดยเป็นคำกล่าวของ ‘เรย์ ดาลิโอ’ ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม TODAY Bizview มีโอกาสพบกับ ‘นาวิน อินทรสมบัติ’ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ที่ยังเห็นโอกาสในตลาดหุ้น
โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียที่คาดว่าปีนี้จะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นภูมิภาคอื่นๆ เพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสเติบโตตามราคาพลังงานโลก โดยให้น้ำหนักการลงทุน
ตลาดหุ้นเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) / ตลาดหุ้นจีน - ค่อนข้างบวกในระยะยาว (Long-term Slightly Positive)
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น - ค่อนข้างบวก (Slightly Positive)
ตลาดหุ้นไทย - ค่อนข้างบวก (Slightly Positive)
ตลาดหุ้นสหรัฐ - เป็นกลาง (Neutral)
ตลาดหุ้นอินเดีย - เป็นกลาง (Neutral)
ตลาดหุ้นยุโรป - ค่อนข้างลบ (Slightly Negative)
สอดคล้องกับคาดการณ์กำไรตลาดหุ้นทั่วโลกปี 2565 จะเติบโต 6.2% แต่ตลาดหุ้นเอเชียเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นอินเดีย 27.7% ตลาดหุ้นจีน 14.8% ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดหุ้นไทย 12.9%
[ ลงทุนหลายอย่าง กระจายความเสี่ยง ]
แต่ถึงอย่างนั้น นักลงทุนก็ควรกระจายการลงทุนไปสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย โดยให้น้ำหนักการลงทุนจากมากไปน้อย คือ
หุ้น - ค่อนข้างบวก (Slightly Positive)
น้ำมัน - เป็นกลาง (Neutral)
ทองคำ - เป็นกลาง (Neutral)
สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ (Fixed Income) - ค่อนข้างลบ (Slightly Negative)
ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) - ค่อนข้างลบ (Slightly Negative)
เงินสด - เป็นลบ (Negative)
สาเหตุที่เงินสดเป็นสินทรัพย์ที่นักวิเคราะห์ให้มุมมองเชิงลบมากที่สุด ก็เพราะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การถือครองเงินสดมีมูลค่าที่แท้จริงลดลง
‘ถือเงินสดไม่ดี เพราะเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง 3-4% ส่วนหุ้นเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับความเสี่ยง แต่สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ตราสารหนี้ยังเป็นทางเลือกลงทุนที่น่าสนใจ แต่แนะนำตราสารที่ Duration ค่อนข้างยาว’
[ ขาลงของ ‘บิตคอยน์’ ยังไม่จบ ]
ส่วนใครที่คิดว่าจะนำเงินไปลงทุนในบิตคอยน์ (BTC) คริปโตเคอร์เรนซีอันดับหนึ่งตลอดกาลนั้น ‘ปรมินทร์ อินโสม’ ผู้ก่อตั้ง Satang ผู้นำธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชน ให้ความเห็นว่า ขาลงของบิตคอยน์ยังไม่จบ เพราะการดำเนินนโยบายด้านดอกเบี้ยอย่างรุนแรง (Hawkish) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังไปช่วยหนุนตลาดขาลงอยู่
1
ถามว่าตลาดตอนนี้น่าลงทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนักเทรดประเภทไหน ถ้าเป็นสายทำกำไรก็อาจทำได้แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการลงแบบซิกแซ็กขึ้นๆ ลงๆ
ถ้าเป็นกลุ่มลงทุนระยะกลาง 1-3 เดือน การลงทุนในเหรียญที่มูลค่าค่อนข้างคงที่ (Stablecoin) มีสินทรัพย์หนุนหลัง ก็ยังพอให้ผลตอบแทนได้ในช่วงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าแบบนี้
หากเป็นกลุ่มลงทุนระยะยาว หรือ DCA ก็สามารถที่จะซื้อเก็บได้ทุกๆ 2 - 3 เดือน ไม่ถึงกับต้องนั่งเฝ้าซื้อเก็บทุกสัปดาห์
ส่วน ‘ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล’ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การที่บิตคอยน์ร่วงลงต่ำกว่า 30,000 เหรียญ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อนในปี 2561
นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทุกคน เรากำลังเผชิญหน้ากับช่วงตลาดหมี ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นกับเหรียญของเราเท่านั้น แต่สถานการณ์ยังขยายวงกว้างไปในตลาดคริปโตฯ และอุตสาหกรรมเทคฯ ต่างๆ
แต่ในช่วงเวลานี้ก็ยังเปิดโอกาสให้พวกเราใช้เวลาจังหวะนี้ในการสร้างอนาคตที่สดใสกว่าเดิม
ส่วนคนนอกวงการคริปโตฯ เช่น นักลงทุนชื่อดังอย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ มองว่า บิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีไม่ได้มีค่าอะไร และถึงเอาบิตคอยน์จากทั่วโลกมากองตรงหน้าและเสนอขายเขาในราคาที่ถูกแสนุ฿ก เขาก็ไม่คิดจะซื้ออยู่ดี
เช่นเดียวกับ ‘บิล เกตส์’ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ บอกว่า คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ที่ว่าด้วย ‘ทฤษฎีคนโง่กว่าแบบ 100%’ เพราะการที่สินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงโอเวอร์อยู่แล้ว จะมีมูลค่าสูงขึ้นอีกต่อเมื่อมีนักลงทุน (ที่โง่กว่า) ยินดีจะจ่ายเพิ่มเท่านั้น
1
[ ย้อนรอยภาวะเงินเฟ้อรอบล่าสุด ]
กลับมาที่ภาวะเงินเฟ้อรอบนี้ ต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ที่หลายประเทศต้องใช้มาตรการตั้งแต่ปิดสถานที่ต่างๆ ปิดเมือง ไปจนถึงการปิดประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบก็มาตกกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น
หลายคนตกงาน หลายบริษัทต้องปิดตัวลง ยิ่งอุตสาหกรรมที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว หรือธุรกิจที่มีขนาดเล็ก เช่น SMEs เหล่านี้ ก็ถูกผลกระทบให้ล้มไปได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ
ที่รัฐบาลแต่ละประเทศทำได้ คือ การใช้มาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการให้เงินอุดหนุน เพื่อให้ประชาชนในประเทศของตนยังใช้ชีวิตต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤต
โดยเฉพาะสหรัฐที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์เงิน หรือการซื้อตราสารต่างๆ เพื่อพยุงเสถียรภาพของตลาด ซึ่งก็คือมาตรการ QE (Quantitative Easing) นั่นเอง
เฉพาะปีโควิด-19 (2563) สหรัฐฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างหนัก ทำให้งบดุล (Balance Sheet) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) พุ่งทะลุ 260 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว หากเทียบให้เห็นภาพคือสูงกว่าจีดีพีของประเทศไทยในปีเดียวกันกว่า 16 เท่า
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีถัดมา (2564) สหรัฐยังตัดสินใจฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขนาดงบดุล Fed พุ่งทะลุ 300 ล้านล้านบาท และในปี 2565 มูลค่างบดุลของธนาคารกลางสหรัฐก็ยังทรงตัวสูงเหนือระดับ 310 ล้านล้านบาทต่อเนื่อง
[ เงินล้นระบบ-ผลิตไม่ทัน-ต้องขึ้นราคา ]
แม้ว่า Fed จะเริ่มแผนลดขนาดงบดุล หรือมาตรการ QT (Quantitative Tightening) ภายหลังเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางหลังวิกฤตโควิด-19 โดยส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปี 2564
แต่ปริมาณเงินที่ล้นระบบ และความต้องการบริโภคที่กลับมาหลังหลายประเทศเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตตามปกตินั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาอุปทาน หรือความต้องการขาย ไม่เพียงพอกับอุปสงค์ หรือความต้องการซื้อ
เพราะยังมีหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
โดยสัญญาณแรกที่เกิดขึ้น คือ ปัญหา Supply Chain Disruption หรือปัญหาขาดแคลนสินค้า ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยจากเหตุการณ์เรือขนส่งสินค้า Evergreen ขวางคลองสุเอซในช่วงต้นปีก่อน
และในปี 2565 ปัญหาเงินเฟ้อที่หลายสำนักคาดการณ์ก็ปรากฏชัดเจนขึ้น และชัดเจนขึ้นเมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ดันให้ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนของแทบทุกธุรกิจ ทะยานขึ้นทะลุ 100 เหรียญ ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ ราคาของแพงอย่างหนัก
แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้จะคาดการณ์จุดจบได้ยาก ทั้งจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และตลาดน้ำมันที่ซ้ำเติมต้นทุนธุรกิจทั่วโลก แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ‘อย่าหยุดลงทุน’ แต่อย่าลืมว่าต้องเป็นการลงทุนที่ไม่เดือดร้อนตัวเอง
ที่มา
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
โฆษณา