22 มิ.ย. 2022 เวลา 03:34 • อาหาร
*** อิทธิพลต่างชาติ ในอาหารญี่ปุ่น ***
เวลาพูดถึงอาหารญี่ปุ่น เพื่อนๆ จะนึกถึงเมนูไหนครับ? ซูชิ? เทมปุระ? เนื้อวากิว? แกงกะหรี่? แล้วทราบหรือเปล่าว่า เมนูที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ไม่มีอะไรเป็น “ญี่ปุ่นแท้” เลยแม้แต่อย่างเดียว!?
อาหารญี่ปุ่นก็คล้ายอาหารไทย คือได้รับแรงบันดาลใจมาจากประเทศอื่นๆ มาปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น จนฟิวชันเป็นอาหารชนิดใหม่ซึ่งคืออาหารญี่ปุ่นเซ็ตที่เราเห็นในปัจจุบัน
1
ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับวัฒนธรรมต่างชาติ ที่เข้ามามีบทบาทต่อวิถีการกินของญี่ปุ่นตลอดประวัติศาสตร์ โดยจะไล่ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคต้นๆ ยาวไปถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองและปัจจุบันนะครับ
*** จุดเริ่มต้นการกินแบบญี่ปุ่น ***
คนญี่ปุ่นยุคแรก หรือที่เรียกกันว่า “ยุคโจมง” (縄文時代) มีวัฒนธรรมการกินคล้ายกับมนุษย์ทั่วๆ ไปในอารยธรรมอื่น กล่าวคือ เป็นนักล่าสัตว์หาของป่า เมื่อล่าตัวอะไรมาได้ก็กินตามนั้น จนกระทั่งสักพันปีก่อนคริสตกาล หรือใน “ยุคยาโยย” (弥生時代) คนญี่ปุ่นจึงค่อยตั้งถิ่นฐาน เรียนรู้การทำเกษตร
1
เนื่องจากญี่ปุ่นมีฤดูกาลชัดเจน คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ทำให้พวกเขาต้องวางแผนปลูกพืชให้สอดคล้องกับธรรมชาติอยู่เสมอ โดยชาวญี่ปุ่นเลือกปลูกข้าวเป็นหลักเพราะมีแหล่งน้ำเหมาะสม และข้าวยังเป็นผลผลิตที่เก็บไว้ได้นาน การเกษตรที่มีฤดูกาลแน่นอนนี้ได้สร้างความมั่นคงทางอาหาร และทำให้อารยธรรมญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก
ภาพแนบ: ชาวญี่ปุ่นยุคยาโยยปลูกข้าว
*** เริ่มรับอิทธิพลต่างชาติ ***
เวลาผ่านไปจนถึงยุคยามาโตะ (大和時代) หรือราวค.ศ. 300 - 710 ญี่ปุ่นได้เปิดรับวัฒนธรรมจากจีนอย่างมาก ทั้งตัวอักษร, กฎหมาย, รูปแบบการศึกษา, การแพทย์ ฯลฯ รวมไปถึงความเชื่อ ทั้งศาสนาพุทธและลัทธิขงจื้อ ความเชื่อของพุทธแนวจีนนั้นทำให้เกิดแนวคิด “กินเนื้อเป็นบาป” ขึ้น
ปีค.ศ. 675 จักรพรรดิเทนมูได้ออกกฎให้ประชาชนห้ามกินเนื้อสัตว์จำพวก วัว, ม้า, ไก่, หมา, ลิง (สองตัวสุดท้ายคนนิยมกินเป็นยา) ในช่วงระหว่างเดือนสี่ถึงเก้า แต่ยังให้รับประทานพวกกวางและหมูป่าได้ โดยในเวลาต่อมาช่วงศตวรรษที่ 8 - 9 จักรพรรดิหลายองค์ก็จำกัดประเภทสัตว์ที่กินได้มากขึ้นเรื่อยๆ
1
ภาพแนบ: จักรพรรดิเทนมู
ปลายศตวรรษที่ 9 ราชวงศ์ถังอันยิ่งใหญ่ของจีนเสื่อมลง กระแสวัฒนธรรมจีนในญี่ปุ่นก็ซาตาม ส่งผลให้ความคิดเรื่องกินเนื้อเป็นบาปเจือจางลงไปด้วย (แม้จะยังมีการเหยียดอาชีพคนเชือดสัตว์ไปอีกยาวนานก็ตาม) แต่ข้อห้ามกินเนื้อสัตว์บกก็มีมาๆ หายๆ ไปจนถึงยุคหลัง
1
ภาพแนบ: คนเชือดสัตว์จัดเป็นชนชั้นจัณฑาลของสังคมญี่ปุ่นจนกระทั่งมีการปฏิรูปประเทศ
ท่ามกลางการแบนเนื้อสัตว์บก สิ่งที่คนญี่ปุ่นกินกันแพร่หลายจึงเป็นอาหารทะเล
เชื่อไหมครับว่า มีเมนูอาหารทะเลดังอย่างหนึ่ง ที่เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นได้รับไปจากวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงของเรานี่เอง? ผมให้เวลาท่านผู้อ่านทาย 3 วินาทีก่อนเฉลยนะครับ…
เฉลยนะครับ...
3…
2…
1…
เมนูที่ว่าคือ… “ซูชิ” ครับ
ถามว่าซูชิได้แรงบันดาลใจอะไรจากอาหารแถวบ้านเราไปล่ะ? คำตอบนั้นดูแปลกหน่อยคือ “ปลาร้า-ปลาส้ม”
1
คือซูชิแต่ก่อน มันไม่ได้เป็นข้าวปั้นแบบที่เราคุ้นเคยกันสมัยนี้ แต่เป็นปลาที่ดองกับข้าว เพื่อเก็บรักษาให้กินได้นานๆ เรียกว่า “นาเรซูชิ” (熟寿司) เชื่อกันว่ากรรมวิธีนี้ญี่ปุ่นรับมาพร้อมๆ กับการติดต่อค้าขาย
ภาพแนบ: ปลาร้า-ปลาส้ม (บน) นาเรซูชิ (ล่าง)
มีการกล่าวถึงนาเรซูชิไว้ในบันทึก “รวมเรื่องเล่าจากอดีต” (คอนจาคุโมโนกาตาริ 今昔物語) สมัยเฮอันหรือช่วงค.ศ. 794 - 1185 ว่า ถึงจะอร่อย แต่มีกลิ่นไม่ค่อยพึงประสงค์
เชื่อกันว่าเพราะกลิ่นนี้เอง ทำให้ในเวลาต่อมา คนญี่ปุ่นจึงเลิกดองปลา แล้วหันทำเป็นข้าวหมักน้ำส้มสายชูกินกับปลาสดแทน จึงเกิดเป็นซูชิที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน
*** ความเปลี่ยนแปลงจากตะวันตกครั้งแรก ***
ในปี 1543 ตรงกับยุคมูโรมาจิ (室町時代) ชาวโปรตุเกสได้เดินเรือเข้ามาค้าขายกับญี่ปุ่น เป็นจุดเริ่มต้นของ “การค้าขายนันบัง” (南蛮貿易) ที่ญี่ปุ่นเปิดตลาดกับตะวันตก และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้รู้จักกับปืนไฟฝรั่งเป็นครั้งแรก
ภาพแนบ: เรือโปรตุเกสเทียบท่าญี่ปุ่น
อนึ่ง คำว่า “นันบัง” ในที่นี้ หากแปลตรงตัวหมายถึง “พวกป่าเถื่อนจากทางใต้” ญี่ปุ่นเห็นว่าฝรั่งป่าเถื่อนเนื่องจาก “กินข้าวด้วยมือแทนที่จะเป็นตะเกียบ แสดงออกโผงผางไม่ควบคุมตัวเอง อ่านภาษาของเราไม่ได้”
1
…ทั้งนี้ก่อนชาวตะวันตกจะเข้ามา ญี่ปุ่นใช้คำว่านันบังเรียกคนจากเกาะริวกิว (โอกินาว่า), ทะเลจีนใต้, ทะเลอินเดีย รวมถึงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเราๆ เพราะญี่ปุ่นมองว่าตัวเองเจ๋งสุด คล้ายกับที่จีนก็คิดว่าตัวเองเจ๋งสุด เลยเรียกคนชาติอื่นว่าพวกป่าเถื่อนอุมบะไว้ก่อน (แต่นักวิชาการบางส่วนวิเคราะห์ว่า คำนี้เป็นการเรียกอะไรที่ exotic โดยรวม ไม่ได้เหยียด)
1
ภาพวาด: กลุ่ม "คนเถื่อน" ในแดนญี่ปุ่น
ในการค้าขายนันบัง ชาวตะวันตกได้นำวัฒนธรรมของตนเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทั้งด้านศาสนา ศิลปกรรม เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงอาหารการกิน
1
อาหารคาวอิทธิพลโปรตุเกสที่เรารู้จักกันดีคือ “เทมปุระ” ซึ่งเป็นการนำเนื้อหรือผักไปชุบแป้งทอด เชื่อกันว่า เทมปุระ มาจากศัพท์ภาษาโปรตุเกสว่า เทมโปรา (tempora) ซึ่งนอกจากจะร่วมรากศัพท์กับคำว่า “ชั่วคราว” (เทมโปราเรีย) แล้ว ยังอาจหมายถึงเทศกาลถือศีลอดช่วงท้ายปีของโบสถ์คริสต์ (Temporas) ด้วย ซึ่งหลังละศีลบาทหลวงโปรตุเกสจะกินของชุบแป้งทอดให้อิ่มท้องนั่นเอง
ส่วนของหวานดังๆ ก็มีเช่น "เค้กคาสเตลลา" ซึ่งเป็นเค้กที่คนเดินเรือนิยมเพราะเก็บไว้ได้นาน มีต้นแบบมาจาก “โบโล เดอ คาสเตลา” หรือเค้กเมืองคาสตีล
"คอนเปอิโต" ขนมน้ำตาลหลากสีที่บางท่านอาจเคยเห็นจากอนิเมชั่นของสตูดิโอจิบลิ โดยมิชชันนารีนาม หลุยส์ ฟรอยส์ ได้นำของหวานชื่อ “คอนเฟโต” มาถวายขุนศึก โอดะ โนบุนากะ ในปี 1569 เพื่อแลกกับการขอเผยแพร่ศาสนา
ภาพแนบ: "คอนเปอิโต" ในภาพยนตร์อนิเมชั่น Spirited Away
เวลาผ่านไป ล่วงถึงยุคเอโดะรัฐบาลญี่ปุ่นยุคนั้นเห็นว่าศาสนาคริสต์ชักมีอิทธิพลมากจนน่ากลัว โชกุนโตกุกาว่า อิเอะมิทสึ เลยสั่งปิดประเทศในปี 1633 เพื่อขจัดอิทธิพลต่างชาติ ซึ่งก็ใช่ว่าจะปิดตาย เพราะยังมีพื้นที่ค้าขายให้เหลือเป็นจุดๆ โดยมีชาติตะวันตกกลุ่มเดียวที่อนุญาตให้มาได้คือพวกดัชต์หรือฮอลันดา เพราะพวกนี้เห็นแก่การค้าขายไม่เห็นแก่การสอนศาสนา
1
ภาพแนบ: เดจิมะ เกาะเทียมที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นกับดัชต์
ญี่ปุ่นปิดประเทศไปนานนับร้อยปี จนพลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี จากอเมริกาได้เดินกองเรือมาเจรจาแกมบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี 1853 หรือที่เรียกว่า “วิกฤตกองเรือดำ” ญี่ปุ่นหวาดกลัวการตกเป็นอาณานิคม จึงยอมเซ็นสัญญา
1
…เมื่อสถานการณ์สุกงอม ชาวญี่ปุ่นหัวก้าวหน้าได้ลุกขึ้นมาล้มโชกุนกับรัฐบาลทหารในปี 1868 แล้วคืนอำนาจให้พระจักรพรรดิ (ก่อนหน้านี้จักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นประมาณหุ่นเชิดของโชกุน หรือผู้นำทหารมาหลายร้อยปี) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแบบตะวันตก เหตุการณ์นี้เรียกว่า การปฏิรูปเมจิ (明治維新) ตามชื่อพระจักรพรรดิเมจิ
1
ภาพแนบ: กองเรือดำของพลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี มาถึงญี่ปุ่น
*** เปิดประเทศเปลี่ยนตัวเอง ***
จักรพรรดิเมจิมีดำริว่า ความเป็นตะวันตกจะช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ จึงรับเอาอารยธรรมฝรั่งเข้ามาเป็นอันมาก มีการกำหนดสำเนียงกลาง, การสร้างรถไฟ, การส่งคนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้วิทยาการ ก่อนนำความรู้มาพัฒนาบ้านเกิดตนเองต่อไป
1
ภาพแนบ: งานเปิดทางรถไฟสายแรกของญี่ปุ่น จากชิมบาชิ (โตเกียว) ไปโยโกฮาม่า ปี 1872
การปรับเปลี่ยนด้านอาหารที่สำคัญในยุคนี้ คือ การเลิกแบนเนื้อแดง จำพวกวัว ม้า ทั้งนี้เพราะจักรพรรดิเมจิมองว่าฝรั่งแข็งแรงเพราะกินเนื้อ เลยสนับสนุนให้ประชาชนกินเนื้อและทำอาหารแบบฝรั่ง เรียกว่า โยโชกุ (洋食 แปลตรงตัวคือ อาหารตะวันตก)
1
การเลิกแบนเนื้อวัวทำให้คนญี่ปุ่นคิดพัฒนาสายพันธุ์วัวที่มีเนื้ออร่อย …เราจึงต้องขอบคุณแนวคิดดังกล่าวที่ทำให้เราได้กินเนื้อวากิวกันในทุกวันนี้…
1
สำหรับโยโชกุ ถึงชื่อบอกว่าเป็น “อาหารฝรั่ง” ก็จริง แต่คนญี่ปุ่นก็ได้ปรับสูตรให้เป็นของตัวเอง จนสามารถเรียกได้เต็มปากว่ามันเป็น “อาหารญี่ปุ่น” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย อาทิ…
1
ข้าวราดแกงกะหรี่ หรือ “คาเรไรสุ” เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นได้รับมาจากอังกฤษ ซึ่งรับมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง โดยการที่อังกฤษขนเครื่องเทศจากอินเดียมายังญี่ปุ่น ทำให้เกิดเมนูแกงกะหรี่ขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1870s
1
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ทำให้เมนูนี้ฮิตขึ้นมาคือ “สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น” ระหว่างปี 1904 - 1905 ตอนนั้นกองทัพเรือญี่ปุ่นประสบปัญหา ลูกเรือเป็นโรคเหน็บชามาก เหล่าผู้บังคับบัญชาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะกินอาหารไม่ครบห้าหมู่ จึงศึกษาว่ากองทัพเรือประเทศอื่นๆ ทานอะไร
1
ภาพแนบ: สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
…พวกเขาพบว่าทัพอังกฤษอันยิ่งใหญ่มักรับประทานแกงกะหรี่ซึ่งมีสารอาหารครบถ้วน ทำง่าย และทำได้ทีละมากๆ เหมาะกับการเลี้ยงคนเยอะๆ เลยพัฒนาสูตรแล้วยึดเป็นเมนูหลักประจำทัพเรือ
1
หลังสงครามจบ ทหารปลดประจำการก็นำแกงกะหรี่สูตรมาตรฐานดังกล่าวไปทำเองที่บ้าน กลายเป็นคาเรไรสุแบบที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้
ภาพแนบ: แกงกะหรี่แบบที่ทานในกองทัพเรือญี่ปุ่น
อนึ่ง คาเรไรสุมีญาติห่างๆ คือ ข้าวสตูว์เนื้อ หรือ “ฮายาชิไรสุ” ชื่อ “ฮายาชิ” ฟังดูญี่ปุ่น แต่จริงๆ มันเพี้ยนมาจากคำว่า hashed ที่แปลว่า “ผสม” เมนูนี้เกิดขึ้นในปี 1868 จากวิศวกรชาวฝรั่งเศสที่ทำงานในเหมืองจังหวัดเฮียวโก พวกเขาใช้ซอสเดมิกลาส (ซอสสเต็กฝรั่งเศส) ต่างน้ำแกง ใส่เนื้อสไลด์ กินกับข้าว
1
ภาพแนบ: ฮายาชิไรสุ
อาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฝรั่งเศสในช่วงนี้ยังมีอีกอย่างหนึ่งคือ “โคโรเกะ” แปลงมาจาก “คร็อกเก้” เป็นเมนูมันฝรั่งบดชุบแป้งทอด ที่อาจจะมีไส้เป็นเนื้อบด ซีฟู้ด หรือของอื่นๆ แล้วแต่จะผสมลงไป เชื่อว่าฝรั่งเศสนำเมนูนี้มาญี่ปุ่นในปี 1887
1
ภาพแนบ: โคโรเกะ
*** หลังสงครามใหญ่ ***
การปฏิรูปเมจิทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาแบบก้าวกระโดดในทุกด้าน รวมถึงการทหาร ญี่ปุ่นรบกับใครในภูมิภาคก็ชนะหมด เลยฮึกเหิมมาก ถึงกับแหลมไปรบกับอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่สอง
เนื่องจากญี่ปุ่นประสบความพ่ายแพ้ จึงตกอยู่ในการปกครองของอเมริกาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง …และแน่นอนครับว่า อาหารก็มีการเปลี่ยนแปลงเพราะอิทธิพลอเมริกัน
มีเรื่องเล่าว่า ขณะชนะสงครามใหม่ๆ ขณะพลเอก ดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้นำทัพอเมริกาได้ตั้งฐานบัญชาการที่โรงแรม New Grand Hotel ที่เมืองโยโกฮาม่า ตอนนั้นเขากับลูกน้องกินสปาเก็ตตี้กับซอสมะเขือเทศ ซึ่งเป็นของจากกองเสบียงอเมริกา
พ่อครัวประจำโรงแรมชื่อ ชิเงทาดะ อิริเอะ เกิดไอเดียเลยสร้างสรรค์เมนูใหม่ชื่อ “สปาเก็ตตี้นาโปลิตัน” (ไม่ได้มีในนาโปลี จะว่าไปแล้วก็อารมณ์เดียวกับข้าวผัดอเมริกันบ้านเราไม่มีในอเมริกาน่ะครับ)
ภาพแนบ: สปาเก็ตตี้นาโปลิตัน เอกลักษณ์ของญี่ปุ่น
หลังสงคราม ญี่ปุ่นปลูกข้าวไม่พอต่อความต้องการ ต้องพึ่งพาการปันส่วนแป้งสาลีจากอเมริกา รัฐบาลจึงมีการรณรงค์ให้นำแป้งไปทำขนมปังหรือบิสกิต เพราะเป็นของที่อยู่ท้องได้นาน
ในปี 1947 อเมริกาได้วางระบบอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน เป็นขนมปัง, นม และซุป (หรือกับง่ายๆ) คนญี่ปุ่นจึงนิยมกินขนมปังมากขึ้นกว่าสมัยก่อน และพัฒนาเป็นขนมปังแบบของตัวเอง
1
หนึ่งในอาหารที่ต้องพูดถึงคือ “แฮมเบอร์เกอร์” โดยตั้งแต่ เดน ฟูจิตะ ได้เปิดร้านแมคโดนัลสาขาแรกของญี่ปุ่นในปี 1971 ก็มีการแทรกความเป็นญี่ปุ่นลงไป โดยการผลิตเบอร์เกอร์ไก่เทอริยากิ และเบอร์เกอร์ไก่ทอดญี่ปุ่น แต่แน่นอนว่ามันพัฒนาไปได้มากกว่านั้น…
1
ภาพแนบ: เบอร์เกอร์ไก่เทอริยากิที่ญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ซาโตชิ ซากุราดะ เป็นพนักงานบริษัทที่ลอสแองเจลิส ระหว่างเขาอยู่อเมริกาก็ชอบกินแฮมเบอร์เกอร์บ่อยๆ และมีความคิดอยากกลับมาเปิดร้านของตัวเองที่ญี่ปุ่น จึงก่อตั้งร้าน MOS Burger ขึ้นที่โตเกียวในปี 1972 หนึ่งปีหลังจากแมคโดนัล และโด่งดังด้วยเบอร์เกอร์เนื้อเทอริยากิ…
ภาพแนบ: เบอร์เกอร์เนื้อเทอริยากิของมอส
แต่ของที่ทำให้มอสโดดเด่นจริงๆ คือ การทำเมนู “เบอร์เกอร์ข้าว” ขึ้นมาในปี 1987
เบอร์เกอร์ข้าวก็ตามชื่อ คือใช้ข้าวญี่ปุ่นมาทำเป็นแผ่น ประกบหน้าหลังเหมือนก้อนขนมปัง กินกับไส้แบบญี่ปุ่น เช่น ยากินิคุ หมูผัดขิง กุ้งเทมปุระ ปลาหมึกทอด ฯลฯ เรียกได้ว่าเหมือนข้าวปั้นญี่ปุ่น พอๆ กับที่เหมือนแฮมเบอร์เกอร์อเมริกา ถือเป็นความสร้างสรรค์อันไม่มีที่สิ้นสุดของคนชาตินี้
1
ภาพแนบ: เบอร์เกอร์ข้าวของมอส
*** อาหารของปัจจุบัน ***
ทุกวันนี้ญี่ปุ่นยังรับวัฒนธรรมต่างชาติมาปรับเป็นอาหารของตัวเองอยู่เรื่อยๆ และมักปรับเป็นอาหารที่เจ้าของแท้ๆ เห็นแล้วได้แต่ยืนงง อย่างล่าสุดคือ “ผักชี” (パクチー) ที่แม้จะเป็นแค่วัตถุดิบ ไม่ใช่เมนูอาหาร แต่ก็ทำให้คนญี่ปุ่นมากมายหันมากิน และประกอบอาหารใหม่ๆ ให้มีความเป็นญี่ปุ่น เช่น เทมปุระผักชี แกงกะหรี่ผักชี น้ำแข็งไสผักชี (ครับ…)
1
จะว่าไป ปรากฏการณ์คล้ายกันนี้ก็เกิดขึ้นกับไทย เช่นที่รับวัฒนธรรมกินเส้นมาจากจีน แล้วปรับเป็นผัดไทย หรือที่รับแกงจากอินเดียมามากมายแล้วปรับเป็นแบบตนเอง
1
ดังนี้จะเห็นได้ว่า อาหารนั้นเหมือนกับสะพานทางวัฒนธรรมซึ่งแต่ละชาติมีการแลกเปลี่ยนปรับปรุงมาโดยตลอด สำหรับญี่ปุ่นเอง แม้จะรับวัฒนธรรมมาจากต่างชาติ แต่ก็สามารถนำมาปรับจนกลายเป็นอาหารที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูงจนใครก็ตามที่เห็นก็สามารถยอมรับได้อย่างไม่มีข้อกังขาว่า “นี่แหละญี่ปุ่น”
1
::: อ้างอิง :::
- edition (ดอต) cnn (ดอต) com/travel/article/narezushi-sushi-japan/index.html
- thediplomat (ดอต) com/2013/07/sushi-a-brief-history-of-japans-most-iconic-food/
- japantimes (ดอต) co (ดอต) jp/life/2015/05/15/food/nanban-dishes-fit-barbarian/
- guide (ดอต) michelin (ดอต) com/hk/en/article/features/tempura_en
- kikkoman (ดอต) co (ดอต) jp/kiifc/foodculture/pdf_09/e_002_008.pdf
โฆษณา