23 มิ.ย. 2022 เวลา 09:21 • ประวัติศาสตร์
*** ศาสนาผี ศาสนาที่ถูกลืม ***
คุณคิดว่า คนไทยนับถือศาสนาอะไรมากที่สุด เป็นศาสนาพุทธใช่หรือไม่?
...ลองสังเกตดูง่ายๆ เวลาเข้าวัดไทย คุณจะพบทั้ง รูปปั้นพระพิฆเนศ, เจ้าแม่กวนอิม, ศาลปู่ย่า, ต้นตะเคียน, พระราหู และพระพุทธรูปอยู่ร่วมกันโดยที่คุณรู้สึก “ก็ปกตินี่”
1
คำตอบคนไทยนับถือสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนาไทย” ซึ่งเป็นการผสมผสามของสามศาสนาได้แก่ พุทธ พราหมณ์ และผี สำหรับศาสนาผีนั้นคือความชื่อโบราณที่ยังแฝงอยู่ในวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และความคิดของเรา แต่กลับมักถูกลืมต้นตอไป
1
ศาสนาผีเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถกราบไหว้พระพิฆเนศ และเจ้าแม่กวนอิมไปพร้อมกัน เราไม่ได้นับถือพระพิฆเนศแบบคนอินเดีย และไม่ได้ไหว้เจ้าแม่กวนอินแบบคนจีน แต่เรานับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละอย่างเหมือนเป็น "ผี" ตนหนึ่งที่ให้คุณให้โทษได้
1
ในบทความดังกล่าว เราจึงจะมาพูดถึงความเชื่อที่แม้สังคมอาจลืมชื่อไปแล้ว แต่มันยังคงอยู่ และการได้เรียนรู้เรื่องนี้ จะทำให้เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น...
ศาสนาผี (Animism) หรือที่เรียกแบบวิชาการว่า “วิญญาณนิยม” คือศาสนาแรกของโลก เป็นความเชื่อที่มนุษย์หลายๆ อารยธรรมมีคล้ายๆ กันว่า “รอบกายเรามีวิญญาน, ผี, หรือตัวตนเหนือธรรมชาติสถิตอยู่” โทรศัพท์ที่ใช้ก็มีวิญญาณ บ้านที่อยู่ก็มีวิญญาณ ห้องน้ำที่เข้าก็มีวิญญาณ ฯลฯ และเราเองก็มีวิญญาน เป็นส่วนหนึ่งของวงจรตามธรรมชาตินั้น
1
ที่หลายอารยธรรมมีคล้ายกันเพราะเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นบนสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์
ในศาสนาผีนั้น “ผี” เป็นได้ทั้งผีดีและผีร้าย และคำว่าผีสามารถใช้เรียกได้ทั้งพระเจ้า (ผีแถน) และตัวตนที่สถิตในบ้าน (ผีเรือน)
1
เช่นกันคนที่เชื่อในศาสนาผีมักสามารถกราบไหว้ผีได้หมด ไม่แบ่งแยกว่าเป็นผีดีหรือผีร้าย โดยหากเป็นผีดีก็ไหว้เพื่อขอให้พรเรา หากเป็นผีร้ายก็ไหว้เพื่อขอให้ไม่ทำร้ายเรา ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นการไหว้จอมปลวก ไหว้ชูชก ไหว้ควายสามเขา (อะไรที่ดูผิดธรรมชาติแปลว่ามีพลังวิญญานอยู่มากจึงควรไหว้ได้) ไม่ได้แปลว่าคนที่เชื่อในศาสนาผีงมงายกว่าศาสนาอื่น แต่เป็นเพราะมีพื้นฐานความเชื่อแบบดังกล่า
1
ศาสนาผีในไทยมีเอกลักษณ์คือ คอนเซปต์ที่เรียกว่า “ขวัญ”
1
ขวัญคือสิ่งที่มองไม่เห็นที่อยู่ในตัวเราทุกคน มันไม่เหมือนวิญญานของศาสนาพุทธทีเดียว
1
ขวัญยังมีอยู่ในทุกที่ ทั้งในธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้าง ไร่นาก็มีขวัญ จอบเสียมก็มีขวัญ
ขวัญจะมีอยู่หน่วยเดียวแต่กระจายอยู่หลายจุดในร่างกาย จำนวนจุดที่กระจายนั้นต่างกันตามความเชื่อของชาวไทยแต่ละเผ่า คนไทยบางเผ่าบอกว่ามีขวัญ 32 แห่ง ไทยบางเผ่าบอกว่ามี 80 แห่ง
แต่ไม่ว่าใครจะมีเท่าไหร่ ขวัญที่สำคัญที่สุดของมนุษย์จะสถิตอยู่กลางศีรษะ บนหัวคนผมจะขึ้นเวียนเป็นวงกลมจากกลางหัว ตรงที่วนคล้ายๆ ก้นหอยนั่นเองคือ “จอมขวัญ” (ลักษณะเดียวกับลายที่ปรากฏในหม้อโบราณบ้านเชียง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นลายที่สถิตของขวัญ)
1
ขวัญนั้นสามารถ “หาย” หรือหลุดออกจากร่างได้ หากขวัญหลุดออกจากร่างใครคนๆ นั้นจะป่วย และหากขวัญหาทางกลับไม่เจอ คนๆ นั้นก็จะตายในที่สุด
...เหตุผลนี้เองคนไทยจึงให้ความสำคัญกับหัวมากๆ และมีความเชื่อห้ามเล่นหัว เพราะตรงนั้นเป็นที่อยู่ของขวัญสำคัญ ทำอะไรไม่ถูกไม่ควรอาจทำให้พลังตก…
ภาพแนบ: ขวัญบนหัว
ตามตำนาน “พระนางจามเทวี” ซึ่งเป็นผู้ปกครองอาณาจักรหริภุญชัยเล่าว่า เนื่องจากนางสวยและเก่ง เลยมีเจ้าเมืองหนึ่งชื่อ "ขุนหลวงวิลังคะ" มาพยายามสู่ขอ
นางรู้ว่าหากปฏิเสธ ก็คงต้องเกิดสงคราม เลยออกอุบายให้พุ่งหอก (บ้างว่าธนู) จากเมืองของหลวงวิลังคะมายังหริภุญชัยซึ่งอยู่ไกลมาก
จามเทวีรู้ว่าหลวงวิลังคะเก่ง แถมขว้างหอกครั้งแรกก็เกือบถึงเมือง เลยทำทีเป็นส่งกำนัลเป็นหมวกไปให้ โดยแอบใส่ผ้าซับประจำเดือน (บ้างว่าขนบริเวณอวัยวะเพศ) ไว้
พอขุนหลวงวิลังคะสวมหมวก ขวัญก็หาย นอกจากขว้างหอกไม่ได้ ยังเสียกำลังใจและตายไปในที่สุด อนิจจา…
2
ดังนั้นเมื่อขวัญหาย คนไทยก็จะทำมีพิธี “บายศรีสู่ขวัญ” เพื่อ “เรียกขวัญ” กลับมา นอกจากนี้ยังต้องมีการถวายของให้แก่ขวัญ (หรือที่เรียกว่า “ของขวัญ”)
1
นอกจากนี้ หากใครเคยผ่านงานรับน้อง อาจผ่าน “พิธีรับขวัญ” ที่มีการนำด้ายขาวหรือสายสิญจน์มาพันข้อมือ นั่นก็เพื่อให้ขวัญอยู่กับตัวนั่นเอง
2
ภาพแนบ: สายสิญจน์
งานศพของคนไทยโบราณ เป็นงานรื่นเริง มีการเล่นดนตรีกันคึกโครม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเรียกขวัญให้กลับสู่กาย ในงานนี้หมอขวัญ (หมอแปลว่า technician หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หมอขวัญแปลว่าผู้เชี่ยวชาญด้านขวัญ) จะทำการสวดเป็นเสียงกังวานเพื่อเรียกขวัญเป็นเวลาหลายวัน แต่เมื่อทำการเรียกขวัญไม่สำเร็จ และคนตายไปแล้ว หมอขวัญก็จะหยุดเรียก และเปลี่ยนไปทำการสวดเพื่อ “ส่งขวัญไปเมืองฟ้า” แทน
มรดกของสิ่งนี้เห็นได้จากงานศพบางแห่งของไทยยังมีกิจกรรมรื่นเริงอยู่ และพระสงฆ์ไทยนั้นสวดพระอภิธรรมเป็นลักษณะยืดยาวกังวาน และสวดหลายวัน แต่เปลี่ยนเนื้อหาที่สวดนั้นจากเนื้อหาแบบศาสนาผีเป็นเนื้อหาแบบพุทธ เช่นที่ชี้ให้ปลงอนิจจังเห็นสัจธรรมของชีวิต ประเพณีนี้เป็นประเพณีไทย ไม่ใช่ประเพณีที่รับมาจากอินเดีย
1
ภาพแนบ: วงปี่พาทย์มอญในงานศพ
คอนเซปต์ของวิญญาณเพิ่งเข้ามาทีหลังพร้อมกับศาสนาพราหมณ์/พุทธ ที่เชื่อว่าวิญญาณมีกรรมของตัวเอง หากหลุดออกจากร่างก็จะตายทันที (ขณะที่หากขวัญหลุดนั้นคนยังไม่ตาย)
หากคนทำดีวิญญานก็จะไปเกิดในภพภูมิที่ดี หากทำชั่วก็จะเกิดในภพภูมิต่ำ มีหน่วยงานเช่นนรกสวรรค์คอยจัดการเรื่องการย้ายภพภูมิเหล่านี้ ด้วยกฎที่อธิบายได้
สำหรับขวัญนั้นเมื่อหลุดออกจากกายแล้วก็สามารถไปเกิดใหม่ได้ แต่จะเกิดโดย random ไม่ได้มีกฎตายตัวเหมือนพุทธ เช่นขวัญอาจไปอยู่เมืองแถน (เมืองฟ้า) หรืออยู่เป็นผีบรรพบุรุษตามบ้านเรือน ตามแม่น้ำลำคลอง ไม่ได้ยึดติดกับกรรม
การเกิดใหม่ในลักษณะนี้ยังมีให้เห็นในนิทานพื้นบ้านเช่นเรื่องปลาบู่ทอง ที่เมื่อแม่ของเอื้อยจมน้ำตายก็ไปเกิดเป็นปลาบู่ พอถูกฆ่าโยนก้างลงดินก็ไปเกิดเป็นต้นไม้ เป็นความเชื่อที่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเวียนว่ายปนเปไปกับธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับความดีความชั่วที่ทำ
1
ภาพแนบ: ปลาบู่
ศาสนาผีของเผ่าไทยมีตำนานเทพเจ้าและกำเนิดโลกของตนเอง... มีหลายเวอร์ชันจะขอยกมาเวอร์ชันหนึ่ง เล่าว่าเริ่มแรกนั้นโลกมีมนุษย์อยู่ 3 คน ได้แก่ ขุนเค็ก ขุนคาน และปู่ลางเซิง
1
ทั้งสามมีนิสัยไม่ดี ทำให้พญาแถนซึ่งเป็นเทพเจ้าไม่พอใจ จึงเสกน้ำท่วมโลก มนุษย์สามคนนั้นเลยสำนึกผิด กราบไหว้บูชาเทพเจ้า พญาแถนเลยตอบแทนโดยการให้น้ำหยุดท่วม เกิดเป็นที่นาแห่งแรกชื่อ “นาน้อยอ้อยหนู” พร้อมให้ควาย 1 ตัวมาใช้งาน (เป็นการอธิบายว่าการทำนานั้นเป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมไทยมาแต่โบราณ)
ต่อมาควายตายแล้วก็มีน้ำเต้าผุดออกมาจากจมูก โดยทั้งสามสังเกตว่ามีมนุษย์อยู่ในนั้น ปู่ลางเซิงเลยนำเหล็กร้อนแทงน้ำเต้าเป็นรู และมีคนผิวดำเหมือนถ่านออกมา (เชื่อกันว่าเพราะถูกรมควัน) เรียกว่า “ข่า” ขณะที่ขุนคานนำสิ่วมาเจาะเป็นอีกรู ซึ่งคนที่ออกมาทางนี้ตัวขาว เรียกว่า “ไทย”
...ถือกันว่าผิวดำคือคนเขมร และคนผิวขาวคือคนไทย-ลาว ในปัจจุบัน…
ต่อมาพญาแถนก็ได้เสก “ขุนบรม” เป็นกษัตริย์องค์แรกลงมาปกครองมนุษย์ ซึ่งลูกของขุนบรมก็แบ่งกันปกครองเมืองลาวบ้าง ล้านช้างบ้าง ไทยใหญ่ ไทยน้อยบ้าง เป็นตำนานการเกิดมนุษย์ที่ไทย-ลาวมีร่วมกัน
ภาพแนบ: น้ำเต้า
...อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป คนไทยรู้สึกว่า ศาสนาผีมันช่างเชยมาก…
รอบๆ บ้านนั้นมีการรับศาสนาพราหมณ์และพุทธจากอินเดียแล้ว และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธนั้นมีหลักการน่าศรัทธา มีความเข้มขลังมากกว่า พิธีกรรมก็เป็นระเบียบอลังการ บ้านเมืองสวยงาม เทพเจ้าก็ยิ่งใหญ่
1
...วัฒนธรรมนั้นเหมือนน้ำ ย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ผสมกลมกลืนไปทั่ว
...ดังนี้ในที่สุดคนไทยโบราณก็ถูกกลืนวัฒนธรรม
1
หลังจากนั้นคนไทยก็รับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาเป็นอันมาก นอกจากพิธีกรรมแล้ว ยังมีการนำภาษาบาลี-สันสกฤตมาใช้ เช่นคำว่า “ขวัน” ก็เปลี่ยนตัวสะกดเป็น “ขวัญ” จาก “ไท” ก็สะกดว่า “ไทย” ซึ่งเป็นการสะกดคำไทยให้ดูเหมือนภาษาอินเดียมากขึ้น
1
คนไทยยังนิยมตั้งชื่อตัวเองให้ดูมีความหมายโดยใช้ภาษาบาลี-สันสกฤตเช่นกัน จาก “ไอ้ช้าง” ก็กลายเป็น “นายกุญชร” เพราะมันดูดีกว่า อินเทรนด์กว่า อารมณ์เดียวกับที่พ่อแม่สมัยนี้ มักตั้งชื่อลูกให้อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น “นายกวิน” ก็เป็น “มิสเตอร์เควิน” ประมาณนั้น เพราะเราเชื่อว่าวัฒนธรรมฝรั่งนั้นเป็นวัฒนธรรมที่สูง
1
การเปลี่ยนความเชื่อของคนไทยจากศาสนาผีเป็นศาสนาพุทธ มีการแสดงผ่านตำนานหลายเรื่อง เช่น “นิทานชาดก” ตอน “พญาคันคาก” หรือ พญาคางคก นั่นเอง
1
เล่าโดยย่อคือ นานมาแล้ว พระพุทธเจ้าเกิดเป็นลูกของกษัตริย์องค์หนึ่ง แต่เกิดมามีรูปเป็นคางคก จึงถูกเอาไปทิ้งเพราะเชื่อว่าเป็นกาลีบ้านเมือง พระอินทร์ได้ช่วยคางคกน้อยไว้ ครั้นแล้วคางคกนั้นก็ถอดรูปเป็นหนุ่มหล่อ ได้ปกครองเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่ มีภรรยาดี กลายเป็นกษัตริย์มีชื่อว่า "พญาคันคาก" และมีพวกสัตว์มีพิษอย่างงู แมลง กบ เขียด มาสวามิภักดิ์
เหตุนี้ทำให้พญาแถนรู้สึกโดนข้ามหน้าข้ามตา จึงบันดาลให้ฝนไม่ตก
พวกสัตว์มีพิษไปร้องทุกข์กับพญาคางคก พญาคางคกจึงนำทัพสัตว์ไปสู้กับผีแถน
1
แน่นอนว่าพญาคันคากชนะ ผีแถนจึงต้องยอมปล่อยน้ำฝน อันเป็นการอธิบายของคนโบราณว่าทำไมเวลาคากคกร้องฝนจะตก และอธิบายการเปลี่ยนผ่านของความเชื่อในสังคมไทยนั่นเอง แน่นอนชาดกเรื่องนี้ไม่มีในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด
1
15. แม้จะถูกพุทธกลืนแต่ศาสนาผีไม่ได้หายไปซะทีเดียว อย่างที่บอกตอนต้นว่าแม้พุทธจะสามารถช่วงชิงพื้นที่ในศีลธรรมระดับเหนือโลกได้ แต่ศาสนาผียังครอบครองพื้นที่ของที่พึ่งทางใจในทางโลก
1
คือในขณะที่คนไทยมักเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการลดกิเลสเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ (ตามศาสนาพุทธ) แต่ยามรู้สึกอ่อนแอ หรือมีความต้องการทางโลก ก็จะไปสวดอ้อนวอนกับผี (ตามความเชื่อศาสนาผี)
1
พระพุทธรูปนั้นแต่เดิมเป็นของที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธรูปที่คนไทยไหว้นั้นหลายๆ องค์มีชื่อ มีนิสัย เช่นหลวงพ่อ ก. ให้พรทางอาชีพได้ดี ชอบของเซ่นไหว้เป็นแว่นตาดำ การที่คนไทยไหว้พระพุทธรูปที่มีนิสัยเช่นนี้ แปลว่าเขาไม่ได้เชื่อว่ากำลังไหว้พระพุทธเจ้า แต่กำลังไหว้ผีที่สถิตในรูปปั้นพระพุทธรูปนั้น ซึ่งย่อมมีนิสัยแผกไปต่างๆ
1
อนึ่งอันที่จริงศาสนาผีก็มีหลักศีลธรรม ที่เหลือผสมๆ มาให้เห็นเช่นหลักฮีต 12 คอง 14 ในภาคอีสาน แต่เมื่อไม่ลึกซึ้งเท่าพุทธ ในที่สุดจึงเสียพื้นที่ทางศีลธรรมแก่พุทธ
มรดกของศาสนาผีอีกอย่างหนึ่งคือ “ศาลพระภูมิ” คือคนไทยเชื่อว่าบ้านผีมีเจ้าที่ เลยต้องสร้างบ้านเล็กๆ ยกสูงไว้ให้ท่าน
1
อย่างไรก็ตามถ้าลองสังเกตดู พวกอาคารใหญ่ๆ เช่นห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมนั้น มักมีการทำศาลไว้สองศาล คือศาลเทพฮินดูและศาลเจ้าที่ ทั้งนี้เพราะเทพฮินดูนั้นมีเครื่องทรงสวยงาม มีสัตว์พาหนะ มีตำนานเรื่องราวซับซ้อน ดูจริงจังน่านับถือ
เมื่อนำมาเทียบกับผีพื้นบ้านไทย คนไทยก็จัดลำดับผีไทยให้ต่ำกว่าผีอินเดียโดยอัตโนมัติ ดังนั้นเมื่อต้องทำศาลพระภูมิในสถานที่ๆ โอ่อ่าเช่นห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรม รู้สึกว่าเจ้าที่มีบารมีไม่มากพอ จึงทำเป็นศาลเทพฮินดูเพื่อให้รู้สึกว่าสมศักดิ์ศรีมากขึ้น
1
...พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเอา “เปลือก” ของฮินดูมาคลุม “ผี” แบบไทย แต่เมื่อนำมาแล้วก็รู้สึกเกรงใจพระภูมิเก่า เลยต้องสร้างคู่กันไว้สองศาล ซึ่งที่อินเดียไม่ได้บูชาเทพกันแบบนี้เลย
ในด้านพิธีกรรม ก็มีตัวอย่างเช่น “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการ "ทำขวัญให้นา" เพื่อให้ไร่นามีความอุดมสมบูรณ์
พิธีนี้มาจากพิธีของศาสนาผีโบราณที่เรียกว่า "นาตาแฮก" หรือการทำนาครั้งแรก ซึ่งในภาคเหนือและอีสานมีคนทำอยู่
1
ผู้ทำขวัญให้นาแต่แรกก็คือหมอผี สันนิษฐานว่ากษัตริย์ไทยโบราณยังมีความเชื่อในประเพณีต่างๆ ของศาสนาผีอยู่ แต่เมื่ออาณาจักรใหญ่ขึ้น อินเตอร์ขึ้นแล้ว จะเอาหมอผีมาทำพระราชพิธีก็ดูเชย จะเอาพระสงฆ์มาทำก็แปลกๆ ในที่สุดจึงโมพราหมณ์เวอร์ชันหนึ่งขึ้นมา ไว้สำหรับทำประเพณีสำคัญ ซึ่งหลายๆ ประเพณีก็มีรากเหง้าเป็นของศาสนาผี
พราหมณ์ไทยนั้นไม่เหมือนทางอินเดีย เพราะไม่ได้เป็นด้วยระบบวรรณะ บางคนจริงๆ นับถือพุทธ แต่ก็บูชาเทพฮินดูไปด้วย โดยพวกท่านเอาบทสวดมนต์ และองค์ประกอบอื่นๆ ของฮินดูมาใช้ในการทำพิธีผีหลายอย่าง
...ในลักษณะนี้พื้นที่ของศาสนาฮินดูในไทย จึงเป็น "เปลือกอันสวยงาม" ให้กับศาสนาผีนั่นเอง
1
ตัวอย่างอื่น เช่นจริงๆ พิธีโล้ชิงช้า หรือเรียกว่า "ตรียัมปวาย" นั้นไม่มีในอินเดีย แต่น่าจะเป็นประเพณีของศาสนาผีโบราณที่ใช้ทำขวัญให้ผืนดิน โดยยังหลงเหลืออยู่บ้างในวัฒนธรรมของชาวอาข่า
คำว่าตรียัมปวายเป็นชื่อที่แปลงจากบทขับร้องภาษาทมิฬนาม “ติรุเวมปาไว” ของนักบุญหญิง ว่าด้วยความรักที่ผู้หญิงมีต่อเทพเจ้า
พราหมณ์ไทยเอาบทสวดนี้มาใช้ในงานโล้ชิงช้า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน และการโล้ชิงช้าแบบนี้ไม่มีในอินเดีย
2
...ดังนั้น แม้คนไทยส่วนมากนิยามตัวเองเป็นคนพุทธ สวดมนต์ ทำบุญ ฟังธรรม แต่ศาสนาผีก็ยังอยู่ในสังคมไม่ไปไหน และยังครองพื้นที่ในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแนบเนียน
2
ในยุค ร.4 - ร.5 ประเทศไทยจำต้องปรับตัวต้านทานการรุกรานของวัฒนธรรมตะวันตก จึงมีกระแสแยกศาสนาพุทธ จากพราหมณ์ และผี เพื่อให้สิ่งที่นับถือดูลึกซึ้งมีเหตุผลมากขึ้น
นี่ทำให้ปัจจุบันความเชื่อศาสนาผีมักถูกกล่าวหาว่างมงาย ซึ่งจริงๆ ผมเห็นว่าคำว่างมงายกับศรัทธานั้นไม่ต่างกันมาก แต่เรามักจะใช้คำว่าศรัทธากับอะไรที่เป็นสถาบันแล้ว เช่นศาสนาใหญ่ๆ และเรามักจะใช้คำว่างมงายกับอะไรที่ยังไม่เป็นสถาบัน เช่นความเชื่อกระแสรองๆ
1
จริงๆ ศาสนาผีก็มีข้อดี คือการที่เราเชื่อว่ามีวิญญานอยู่ในธรรมชาติ และมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติด้วย มักเรานำสู่การเคารพธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด (ลองนึกถึงเพลง Colors of the wind ในโพคาฮอนทัส สะท้อนความเชื่อวิญญานนิยมในกลุ่มอเมริกันพื้นเมือง)
อีกด้านหนึ่งคอนเซปต์เรื่องขวัญก็ทำให้เราสามารถไหว้ได้ทุกอย่าง เปิดรับได้ทุกสิ่ง เพราะทุกๆ เทพเจ้านั้นต่างเป็นผีที่ไหว้ได้หมด ข้อดีของเรื่องนี้คือมันทำให้เรามีปัญหาระหว่างศาสนาไม่มาก
1
ด้วยทั้งหมดที่กล่าวมา จึงอาจเรียกได้ว่า “ศาสนาไทย” คือศาสนาที่เกิดจากการผสม:
2
1. ศาสนาผีซึ่งได้พื้นที่ในความเชื่อพื้นฐาน และยังถูกใช้เป็นเทคโนโลยีแบบโบราณ ในการทำให้ความต้องการทางโลกประสบผล
แม้มักถูกลืมไปว่ารากเหง้าของสิ่งต่างๆมาจากศาสนานี้มาก แต่ก็ยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคมอย่างกว้างขวาง
2. ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมาแต่งตัวให้ผีดูหรูหราขึ้น ทำหน้าที่ตอบสนองในพื้นที่ที่พุทธทำแล้วไม่เหมาะนัก
3. ศาสนาพุทธ ซึ่งได้พื้นที่ทางศีลธรรมระดับเหนือโลกไป
ดังนี้เราจึงมีศาสนาอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้นั่นเอง...
1
::: อ้างอิง :::
- หนังสือ “ขวัญเอย ขวัญมาจากไหน” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก
- หนังสือ “ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?” โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค็ง สำนักพิมพ์มติชน
- หนังสือ “ผี กับ พุทธ การผสามผสานทางความเชื่อ” โดย ธีระพงษ์ มีไธสง สำนักพิมพ์อินทนิล
1
โฆษณา