24 มิ.ย. 2022 เวลา 00:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข้อเท็จจริงไม่ช่วยให้เปลี่ยนใจ?
Photo by Marc Schaefer on Unsplash
พวกเราอยู่ในโลกสมัยใหม่ที่คนอยู่กับเหตุและผลมากกว่าในยุคไหนๆ ไม่น่าแปลกใจหากว่าเราคิดเห็นอย่างหนึ่ง แต่พอเห็นข้อเท็จจริงหรือตรรกะจากอีกด้านมากพอ ก็อาจจะเปลี่ยนใจและเปลี่ยนความเชื่อได้
แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
มีการทดลองคลาสสิกของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ทำไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 พวกเขารับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีมากลุ่มหนึ่ง
จากนั้นก็เอาบันทึกสองแบบมาจัดชุดเข้าด้วยกัน แบบหนึ่งเป็นบันทึกของคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย และสุดท้ายเจ้าของบันทึกเหล่านั้นก็ฆ่าตัวตายสำเร็จไปจริงๆ เสียด้วย ขณะที่บันทึกอีกแบบหนึ่งเป็นบันทึกลาตายเหมือนกัน แต่เป็นของปลอมที่ทำเทียมขึ้น
ภารกิจของนักศึกษากลุ่มนี้คือ ต้องแยกแยะให้ได้ว่าบันทึกชิ้นไหนเป็นของจริง ชิ้นไหนเป็นของปลอม
ผลที่ได้น่าสนใจทีเดียวคือ มีกลุ่มหนึ่งที่ได้รับแจ้งว่าพวกเขาเป็น “อัจฉริยะ” มีสายตาแหลมคม เขาแยกแยะออก 24 ชิ้นจากบันทึกทั้งหมด 25 ชุดว่า บันทึกชิ้นใดกันแน่ที่เป็นของจริง
ขณะที่คนอื่นๆ ที่เหลือต้องกุมขมับด้วยความสิ้นหวัง ไม่รู้ว่าจะแยกแยกออกจากกันอย่างไร คนกลุ่มหลังที่มีจำนวนมากกว่านี้สามารถแยกแยะเอาของจริงออกมาได้แค่ 10 ชิ้นเท่านั้น
แต่ตามประสาของการทดลองทางจิตวิทยาพวกนี้คือ ... มันไม่เคยตรงไปตรงมาขนาดนั้น
แม้บันทึกครึ่งหนึ่งจะได้มาจากห้องชันสูตรศพจริง แต่คะแนนที่แจ้งให้กับอาสาสมัครพวกนี้ไม่ใช่คะแนนจริงที่พวกเขาทำได้
โดยความจริงแล้วพวกที่โดนอุปโลกน์ว่าเก่งเป็นพิเศษนั้น ทำได้แค่ค่าเฉลี่ย
ส่วนพวกที่ได้รับแจ้งว่าตอบผิดเป็นส่วนใหญ่นั้น ก็ทำได้แค่ค่าเฉลี่ยอีกเช่นกัน ไม่ได้ย่ำแย่อะไรมากกว่าเลย
สรุปว่าไม่ว่ากลุ่มไหนก็ได้คะแนนแค่เฉลี่ยๆ เท่านั้น
แต่นี่เป็นแค่ช่วงแรกของการทดลองครับ
การทดลองช่วงหลังเริ่มจากการเฉลยว่า ที่จริงแล้วการทดลองนี้จะวัด “วิธีคิด” เกี่ยวกับถูกหรือผิด (ซึ่งนี่ก็เป็นการหลอกอีกชั้นหนึ่ง)
นักวิจัยเฉลยให้แต่ละกลุ่มรู้ว่า พวกเขาได้คะแนนแค่เฉลี่ยเท่านั้น และสุดท้ายนักวิจัยจะให้อาสาสมัคร “ประเมิน” ซ้ำอีกครั้งว่า มีบันทึกกี่ชิ้นที่พวกเขาจำแนกแยกแยะได้ถูกต้อง และโดยเฉลี่ยแล้วนักศึกษาส่วนใหญ่ทำได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
ถึงจุดเรื่องนี้เรื่องน่าสนใจก็เปิดเผยตัวออกมาครับ
พวกนักศึกษาที่เคยได้รับคำบอกเล่าว่า ตัวเองทำได้ดีเป็นพิเศษเกินกว่าเฉลี่ยไปมากในช่วงแรกสุดนั้น แม้ว่าจะเพิ่งได้รับการเฉลยไปในรอบที่ 2 ว่า ตัวเลขความสำเร็จที่บอกไปรอบแรกน่ะไม่ใช่เรื่องจริง
แต่พวกเขาก็ยังประเมินเรื่องความสามารถตัวเองอยู่ว่า “มากกว่า” คนทั่วไปอยู่ดี!
ในทางตรงกันข้าม พวกที่รอบแรกบอกไปว่าทายได้ไม่แม่น ก็ยังคิดว่าตัวเองทำได้ “แย่กว่าเฉลี่ย” ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงอีก เพราะแจ้งไปแล้วในช่วง 2 ว่า พวกเขาทำได้เท่ากับค่าเฉลี่ยนั่นแหละ
นักวิจัยสรุปว่าเมื่อเกิดภาพจำขึ้นแล้ว ก็ยากจะไปสั่นคลอนให้เปลี่ยนแปลงได้ มันจะฝังแน่นคงทนทีเดียว “ข้อเท็จจริง” ที่รับทราบในภายหลังจึงไม่ได้เปลี่ยนการรับรู้ของคนง่ายๆ
Photo by sydney Rae on Unsplash
หากเปรียบเทียบง่ายๆ กับสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ การที่เดิมประกาศว่าวัคซีนที่จะใช้ฉีดให้กับคนที่มีอายุมากในประเทศไทยคือ วัคซีนของแอสทราเซเนกา เพราะยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนซิโนแวกปลอดภัยกับคนสูงอายุมากเพียงใด
ครั้นพอได้วัคซีนซิโนแวกมามากและมีข้อมูลสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยสำหรับฉีดในคนสูงอายุ
คนก็จะไม่ไว้วางใจเสียแล้ว เพราะเชื่อไปแล้วว่าวัคซีนซิโนแวกไม่ควรฉีดในคนสูงอายุ!
หลังการทดลองนี้ตีพิมพ์ก็มีงานคล้ายคลึงกันและงานต่อยอดออกมาอีกเยอะแยะ ซึ่งช่วยเน้นย้ำว่าผลการทดลองนี้เป็นของจริง และคนเรานี่ทำตัวประหลาดๆ สวนทางกับข้อเท็จจริง (และหลักเหตุแผล) เอามากๆ
ปัจจัยที่มีต่อการตัดสินใจดูท่าว่ามีมากกว่าแค่ข้อเท็จจริงอีกด้วย
มีการศึกษาพบว่าการตัดสินใจของคนเรานั้น มีมากถึง 90% ที่พึ่งพาอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าหลักตรรกะหรือเหตุผล
Photo by Tengyart on Unsplash
แต่ก็ไม่ใช่ว่าหลักเหตุผลจะโน้มน้าวใจไม่ได้เอาเสียเลย การให้ข้อมูลหรือหลักเหตุผลจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้ที่ต้องตัดสินใจนั้น รู้สึกว่าผลของการตัดสินใจนั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับตัวเอง
แต่การตัดสินใจทุกครั้งจะผสมผสานทั้งหลักเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้ด้วยกัน
พวกนักต่อรองชั้นเซียน เช่น พวกเจรจาช่วยตัวประกันที่โดนจับตัวเรียกค่าไถ่ จะตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะกลยุทธ์การต่อรองต้องอาศัยสมมุติฐาน การคาดเดา และความคิดเห็นประกอบกัน
แต่ถึงที่สุดแล้วการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ก็หนีไม่พ้นการให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ส่วนตัวที่จะได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าหลักเหตุผล
มีนักประสาทวิทยาศาสตร์ชื่อ แอนโตนิโอ ดามาซิโอ ที่ศึกษาในผู้ที่สมองส่วนอารมณ์ความรู้สึกเสียหาย
เขาและทีมพบว่าคนพวกนี้แม้ว่าจะดูแล้วปกติทุกอย่าง แต่เป็นพวกที่ไม่อาจรับรู้ความรู้สึกใดๆ ได้
สิ่งที่คนกลุ่มนี้ไม่ว่าจะได้รับบาดเจ็บมากหรือน้อยก็ตามต้องมีร่วมกันก็คือ พวกเขาตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้
หากให้คนเหล่านี้อธิบายหลักเหตุผลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ พวกเขาจะอธิบายได้เป็นฉากๆ ว่า ควรจะทำหรือไม่ทำ เพราะหลักเหตุผลใด แต่สำหรับพวกเขาแล้ว การเลือกตัดสินใจอะไรสักอย่างกลับเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ
แม้แต่การเลือกง่ายๆ อย่างจะเลือกเนื้อไก่หรือเนื้อไก่งวงในเมนูตรงหน้า
การค้นพบนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การตัดสินใจของคนเรา แม้จะผ่านการไตร่ตรองด้วยหลักเหตุผลก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วก็ยังต้องพึ่งพาอารมณ์ความรู้สึกด้วย
นักวิทยาศาสตร์คาใจและอยากตอบให้ได้ว่า มีเหตุผลอะไรเบื้องหลัง? ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?
มีทฤษฎีวิวัฒนาการแบบหนึ่งอธิบายว่า เรื่องนี้สะท้อนสภาวะในยุคบรรพกาลที่บรรพบุรุษของเราอยู่กันเป็นกลุ่มขนาดเล็กที่เก็บของป่าล่าสัตว์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยพรรคพวกในเผ่าเร่ร่อนของตัวในการหาอาหาร ปกป้องตัวเอง และอีกสารพัด
จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเอาอารมณ์ความรู้สึก และการเอาใจใส่กับอารมณ์ความรู้สึกของคนใกล้ตัวมาร่วมในการตัดสินใจด้วย
แนวคิดเรื่องการมองโลกและตัดสินใจทำนองนี้ได้กลายมาเป็นกระแสหลักเรื่องหนึ่งในทางวิวัฒนาการของความรู้สึกนึกคิดของคน กล่าวคือเราคิดและตีความต่างๆ โดยมีเป้าหมายลึกๆ อยู่ที่การยอมรับของคนในกลุ่ม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงไม่สามารถยึดแน่นกับหลักเหตุผลมากนัก
แต่จำเป็นต้องลื่นไหลไปกับกระแสความเห็นหรืออารมณ์ของคนส่วนใหญ่
มีอีกการทดลองหนึ่ง แต่คราวนี้ทดลองในมหาวิทยาลัยเยล นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษากลุ่มหนึ่งได้รับคำขอให้ประเมินระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์หรือข้าวของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ซิป คอห่าน หรือกุญแจแบบทรงกระบอกครอบ
โดยพวกเขาจะต้องวาดภาพรายละเอียดออกมา แล้วอธิบายวิธีการทำงานของมันอย่างละเอียดทีละขั้นตอน
จากนั้นจะต้องให้คะแนนความรู้ความเข้าใจของตัวเองอีกครั้ง แน่นอนพวกเขาก็ให้คะแนนตัวเองลดลงจริงๆ
แต่เรื่องน่าประหลาดก็คือ พวกนักศึกษามักจะประเมินว่าตัวเองรู้รายละเอียดเหล่านี้ “ดีกว่าเฉลี่ย” ของคนทั่วไป (ซึ่งไม่เป็นความจริง)
นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่า เรามักแยะไม่ออกว่าเราเก่งแค่ไหนและมีความรู้มากเพียงใด
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งใน ค.ศ. 2014 ที่โยงเรื่องความรู้ความเข้าใจเข้ากับการเมือง จนสรุปได้ว่าคนอเมริกันที่ยิ่งมีความรู้ด้านภูมิศาสตร์น้อย ก็จะยิ่งเอนเอียงในการสนับสนุนให้ใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงในกรณีที่รัสเซียพยายามผนวกเอาส่วนไครเมียของชาวยูเครนไว้ในดินแดนตนเอง
นอกจากเรื่องการเมือง ยังมีอีกหลายเรื่องที่สะท้อนให้เราเห็นเกี่ยวกับ “ช่องโหว่” ของระบบคิดที่ไม่ยึดโยงกับหลักฐานข้อเท็จจริงหรือหลักเหตุผลอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ความกลัวเรื่องอันตรายจากวัคซีน
การให้ข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ค่อยช่วยอะไรในเรื่องนี้เท่าไหร่ ดังที่เราเห็นในเรื่องวัคซีนโรคโควิด-19 ในบ้านเรานี่เองที่ความเสี่ยงจะป่วยหนักจากวัคซีนมีน้อยกว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสนับเป็นพันเท่า
แต่คนจำนวนมากเมื่อได้รับข่าวสารกรณีส่วนน้อยของผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของวัคซีนผ่านสื่อต่างๆ บ่อยครั้งเข้า ก็วาดภาพในหัวจนกลัวมากเสียยิ่งกว่าตัวโรคเสียอีก จะเห็นปัจจัยเรื่องอารมณ์ต่อการตัดสินใจได้อย่างชัดเจน
ความคิดเห็นทำนองนี้ทำให้นักวิจัยสรุปเป็น “กฎทอง” ไว้ว่า
“ความรู้สึกรุนแรงเกี่ยวกับหัวเรื่องใดก็ตาม มักไม่ได้เกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแต่อย่างใด”
พูดอีกอย่างคือ ยิ่งไม่เข้าใจ ยิ่ง “อิน” ในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น!
คำแนะนำก็คือ ให้หันมาโน้มน้าวใจผ่านเรื่องเล่าที่กระทบอารมณ์หรือกระทบจิตใจ จะช่วยทำให้เปลี่ยนใจได้มากกว่าการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงครับ!
โฆษณา