26 มิ.ย. 2022 เวลา 00:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หุ้นกู้แปลงสภาพ(Convertible Bond) คืออะไร??
หุ้นกู้เป็นตราสารหนี้อย่างหนึ่งที่สามารถแปลงสิทธิไปเป็นหุ้นสามัญได้ วันนี้จะเล่าให้ฟังกันแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า หุ้นกู้แปลงสภาพคืออะไร มีข้อเด่นยังไง และถ้าเราลงทุนจะเลือกแปลงสภาพหรือไม่ต้องดูยังไง มาอ่านกัน...
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน เป็นเอกสารสิทธิเกี่ยวกับหนี้ คล้ายๆ กับสัญญาเงินกู้ ที่จะมีการกำหนดว่า จะจ่ายดอกเบี้ยที่ยืมมาแก่เจ้าหนี้ปีละกี่ % และเมื่อครบกำหนดสัญญา เช่น 3 ปี 5 ปี ก็จะจ่ายเงินต้นคืน
ดังนั้นบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ก็จะอยู่ในฐานะลูกหนี้ ส่วนคนที่ถือตราสารหนี้จะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ ซึ่งผลประโยชน์ที่เราได้รับก็จะเป็นดอกเบี้ยที่เขากำหนดไว้ และเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุ และอาจได้รับส่วนต่างกำไรได้ ถ้าเรานำตราสารหนี้ที่ถืออยู่ขายในตลาดรอง
ส่วนการถือหุ้นสามัญ คือ คนที่ถือหุ้นจะอยู่ในฐานะความเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วน ผลประโยชน์ที่เราได้รับก็จะเป็นเงินปันผล และส่วนต่างกำไรจากราคาหุ้น ซึ่งการซื้อขายหุ้นสามัญก็ซื้อขายกันในตลาดหุ้น จะมีสภาพคล่องมากกว่าการซื้อขายตราสารหนี้
ส่วนหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) คือ หุ้นกู้ที่สามารถขอเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นสามัญของบริษัทที่ออกตราสารหนี้นั้นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ถือตราสารหนี้นั้นเปลี่ยนสภาพหรือสถานะจากเจ้าหนี้เป็นหุ้นส่วนได้
ข้อดีสำหรับบริษัทที่ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ
- ต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายน้อยกว่าหุ้นกู้โดยทั่วไป โดยทั่วไปหุ้นกู้แปลงสภาพมักจะให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้โดยทั่วไป ดังนั้นต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายของบริษัทก็จะน้อยกว่า
.
และสามารถจ่ายเป็นหุ้นสามัญได้จากการแปลงสภาพ โดยบริษัทผู้ออกมักจะกำหนดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพไว้สูงกว่าราคาหุ้นสามัญในตลาด ตอนที่ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ เผื่อว่าอนาคตราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นแล้วมีการใช้สิทธิแปลงสภาพ
- สามารถชะลอการเกิด dilution effect จากการออกหุ้นเพิ่มทุนได้ เพราะจะมีการค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญ
ส่วนข้อดีของคนที่ซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ คือ มีโอกาสที่จะทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นได้ นอกจากอัตราดอกเบี้ยที่เราได้ตามที่กำหนดไว้
ลองมาดูตัวอย่างกัน...
บริษัทมานะจำกัด ออกกู้แปลงสภาพ
ราคาหน้าตั๋ว 1,000 บ. ต่อหน่วย
อายุ 2 ปี 6 เดือน
อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
ราคาในการแปลงสภาพ 4 บ.
ซึ่งตอนนั้นราคาหุ้นสามัญของบริษัทมานะอยู่ที่ 3 บ./หุ้น
ถ้าเราซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัทมานะ 1 หน่วย ก็คือ เราให้มานะยืมเงินเรา 1,000 บ. และเราก็จะได้ดอกเบี้ย 1 %ต่อ ปี แต่เราก็สามารถใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ โดยจะต้องจ่าย 4 บ.ต่อหุ้น
ดังนั้นทางเลือกของเราจะมี 2 ทางเลือก หลังจากที่เราซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพมา
ใช้สิทธิแปลงสภาพ
ถ้าราคาหุ้นของบริษัทมานะในตลาดปรับตัวสูงขึ้น สูงกว่าราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ
จากตัวอย่าง ต่อมาหุ้นบริษัทมานะปรับเพิ่มจาก 3 บ. เป็น 5 บ. ซึ่งสูงกว่าราคาแปลงสภาพคือ 4 บ.
ดังนั้นถ้าเราใช้สิทธิแปลงสภาพ ก็คือ เราจะได้หุ้นบริษัทมานะ ทั้งหมด = 1,000 บ./ 4 บ. (อันนี้คือราคาหน้าตั๋ว หารด้วยราคาใช้สิทธิแปลงสภาพนะ) = 250 หุ้น
ซึ่งถ้าคิดมูลหุ้นที่เราถือตามราคาหุ้นในตลาด จะเท่ากับ = 250 หุ้น x 5 บ. = 1,250 บ. เราก็จะได้ส่วนต่างกำไรหุ้นสามัญ 250 บ. เพราะราคาหุ้นสามัญของบริษัทมานะสูงกว่าราคาที่ใช้แปลงสภาพ
แต่ถ้าเราใช้สิทธิแปลงสภาพในขณะที่ราคาหุ้นบริษัทมานะตอนนั้น 3.5 บ. เราจะขาดทุนได้ เพราะเราจะแปลงได้หุ้นมานะ = 1,000 บ. / 4 บ.(อันนี้คือราคาหน้าตั๋ว หารด้วยราคาใช้สิทธิแปลงสภาพนะ) = 250 หุ้น
แต่มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดจะเท่ากับ 250 หุ้น x 3.5 บ. = 875 บ. ถ้าแบบนี้เราก็ไม่ควรใช้สิทธิแปลงสภาพ ถือที่เป็นลักษณะหุ้นกู้ไป และรับดอกเบี้ยที่เขากำหนดไว้ไปก่อน
หุ้นกู้แปลงสภาพ(Convertible Bond) คือ หุ้นกู้ที่สามารถนำมาขอแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ โดยบริษัทที่ออกก็จะมีต้นทุนในการจ่ายคืนน้อยกว่าหุ้นกู้โดยทั่วไป เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า และสามารถจ่ายคืนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนแทนได้
ส่วนคนที่ลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพ สามารถได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยตามที่เขากำหนดไว้ และมีโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นสามัญได้ถ้าใช้สิทธิแปลงสภาพ และราคาหุ้นบริษัทนั้นแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #หุ้นกู้ #ตราสารหนี้ #หุ้นกู้แปลงสภาพ #ConvertibleBond #ดอกเบี้ย #ใช้สิทธิแปลงสภาพ #ราคาใช้สิทธิ #หุ้น #หุ้นสามัญ
โฆษณา