26 มิ.ย. 2022 เวลา 04:50 • การเกษตร
จากครูสอนเคมี สู่ วิถีเกษตรกรอินทรีย์ เมื่อ “รายได้” ไม่ใช่ “ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ”
“ครูประทุม สุริยา”อดีตเป็นครูเคมี แต่ปัจจุบันผันมาเอาดีทางเกษตร สูตรสำเร็จก็คือการจดบันทึกและทำบัญชี
ทั้ง ๆ ที่เป็นเกษตรกรเพาะปลูกพืชผักทำไร่ทำนาเหมือนกัน แต่ทำไมเกษตรกรที่ฟินแลนด์ถึงได้รับการยอมรับยกย่องให้เกียรติอย่างสูง ขณะที่เกษตรกรในไทยกลับไม่ได้รับการยกย่องในระดับเดียวกัน ที่สำคัญกลับเป็นอาชีพที่พ่อแม่ไม่อยากส่งต่อสืบทอดให้กับลูกหลานของตนเอง …
ความคับข้องใจดังกล่าว ส่งผลให้ ครูประทุม สุริยา ซึ่งรับราชการครูในวิชาเคมีอยู่ในเวลานั้น ต้องการพิสูจน์หาสาเหตุว่าเพราะอะไรและทำไม เป็นเกษตรกรในประเทศไทยถึงไม่ประสบความสำเร็จ และทำไมเกษตรกรไทยยิ่งทำยิ่งจน จึงตัดสินใจเดินหน้าสู่วิถีเกษตรกร
เมื่อตัดสินใจว่าจะลองเป็นเกษตรกรด้วยตนเอง ครูประทุมได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากคุณพ่อ ด้วยคิดว่าเป็นครูมีวิชาความรู้สูง จะมาเป็นเกษตรกรให้ลำบากทำไม แต่ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะต้องทำเกษตรให้ได้ ครูประทุมจึงตัดสินใจเดินหน้าเขียนโครงการตามที่ได้ครูพักลักจำจากการไปศึกษาดูงานตามที่ต่าง ๆ เพื่อไปยื่นขอกู้เงินกับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จำนวน 200,000 บาท
เมื่อเห็นถึงความแน่วแน่ของครูประทุม ในที่สุดคุณพ่อจึงตัดสินใจยกที่ดินนาร้างขนาด 9 ไร่ 1 งานให้ครูประทุมได้ลองทำตามที่ต้องการ พร้อมกำชับไว้ว่าต้องทำให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จก็อย่ามาเรียกว่าพ่อ
สู่วิถีเกษตร (อินทรีย์)
ครูประทุม เล่าย้อนความทรงจำที่ฝังแน่นให้ The Story Thailand ฟังว่า ในปี 2540 เป็นปีที่ครูเริ่มแผ้วถางที่ดินทำทางเข้า ขุดสระใหญ่และลึก แล้วเอาไปที่ขุดไปถมรอบนา โดยสาเหตุที่ครูต้องขุดสระให้ใหญ่และลึก เพราะครูเรียนรู้มาว่าทางน้ำใต้ดินมีวันเปลี่ยนทิศทางได้เสมอ ดังนั้น หากจะทำให้ที่ของครูมีน้ำอยู่ตลอดก็ต้องมีพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำขนาดที่พอเหมาะกับพื้นที่กว่า 9 ไร่ของตนเอง
“ตอนนั้นครูยังไม่ลาออกจากราชการ ครูเลยจ้างลุงปันซึ่งเช่าที่นาทำนาอยู่แล้วมาทำนากับครู โดยปีแรก พื้นที่ทำนา 7 ไร่ ได้ข้าว 34 ถังต่อไร่ แบ่งไว้กิน 40 ถึง ที่เหลือขายไปในราคากิโลกรัมละ 6.40 บาท ขายได้ทั้งหมด 12,000 บาท หักต้นทุน 17,000 บาท เท่ากับว่าครูขาดทุนถึง 5,000 บาท” ครูประทุมเล่าด้วยรอยยิ้ม
ประสบการณ์การทำนาครั้งแรก บวกกับนิสัยพื้นเพที่ชอบจดรายละเอียดทำบัญชีไว้อย่างชัดเจน ทำให้ได้รู้ว่าเพราะอะไรชาวนาถึงได้ขาดทุนอยู่เสมอ นั่นก็คือ ผลผลิตที่ได้มีปริมาณน้อย งานนี้ครูประทุมจึงเดินหน้าหาสาเหตุ จนพบว่าปัญหาน่าจะมาจากดิน
1
ไม่ปล่อยให้ความสงสัยรอนาน ครูประทุมจัดการนำดินไปวิเคราะห์ แล้วก็พบว่าจริงตามคาด คือ ดินมีความเป็นกรดสูง งานนี้การบำรุงดินก็ต้องมา ในฐานะที่เป็นครูสอนเคมี เนื้อหาในวิชาจะมีตอนหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของวิธีการบำรุงดิน
โดยใช้สารที่เรียกว่าฟอสเฟต ผสมกับปอเทือง ฟาก และเปลือกถั่วเหลือง กระนั้นด้วยคำแนะนำของเพื่อน บวกกับมีลูกศิษย์ในวงการ ทำให้ครูได้รู้จักน้ำหมักชีวภาพรุ่นแรก ๆ ที่ช่วยเร่งให้การบำรุงดินใช้ระยะเวลาที่สั้นลง
ผลที่ได้จากการบำรุงดินก็คือผลผลิตข้าวในปีที่สอง มีมากถึง 67 ไร่ต่อถัง เก็บไว้กิน 40 ถังเหมือนเดิม ที่เหลือนำไปขายในกิโลกรัมละ 6.70 บาท ขายได้ 23,000 บาท ต้นทุน 12,000 บาท ได้กำไร 11,000 บาท
“กำไรที่ได้ครูแบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกใช้หนี้ธกส. ส่วนที่สองเปิดบัญชีฝากประจำ 2 ปี ส่วนที่สามเก็บไว้เป็นต้นทุนในการทำนา และส่วนที่สี่เอาไปสมทบกับเงินก้อนใหญ่ที่กู้มา 200,000 สำหรับใช้พื้นที่ทำเกษตรโดยรวมของครู” ครูประทุม เล่า
พอการทำนาเริ่มลงตัว ในปี 2544 ครูประทุมตัดสินใจลาออกจากราชการมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว จดบัญชีรายรรับรายจ่ายจนตระหนักว่า ตลอดทั้งปี 200 กว่าวันหมดไปกับการทำนาและปลูกถั่วเหลือง
ขณะที่เวลาที่เหลืออีก 100 กว่าวัน ว่างและไม่มีรายได้ สวนทางกับรายจ่ายที่มีทุกวัน ครูประทุมจึงเริ่ม หารายได้เสริม ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ง่าย ๆ ปลูกพืชผักอย่าง ผักกูด ผักหนาม ใบบัวบก ออกขาย เป็นรายได้รายวัน รายอาทิตย์และรายเดือน จนสามารถใช้หนี้ได้หมดในปี 2546 และนำเงินที่สั่งสมไปไปซื้อที่ดินโดยรอบเพิ่มเติมเป็นทั้งหมด 22 ไร่ 1 งาน
สร้างเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้
ในฐานะครูสอนวิชาเคมี ครูประทุมตระหนักดีกว่า อินทรีย์คือสารเคมีโดยธรรมชาติ ขณะที่สารเคมีคือสารที่สังเคราะห์ขึ้นมา ซึ่งการทำเกษตรของครูตั้งแต่แรกเริ่มก็ใช้สารอินทรีย์โดยธรรมชาติมาจัดการแก้ปัญหา ทั้งการบำรุงดิน ทำปุ๋ยหมัก ดังนั้น ก็ไม่มีเหตุให้ต้องใช้สารเคมีใด ๆ เลย
ครูประทุมเล่าว่า ด้วยตั้งใจอยากมีอาหารสะอาดไว้กิน เลยตั้งใจเพาะปลูกโดยไม่พึ่งเคมี บวกกับนิสัยที่ชอบจดบันทึกของตนเองทำให้มีชุดความรู้ชุดหนึ่ง
“ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีดินเป็นทรัพย์สูงสุด ทำให้ครูรู้สึกหวงแหนที่ดินของเรามาก อยากสงวนไว้ให้ลูกหลานของเรา ดังนั้น ครูเลยอยากเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้รวบรวมมานี้ เผยแพร่แก่เยาวชน และบุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ครูมั่นใจว่าครูเป็นเกษตรกรรุ่นแรก ๆ ที่บุกเบิกเกษตรอินทรีย์ ทำเกษตรผสมผสาน มาสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ คือ น้ำ 30 นา 30 พืชผักผลไม้ 30 และเลี้ยงสัตว์กับที่อยู่อาศัย 10” ครูประทุม เล่า
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจดังกล่าวทำให้ครูประทุมได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์มในปี 2552 ก่อนร่วมมือกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับสวนของครูประทุมเป็นศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ คอยถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสอนทำเกษตรทฤษฎีใหม่สำหรับเยาวชน หรือ ทฤษฎีใหม่มาตรฐานอินทรีย์รับรองเพื่อสร้างอาหารสะอาด
“ทุกวันนี้ ไทยเรายังมีปัญหาเพาะปลูกเพราะเราเน้นไปที่การเพาะปลูกเชิงเดี่ยว ปลูกพืชประเภทเดียวขาย ใช้ปุ๋ยเยอะ แต่วิถีเกษตรอินทรีย์จะเน้นที่ความหลากหลาย เป็นทั้งมาตรการป้องกันและแนวทางแก้ไข ปลูกพืชผักตามฤดูกาล ลดการใช้สารเคมี แล้วสอนให้ชาวไร่ชาวนารู้จักทำบัญชีต้นทุน เพื่อให้รู้ว่ามีรายรับรายจ่ายเท่าไร ต้องขายราคาเท่าไรจึงจะได้กำไร”
ด้วยวัยที่ล่วงเข้าสู่บั้นปลาย ครูประทุมขณะนี้ถอยฉากมาอยู่เบื้องหลังมากขึ้น แล้วค่อย ๆ ดันเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานผ่านเครือข่ายช่วยแผยแพร่องค์ความรู้ ซึ่งโชคดีอย่างมากที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีภาคเอกชน อย่างอิมแพ็ค (IMPACT) เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือในส่วนของการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ และการเสาะหาตลาดนำสินค้าเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านออกวางขาย
หัวใจเกษตรอินทรีย์ ไม่รวยแต่ไม่มีวันอดตาย
ครูประทุม กล่าวว่า หัวใจของเกษตรอิทรีย์แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือแนวรั้วป้องกัน ป้องกันมลพิษเข้าสวน แบ่งเป็นกำแพง 3 ชั้น ชั้นแรกคือกำแพงไม้สูง ชั้นที่สองคือรั้ว และชั้นที่สามคือแนวหญ้าแฝก ส่วนที่สองคือน้ำ น้ำสะอาด มีสระใหญ่ บ่อบาดาล และบ่อบำบัด และส่วนที่สามคือ กิจกรรมบำรุงดิน ทั้งน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก และการปลูกพืชตระกูลถั่ว
ในมุมมองของครูประทุม เกษตรอินทรีย์คือหัวใจของการมีชีวิตอย่างมีความสุข นั่นคือการมีอาหารสะอาดกิน อยู่ท่ามกลางอากาศที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ปราศจากมลพิษ พึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มที่
“เมื่อเรามีอาหารสะอาด อากาศบริสุทธิ์ สิ่งแวดล้อมปลอดภัย ก็จะเกิดเป็นมวลความสุข ที่ตอนนี้ทางครูประทุมได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่มาถอดองค์ความรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ให้เป็นดัชนีชี้วัดมวลความสุขที่วัดได้”
ครูประทุมย้ำว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ใด้ทำให้ครูร่ำรวย แต่ให้ครูเป็นเศรษฐี 5 อย่าง คือ เศรษฐีอาหาร เศรษฐีสุขภาพ เศรษฐีเพื่อนฝูง เศรษฐีความรู้ และเศรษฐีเงินออม
ครูประทุม กล่าวอีกว่า มูลค่าเพิ่มที่ได้จากสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่มากเท่ากับความจริงใจ เกษตรกรจะไม่เอาเปรียบใคร และสินค้าที่ปลูกได้ตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ก็จะทำเท่าที่ทำไหว ทำเยอะเกินตัวก็จะเหนื่อย
“เราต้องรู้จักคำว่าพอเพียง เกษตรอินทรีย์มีเป้าหมายหลักๆ คือ มีอาหารสะอาดกิน มีสุขภาพดี ส่วนถ้ามีเหลือก็แจกจ่ายหรือนำออกไปเพื่อมีเงินออม และขอให้ตระหนักเสมอว่าคำว่าพอเพียงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้น ให้ประมาณกำลังของตนเองให้ดี”
ขณะเดียวกัน การสร้างเครือข่ายมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ความรู้ รวมถึงช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง ช่วยให้อาหารสะอาดเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น
“ทุกวันนี้ ครูภูมิใจมากกับการที่จะบอกกับใคร ๆ ว่าครูเป็นเกษตรกร ถ้าวันนั้นครูยังเป็นครูเคมี ครูก็คงจะเกษียณเป็นข้าราชการบำนาญแก่ ๆ คนหนึ่ง มีคนรู้จักไม่กี่คน แต่ครูภูมิใจมากที่จะบอกกับคนอื่นว่าครูเป็นชาวนา มีอาหารให้อิ่มท้อง มีสุขภาพแข็งแรง มีเพื่อนฝูงมากมาย เรียกว่าต่อให้มีเงินทองมากองตรงหน้ามากมายก็มาแลกไม่ได้”
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจแนวเกษตรอินทรีย์ ครูประทุม กล่าวว่า ให้ลองเข้ามาศึกษา ลองทำ ขอแค่มีใจรัก เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ก็สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ เพียงแต่ต้องเริ่มต้นเรียนรู้คำว่า “อินทรีย์” อย่างแท้จริง ว่าเป็นกระบวนการอย่างไร
ทุกวันนี้ ครูประทุมยังคงเป็นเกษตรกรอินทรีย์ที่มุ่งมั่นเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เรียนรู้มาให้กับคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็คอยรวบรวบพันธุ์ไม้ พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อส่งต่อให้ลูกหลายไม่ให้สูญหาย และแสดงบทพิสูจน์ของเกษตรอินทรีย์ทีเป็นคำตอบของชีวิตที่มีความสุขด้วยอาหารสะอาด พลังงานสะอาด และความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
โฆษณา