28 มิ.ย. 2022 เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คลี่ประเด็นการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) มีเป้าหมายหลัก คือ การส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะมาอธิบายให้ทุกท่านได้ทราบว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคประจำปี ๒๕๖๕ มีความพิเศษอย่างไร มีความท้าทายมากน้อยเพียงใด และจะมีส่วนในการเปลี่ยนโฉมประเทศไทยอย่างไรค่ะ
(รับฟังเพิ่มเติมผ่านรายการ Spokesman Live!!! คุยรอบโลกกับโฆษก กต. ตอนที่ ๖๕ https://www.facebook.com/watch/?v=707688273561749)
เอเปคคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร?
ความสำคัญของเอเปคคือ เป็นเขตเศรษฐกิจที่ประชากรเกือบร้อยละ ๔๐ ของประชากรโลกอาศัยอยู่และเป็นกลุ่มการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีสมาชิกที่มี GDP มากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP โลก เพราะฉะนั้น การที่ไทยเป็นเจ้าภาพผู้กำหนดทิศทางประเด็นในองค์กรใหญ่เช่นนี้ จึงมีความสำคัญมาก
ไทยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเอเปคตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ (ค.ศ. ๑๙๘๙) และเคยเป็นเจ้าภาพเอเปคในระดับรัฐมนตรี ซึ่งในสมัยก่อนไม่มีการประชุมผู้นำ แต่เป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ๑ ครั้ง เมื่อปี ๒๕๓๖ (ค.ศ. ๑๙๙๓)
ก่อนที่เอเปคจะยกระดับเป็นการประชุมระดับผู้นำในปี ๒๕๓๗ (ค.ศ. ๑๙๙๔) ซึ่งไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๑ ครั้ง เมื่อปี ๒๕๔๖ (ค.ศ. ๒๐๐๓) ๑๙ ปีผ่านไป ไทยจึงได้เป็นเจ้าภาพเอเปคอีกครั้งในปีนี้
ผู้เข้าร่วมการประชุมในกรอบเอเปคเป็นใครบ้าง?
เอกลักษณ์ของเอเปค คือ เป็นการขับเคลื่อนประเด็นด้านเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เป็นกระบวนการขับเคลื่อนการพูดคุยหารือไปพร้อมกันระหว่าง ๒ ภาคส่วน โดยการเป็นเจ้าภาพของไทยจะมีระยะเวลาประมาณ ๑๒ เดือน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจนกระทั่งถึงกลางเดือนพฤศจิกายนปีนี้
การเป็นเจ้าภาพเอเปค จะมีการจัดประชุมเป็นช่วง ช่วงแรกคือเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอย่างไม่เป็นทางการ และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (Senior Officials Meeting: SOM)
ถัดมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรก คือ การประชุมรัฐมนตรีการค้าของเอเปค ซึ่งเป็นช่วงก่อนการประชุมมติการค้าโลกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีประมาณ ๘ - ๙ ครั้ง ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของการเป็นเจ้าภาพของไทย
กำหนดการประชุมเอเปค (APEC 2022) ในระดับและหัวข้อต่าง ๆ
โจทย์ที่ไทยได้รับไม้ต่อมาจากนิวซีแลนด์ (เจ้าภาพปี ๒๕๖๔) คืออะไร?
โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เอเชีย-แปซิฟิกฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ ได้เร็วที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถกลับมาฟื้นฟูการเดินทางได้ แม้สถานการณ์อาจจะไม่เหมือนสมัยก่อนยุคโควิด-๑๙ ทั้งหมด แต่เป็นการไต่ระดับที่เราจะสามารถกลับมาเดินทางได้ ธุรกิจการบินสามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ เป็นต้น
การเป็นเจ้าภาพเอเปคปีนี้พิเศษกว่าปีอื่นหรือไม่?
มี ๒ - ๓ เรื่องที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการที่ต้องเชื่อมต่อ (Reconnect) ภูมิภาคกันใหม่อีกครั้ง ไทยจะต้องสังเกตว่าจะเปิดทางเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งการค้าและการลงทุนเปรียบเสมือน DNA ของเอเปค เอเปคตั้งขึ้นมามีเป้าหมายเพื่อการสนับสนุนเรื่องการค้าเสรี ซึ่งแนวคิดในเรื่องการค้าเสรีค่อนข้างบิดเบี้ยวในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา จากสงครามทางการค้า ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการเติบโตที่ไม่เท่าเทียมกัน
ในวันนี้ นอกจากประเด็นที่คนในภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันแล้ว ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจเอเปคทั้ง ๒๑ เขตเศรษฐกิจ สามารถที่จะมีการค้าเสรี โดยเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่จุดดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ (ค.ศ. ๒๐๐๖) นั่นก็คือ ความตกลงทางการค้าในเอเชีย-แปซิฟิก สุดท้าย คือ เรื่องของการทำธุรกิจกับการใช้ทรัพยากรที่อยู่รอบตัวเราให้เกิดความสมดุลมากยิ่งขึ้น
การพบหารือกันของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในปีนี้จะช่วย “เปลี่ยนโฉมประเทศไทย” ในเรื่องใดบ้าง?
เอเปคเป็นเวทีที่ให้ผู้นำมาแลกเปลี่ยน บ่มเพาะทางความคิด โดยจะมาช่วยกันดีไซน์ว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกควรจะเดินหน้าไปอย่างไรในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ซึ่งในวันนี้ โจทย์มีมากมาย นอกเหนือจากเรื่องดิจิทัล ความสมดุลระหว่างการทำธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมแล้ว เราจะช่วยธุรกิจ SMEs อย่างไร จะหาแหล่งเงินทุนให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ อย่างไร
ภาคส่วนของไทยต้องศึกษาว่า สมาชิกในเอเปคทำการค้าโดยใช้แนวคิดอะไร เช่น การที่รัฐบาลไทยนำเสนอ BCG เป็นประเด็นระดับชาติ โดยเขตเศรษฐกิจเอเปคมากกว่าครึ่งทำ BCG มาเป็นเวลานับ ๑๐ ปี
การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทยต้องหันมาสำรวจตัวเอง โดยเรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ ดังนั้น การเปลี่ยนโฉมประเทศไทยที่กล่าวถึง ก็คือการที่คนไทยที่เกี่ยวข้องจะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์และแนวคิดต่าง ๆ จากเขตเศรษฐกิจอื่นมาพัฒนาประเทศเราเอง
นางสาวพิมพ์ภัทรา ณ กาฬสินธุ์
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าวฯ
กรมสารนิเทศ
โฆษณา