4 ก.ค. 2022 เวลา 02:08 • ข่าวรอบโลก
ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ
ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เชิญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์
หากมองย้อนกลับไป ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๒๐ จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน จนยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (strategic partnership) เมื่อปี ๒๕๕๘
โดยครอบคลุมทั้ง ๓ เสาหลักของอาเซียน คือ ๑. การเมืองและความมั่นคง ๒. เศรษฐกิจ และ ๓. สังคมและวัฒนธรรม นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ ๑ และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ ๒ ของอาเซียนอีกด้วย ดังนั้น หากเราจะกล่าวว่าสหรัฐฯ คือหนึ่งในพันธมิตรหลักสำคัญของอาเซียนก็ คงไม่ผิดนัก
บรรยากาศการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๖๕ ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ
การประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ จัดขึ้นครั้งแรกในสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปี ๒๕๕๙ ที่เมืองแรนโชมิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย การประชุมสมัยพิเศษเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ จึงเป็นการประชุมสมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ มีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ และสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal หรือ “ชีวิตวิถีถัดไป”
บรรยากาศการประชุมผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน พ.ศ.๒๕๕๙ หรือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๑ ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ
ประธานาธิบดีไบเดน ได้กล่าวในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งว่า “America is Back” หรือ “อเมริกากลับมาแล้ว” สื่อเป้าหมายการนำสหรัฐฯ กลับมาเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างมากต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ จึงถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์เชิงรูปธรรมของสหรัฐฯ ในการประสานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั่นเอง
ในการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำกับสหรัฐฯ ถึงความสำคัญของการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการก้าวต่อไปสู่ยุค “ชีวิตวิถีถัดไป” ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ผ่านการผลักดันความร่วมมือใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑. การส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค ๒. การฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และ ๓. การพัฒนาอย่างยั่งยืน
พลเอกประยุทธ์ฯ ย้ำเรื่องการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) ว่า เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
อีกทั้งโมเดลเศรษฐกิจ BCG ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคปีนี้ต้องการผลักดัน ดังนั้น การหารือเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเปรียบเสมือนการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้อย่างประเทศไทย และว่าที่เจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้าอย่างสหรัฐฯ นั่นเอง
บรรยากาศการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๖๕ ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ
ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีไบเดนได้เน้นย้ำบทบาทและท่าทีของสหรัฐฯ ต่ออาเซียน โดยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือภายใต้มุมมองของอาเซียนต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศสนับสนุนเงินจำนวน ๑๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษา ความร่วมมือทางทะเล และความมั่นคงด้านสาธารณสุขด้วย
อีกหนึ่งผลลัพท์เชิงรูปธรรมของการประชุมสุดยอดครั้งที่ ๒ ก็คือ “แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม” (Joint Vision Statement) ซึ่งระบุถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน ในการต่อสู้กับโควิด-๑๙ การสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังภาวะโรคระบาดร่วมกัน
สุดท้ายนี้ หากท่านผู้อ่านต้องการทราบทุกรายละเอียดของผลลัพท์การประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ นี้ ผมแนะนำให้เข้าไปชมเทปบันทึกรายการเวทีความคิด ช่วงสายตรงจากกระทรวงการต่างประเทศ ตอน ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่ (https://youtu.be/YZeLC97Lpv8) เพื่อที่ท่านจะได้ทราบถึงรายละเอียดสำคัญของการประชุมครั้งนี้แบบไม่มีกั๊ก
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา