29 มิ.ย. 2022 เวลา 23:10 • ธุรกิจ
เทคนิคการสร้างผลลัพธ์หลักใน OKRs ตอนที่ 1
เมื่อเรามีวัตถุประสงค์แล้ว เราจำเป็นต้องสร้างผลลัพธ์หลัก เพื่อเป็นการระบุว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่าเราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นนั้นจะเป็นข้อความในเชิงคุณภาพ คือยังไม่ได้มีตัวเลขระบุใด ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งวัตถุประสงค์ว่า “เป็นบริษัทที่ดีที่สุดในประเทศไทย” เขียนแค่นี้ก็ยังมีคำถามว่า แล้วดีที่สุด เราจะรู้ได้อย่างไร แต่ถ้าเราระบุผลลัพธ์หลักไปว่า “มีส่วนแบ่งตลาดเกิน xx%” แบบนี้ก็จะชัดเจนว่า สำหรับเราแล้วดีที่สุดเราวัดจากส่วนแบ่งตลาดที่ต้องเกิน xx% แบบนี้
โดยปกติแล้วผลลัพธ์หลักจะเป็นตัววัดผลที่มีค่าเป้าหมายชัดเจน แบบตัวอย่างข้างต้น หรือหากไม่มีตัวเลข ก็จะต้องเป็นการระบุให้ชัดเจนว่าเราจะทำอะไรให้สำเร็จเมื่อไร เช่น จากตัวอย่างเดิมคือ ถ้าวัตถุประสงค์คือ “เป็นบริษัทที่ดีที่สุดในประเทศไทย” ตัวอย่างของผลลัพธ์หลักที่ไม่ได้มีตัวเลขก็อย่างเช่น “ได้รับรางวัลบริษัทยอดเยี่ยมของประเทศไทยจากสถาบัน xxx ภายในปีนี้” อะไรทำนองนี้เป็นต้น
ก่อนอื่นเรามารู้จักรูปแบบของการเขียนผลลัพธ์หลักกันก่อน ถ้าใครอ่านหนังสือเกี่ยวกับ OKRs หลาย ๆ เล่ม ก็อาจจะพบว่ามีการแบ่งประเภทของผลลัพธ์หลักอยู่หลายรูปแบบมาก แต่รูปแบบที่ผมคิดว่าเข้าใจง่ายและน่าจะใช้ได้กับแนวทาง OKRs ที่ผมแนะนำคือ เราสามารถแบ่งผลลัพธ์หลักออกได้เป็น 2 ประเภทดังต่อไปนี้
1. ผลลัพธ์หลักที่อิงความสำเร็จของกิจกรรม (Activity-based Key Results)
.
ผลลัพธ์หลักประเภทนี้จะเป็นเหมือนความสำเร็จระหว่างทาง คือเป็นการเขียนว่าจะทำอะไรให้เสร็จเมื่อไร แต่ยังไม่ได้เป็นความสำเร็จขั้นสุดท้ายที่ต้องการ เช่น ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสนี้ ทำฐานข้อมูลลูกค้าให้เสร็จสิ้น
ถามว่าทำไมจึงต้องมีผลลัพธ์หลักประเภทนี้ด้วย เหตุผลคือ OKRs เป็นการตั้งเป้าหมายระยะสั้น ปกติจะเป็นรายปีและรายไตรมาส ดังนั้นบางครั้งผลลัพธ์หลักที่เราอยากได้จริง ๆ อาจจะยังไม่สามารถบรรลุได้ในไตรมาสนี้ คำถามก็คือแล้วไตรมาสนี้เราอยากจะเห็นความสำเร็จอย่างไร นั่นก็คือผลลัพธ์หลักที่อิงความสำเร็จของกิจกรรมนั่นเอง
2. ผลลัพธ์หลักที่อิงกับคุณค่า (Value-Based Key Results)
นี่คือผลลัพธ์หลักที่จะบ่งบอกคือความสำเร็จปลายทางที่เป็นสิ่งที่เราอยากได้จริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ เราควรเขียนผลลัพธ์หลักให้เป็นแบบนี้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไตรมาสนี้เราเขียนผลลัพธ์หลักที่อิงกับความสำเร็จของกิจกรรม เช่น ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เสร็จสิ้น ในไตรมาสถัดไป หลังจากเราออกผลิตภัณฑ์ใหม่เรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์หลักที่อิงกับคุณค่า ก็อาจจะเป็น สร้างยอดขายจากผลิตภัณฑ์ใหม่ได้มากกว่า xxx บาท อะไรแบบนี้ โดยปกติแล้ว ถ้าเราสามารถเขียนผลลัพธ์หลักที่อิงคุณค่าได้เลยภายในไตรมาส เราก็ไม่จำเป็นต้องเขียนผลลัพธ์หลักที่อิงความสำเร็จของกิจกรรมเลยก็ได้
เพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป ขอจบตอนที่ 1 ไว้ตรงนี้ก่อน เดี๋ยวค่อยมาต่อกันตอนที่ 2 ถัดไปนะครับ
โฆษณา