1 ก.ค. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นอกจากความพยายามในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบนโลกให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทางรอดที่ทั่วโลกเห็นพ้องหากเราไม่สามารถอาศัยบนโลกได้แล้ว ก็คือ การอพยพไปตั้งอาณานิคมบนอวกาศ
1
การศึกษาอนาคตของการใช้ชีวิตมนุษย์ โดยศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales LAB by MQDC ชี้ให้เห็นว่าภายในปี ค.ศ. 2051 - 2060 ความกดดันจากปัญหาต่างๆ เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความไม่สอดคล้องของประชากรกับทรัพยากร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นแรงผลักดันหลักให้มนุษย์อพยพไปนอกโลก (The Great Migration) และนำไปสู่การสร้างสังคมบนอวกาศ (Space Society) ในปี ค.ศ. 2061 เป็นต้นไป การคาดการณ์นี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการศึกษาเรื่องที่อยู่อาศัยในอวกาศทั้งเชิงวิชาการ ภูมิรัฐศาสตร์ และโอกาสทางธุรกิจ
ผลสำรวจความสนใจเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศเมื่อปี ค.ศ. 2019 โดย Ipsos ชึ้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยและให้ความสนใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการสำรวจอวกาศ และแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศไว้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนบนโลก เช่น การใช้ดาวเทียมตรวจจับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (52%) หรือใช้เพื่อความมั่นคงของประเทศ (32%) เป็นหลัก
แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อย (50%) ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ และเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริง (56%) สอดคล้องกับผลสำรวจในช่วงต้นปี ค.ศ. 2022 โดย Angus Reid Forum USA ร่วมกับ The Outer Space Institute ว่า 71% ของบุคคลทั่วไปปฏิเสธที่จะออกจากโลกไปตั้งอาณานิคมใหม่บนอวกาศ และ 45% ยังลังเลว่าตนเองจะไปท่องเที่ยวอวกาศดีหรือไม่หากได้รับโอกาส ถึงกระนั้นคนส่วนใหญ่ (72%) ก็เชื่อรัฐบาลควรให้การสนับสนุนการศึกษากลุ่ม STEM และอวกาศเพราะมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นในโลกอนาคต
ปัจจุบันนี้ จะมีข่าวความเคลื่อนไหวของวงการอวกาศเกี่ยวกับการสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างที่อยู่นอกโลกให้กับมนุษย์อย่างการก่อสร้างสถานีอวกาศ ซึ่งจะกลายเป็นโรมแรมและแหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงการสร้างที่อยู่แบบถาวรทั้งที่ดวงจันทร์ไปจนถึงดาวอังคาร
ความคืบหน้าด้านเทคโนโลยีเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องทั้งกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนบนโลก เกิดการคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ หรือการบริหารจัดการทรัพยากรในระบบนิเวศแบบปิดเพื่อความยั่งยืน ไปจนถึงการลงทุนเพื่อการใช้ชีวิตบนอวกาศในอนาคตอย่างจริงจัง เช่น การสังเคราะห์น้ำเพื่อใช้งานและการสร้างอากาศเพื่อหายใจ เป็นต้น
หลายประเทศกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเทคโนโลยีและการสร้างที่อยู่ในอวกาศ เช่น NASA ของสหรัฐอเมริกาจะส่งนักบินอวกาศพร้อมเครื่องพิมพ์สามมิติไปสร้างที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์ภายในปี ค.ศ. 2025 ก่อนจะขยายผลไปสู่การสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารในทศวรรษต่อไป
เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีกหลายๆ ประเทศที่ต่างก็มีแผนการเกี่ยวกับการไปใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ ทั้งในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เช่น NASA กับ SpaceX และรัฐกับรัฐ เช่น ความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียในปี ค.ศ. 2026 - 2035 เพื่อไปสร้างที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์
แผนการออกแบบที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์ยังคงอยู่ในขั้นแนวคิดการนำเสนอเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกหน่วยงานที่เปิดเผยแนวคิดออกมาต่างก็ให้ความสำคัญร่วมกันในประเด็นของการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งอาหาร น้ำ อากาศ พลังงาน ขยะ และของเสียให้ได้ในตัวเอง ร่วมไปกับการเตรียมความพร้อมเรื่องโทรคมนาคม การเดินทาง และการรักษาการเจ็บป่วยรวมถึงการผ่าตัดที่อาจจะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นข้อท้าทายในการสร้างถิ่นฐานบนอวกาศของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความมั่นคงทางทหารและผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดย 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวอเมริกัน 1,500 คนเชื่อว่ารัฐบาลควรกำหนดเพดานจำกัดจำนวนดาวเทียมที่บริษัทเอกชนจะสามารถปล่อยออกนอกโลกได้
โดยเกินครึ่ง (54%) ยังคาดหวังว่าบริษัทเอกชนไม่ควรแสวงหากำไรจากทรัพยากรนอกโลก และมีถึง 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่าพื้นที่อวกาศควรเป็นของทุกคน ไม่ควรเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ในจำนวนนี้เกือบครึ่ง (49%) มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องจริงจังอย่างมาก
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ความเชื่อและการให้คุณค่าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสังคมมนุษย์จะถูกท้าทายอีกครั้ง เมื่อมนุษย์มีโอกาสได้ตักตวงผลประโยชน์จากแร่ธาตุหรือทรัพยากรที่ค้นพบใหม่ในอวกาศ นัยหนึ่งมนุษย์อาจมีความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรและมีการกำหนดการใช้ทรัพยากรอวกาศอย่างเคร่งครัดจากบทเรียนที่เคยมีบนโลก หรืออาจจะเกิดภาพซ้ำที่จะเกิดอารยธรรมมนุษย์ที่เป็นนักล่าอาณานิคมอีกครั้งในอวกาศ
- มุมมองต่อการเป็นพรรคพวกของมนุษย์ในเชิงการเมืองจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการอพยพไปยังอวกาศ เช่น การแบ่งชนชั้นทางเศรษฐฐานะ หรือการตัดสินใจว่าจะอยู่บนโลกต่อไปหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น ความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกลักษณะทางกายภาพหรืออัตลักษณ์ของคนกลุ่มน้อย เช่น เพศสภาพ หรือความพิการ เป็นต้น
- ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนการเมืองโลก การช่วงชิงบทบาทของการเป็นผู้กำหนดกฎหมายอวกาศสากลจะกลายเป็นประเด็นที่ชาติมหาอำนาจให้ความสำคัญ แม้ว่าในอนาคตการแบ่งเขตประเทศหรือรูปแบบการปกครองในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไป
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #MoonBase #SpaceExploration #MQDC
โฆษณา