30 มิ.ย. 2022 เวลา 23:10 • ธุรกิจ
เทคนิคการสร้างผลลัพธ์หลักใน OKRs ตอนที่ 2
สำหรับเทคนิคการสร้างผลลัพธ์หลักที่ดีจะมีดังต่อไปนี้
1. ผลลัพธ์หลักจะต้องวัดผลและมีค่าเป้าหมายชัดเจน
ผลลัพธ์หลักที่ดีจะให้ใครมาประเมินว่าทำได้หรือไม่ได้ก็จะได้คำตอบเหมือนกัน ดังนั้นการเขียนแค่ว่า ทำรายได้ให้ “มาก” แบบนี้จะเป็นผลลัพธ์หลักที่ไม่ดี เพราะคำว่า “มาก” ของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน แต่ถ้าเขียนว่า ต้องทำรายได้ให้เกิน 500 ล้านบาท แบบนี้ทุกคนจะประเมินได้เหมือนกันว่า สรุปแล้วที่เราทำนั้นได้ตามผลลัพธ์หลักที่เขียนไว้หรือไม่ เป็นต้น
2. มีจำนวนไม่เกิน 3-5 ข้อต่อวัตถุประสงค์ 1 ข้อ
ผลลัพธ์หลัก มีคำว่า “หลัก” อยู่ ดังนั้นเราจึงควรเลือกผลลัพธ์ที่สำคัญมากจริง ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ควรมีจำนวนเกิน 3 ข้อ หรือเต็มที่ก็ไม่ควรเกิน 5 ข้อ พยายามเลือกผลลัพธ์หลักที่เป็นอันที่เราต้องการจริง ๆ ไม่ใช่เลือกทุกเรื่องที่เราทำ สำหรับ OKRs แล้ว ยิ่งน้อยยิ่งดีครับ เราไม่ได้แข่งกันว่าใครมีผลลัพธ์หลักมากคนนั้นชนะ
3. ผลลัพธ์หลักควรจะเป็นผลลัพธ์ไม่ใช่กิจกรรม
หลายคนเขียนผลลัพธ์หลักเป็นกิจกรรมไปหมด กิจกรรมอยากเขียนก็เขียนได้ครับ แต่อย่ามาเขียนให้เป็นผลลัพธ์หลัก บางองค์กรก็เขียนแยกออกมาเป็นกิจกรรมหลัก (Key Activities) แบบนี้ก็ได้ หรือจะเขียนเป็น To-do list หรือรายการของกิจกรรมที่เราจะต้องทำก็ได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น การเขียนว่า “วิเคราะห์ข้อมูล” แบบนี้จะไม่ใช่ผลลัพธ์หลัก แต่เป็นเพียงแค่กิจกรรม คำถามคือ แล้วเราจะวิเคราะห์ข้อมูลไปทำ เช่น ถ้าคำตอบคือจะได้สามารถลดต้นทุนได้ เขียนผลลัพธ์หลักว่า สามารถลดต้นทุนได้ xx% แบบนี้ได้เลย จะได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร
4. เขียนผลลัพธ์หลักที่แสดงการพัฒนา
ตรงนี้อาจจะไม่ได้ถึงกับเป็นข้อบังคับหรือข้อกำหนดว่าต้องทำ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างผลลัพธ์หลัก คือเราควรเขียนว่าเราต้องการพัฒนาจาก A เป็น B แบบนี้ เช่น แทนที่เราจะเขียนผลลัพธ์หลักว่า รายได้มากกว่า 500 ล้านบาท เราอาจจะเขียนว่า รายได้เพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท
เหตุผลที่แนะนำให้เขียนในลักษณะนี้คือ เราสามารถเห็นได้ทันทีว่าผลลัพธ์หลักนั้นมีการพัฒนาขึ้น เพราะถ้าเราเขียนแค่ว่าเราอยากได้รายได้มากกว่า 500 ล้านบาท คำถามที่ยังคงมีอยู่ก็คือ แล้วรายได้เดิมที่เคยทำได้อยู่แล้วมีมากแค่ไหนเป็นต้น แต่ถ้าเขียนว่าเราอยากได้รายได้เพิ่มจาก 200 ล้านบาทเป็น 500 ล้านบาท ก็จะมีความชัดเจนทันที
5. ผลลัพธ์หลักที่เขียนจะต้องอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังทำ OKRs รายไตรมาสอยู่ ผลลัพธ์หลักของ OKRs ชุดนี้ก็ควรจะเป็นผลลัพธ์ที่เราคาดหวังอยากจะได้ภายในไตรมาสนี้ อย่าเอาผลลัพธ์รายปีมาใส่เข้าไปปะปน แต่ถ้าเรากำลังเขียน OKRs รายปี ผลลัพธ์หลักที่จะเขียนใน OKRs ชุดนี้ก็ควรเป็น OKRs ที่เราอยากที่จะได้เมื่อสิ้นปี พยายามอย่าเอาผลลัพธ์รายไตรมาสเข้ามาปะปนเป็นต้น และโดยปกติเรามักจะทำ OKRs เป็นรายปีกับรายไตรมาสเท่านั้น เราจะไม่ทำ OKRs ที่มีระยะยาวกว่านั้น
ลองนำเอาเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กันนะครับ
โฆษณา