2 ก.ค. 2022 เวลา 11:07 • อาหาร
"บวชเงียบ ๆ: บวชชีกล้วยน้ำว้ามะพร้าวน้ำหอมกะทิสดดอกอัญชัน"
"บวชเงียบ ๆ" นี่น่าจะเล่นกันครบทุกคณะ ทุกคาเฟ่ต์ บางคณะอาจเล่นครบทุกคาเฟ่ต์ และบางคณะอาจวนมาเล่นเดือนละรอบที่คาเฟ่ต์เดิม คณะดัง ๆ จึงอาจเล่นหลายรอบ หลายคาเฟ่ต์ในคืนเดียว...แอดมินขอละกัน นาน ๆ บวชที บวชเงียบ ๆ อาจจะอยู่ไม่ถึงพรรษา แต่รับรองได้บุญเต็มอิ่มแน่นอน
1
กล้วยน้ำว้างอม + มะพร้าวน้ำหอมอ่อน + กะทิสด + น้ำดอกอัญชัน
วันนี้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าดีเปรสชั่นจะเข้าไทยทำให้ไม่กล้าออกไปไหน อยู่บ้านอ่านหนังสือ บ่ายกว่าละดีเปรสชั่นก็ไม่มา เหงื่อเม็ดโป้ง ๆ ผุดปลายจมูก เอื้อมมือจะเปิดแอร์ก็นึกได้ว่าเดือนก่อนการไฟฟ้าขึ้นค่าเอฟที (Float Time) ค่าไฟจากเดือนละพันกลายเป็นสองพันกว่า งั้นเปิดพัดลมหาอะไรทำลืมดีเปรสชั่นและเหงื่อปลายจมูก หลังคำนวณวัตถุดิบแล้วได้เรื่องว่า เมนูวันนี้ คือ "บวชชีกล้วยน้ำว้ามะพร้าวน้ำหอมดอกอัญชัน"
1
ในทางจิตวิทยา สีที่มีความเข้มมากสามารถลดความอยากอาหารได้ เพราะอาหารที่มีสีน้ำเงินหรือม่วงโดยธรรมชาตินั้นพบน้อย มีเพียงผักผลไม้บางชนิด เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี มะเขือม่วง เผือก และดอกอัญชัญ เมื่อเรามองดูอาหารที่มีสีสันเหล่านี้จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าไม่สมจริง ไม่น่ากิน...ดีละจะได้ไม่กินกะทิมากไงครับ
บางคนสงสัยว่า "บวช" หรือ "บวด" จากที่แอดมินศึกษามาก่อนบวช (บวด) ก็ได้ความว่า มีการใช้กันทั้งสองอย่างเลยครับ โดยราชบัณฑิตได้จัดทำคู่มือบวชเรียนสำหรับนวกะหรือคนบวชใหม่ดังนี้ครับ
สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 16 ได้อธิบายถึง 'บวชชี' ไว้ว่า เป็นของหวานชนิดหนึ่ง ใช้กล้วยสุกจัดต้มกะทิ รสไม่หวานจัด มีรสเค็มผสมอยู่ด้วย ที่มีชื่อเช่นนี้ คงจะเป็นเพราะกล้วยบวชชีถ้าทำดี ๆ สีจะค่อนข้างขาว จึงเปรียบได้กับเครื่องแต่งกายของชี แต่ถ้าหากทำไม่พิถีพิถัน สีจะคล้ำเพราะยางกล้วย นิยมใช้เป็นของหวานพื้น ๆ ไม่นิยมเป็นอาหารออกงาน อย่างเช่นสำหรับพระหรืองานเลี้ยง กล้วยที่นิยมนำมาบวชชี คือ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ก็ใช้กันอยู่บ้างเหมือนกัน...
อิสริยา เลาหตีรานนท์, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (2552)
1
ส่วน "แกงบวด" ก็เป็นคำเก่า มีการใช้กันอยู่โดยทั่วไป ขนบธรรมเนียมในการ "บวด" ไม่แตกต่างกันนัก เพียงแต่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะตามชาติตระกูลกันอยู่บ้างเล็กน้อยแต่พองาม
อาหารหวานอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า 'แกงบวด' วิธีทำทุกอย่างเหมือน 'บวชชี' แต่คงจะเนื่องด้วยสีไม่ขาว เพราะแทนที่จะใช้กล้วยสุกก็ใช้ของอื่น ๆ เช่น กล้วยดิบต้มเสียก่อน เผือก มัน ฟักทอง และนิยมใช้น้ำตาลโตนด หรืออีกประการหนึ่งผู้เป็นต้นคิดของหวานชนิดนี้อาจแจกแจงชื่อไว้เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เรียกสับสน เพราะเมื่อเห็นวิธีทำเหมือนกันอาจเรียกชื่อเช่นเดียวกัน เพราะเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า บวชชีกล้วย จึงคล้ายจะชวนให้คิดว่าอาจบวชชีเผือก บวชชีมันก็ได้
อิสริยา เลาหตีรานนท์, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (2552)
สรุปว่า พิธีกรรมการ "บวช" สงวนไว้ให้แต่เฉพาะ "กล้วย" เท่านั้น จำพวกมันเทศ ฟักทอง ถั่วดำ ถั่วแดง ลูกตาล ลูกจาก แครอต ข้าวโพด และเผือก เหล่านี้ไม่บริสุทธิ์พอ มิอาจเข้าสู่ร่มเงาแห่งพระศาสนาได้ ใครที่ชอบเผือกก็ต้องทำใจครับ
3
เคยเห็นบางคนทำ "กล้วยบวชพระ" ถ้าให้เดาคงกลัวว่าการบวชชีจะได้บุญกุศลน้อย เพราะถือศีลแค่ 8 ข้อ หากจะบวชภิกษุณีก็ต้องถือศีลมากถึง 311 ข้อ มากกว่าพระที่ถือแค่ 227 งั้นจับกล้วยบวชพระเสีย ว่าแล้วเค้าก็ต้มฟักทองบี้ให้เละละลายจนน้ำกะทิเป็นสีเหลืองเหมือนสีจีวรแล้วก็บัญญัตินามว่า "กล้วยบวชพระ" ผมก็ได้แต่อนุโมทนา ทว่าขอข้ามเพราะไม่ชอบกินพระ
2
วันนี้แอดมินขอทำในสิ่งที่ชอบกินและกินในสิ่งที่ชอบทำละกัน "บวชชีกล้วยน้ำว้ามะพร้าวอ่อนดอกอัญชัน" กลัวกล้วยจะเหงาก็ชวนมะพร้าวอ่อนมาบวชเป็นเพื่อนด้วย ปกติกล้วยจะมียางบวชแล้วสีน้ำกะทิจะออกม่วงนิด ๆ ถ้างั้นต้มเอาน้ำทิ้งก่อนก็ได้นะครับ
1
รสบวชชีกล้วยน้ำว้ามะพร้าวน้ำหอมดอกอัญชันแก้วนี้ คือ หวาน มัน เค็ม และหอม (มาก ๆ)
ผมเลือกกล้วยงอม ๆ ครับ จะได้รสหวานหอม และนุ่มละลายในปาก ส่วนมะพร้าวขอเนื้อแข็งนิด ต้มแล้วมันจะนุ่มของมันเอง เวลาเคี้ยวจะได้เต็มคำ สู้ลิ้น น้ำกะทิถ้าได้กะทิคั้นสดดีที่สุด ต้มแค่เดือดปุดรีบปิดไฟ ใส่น้ำตาลทราย กับเกลือปลายช้อน ตัดหวาน ของผมเติมน้ำดอกอัญชันให้ด้วยจะได้เป็นชีคราม มากน้อยเท่าที่ต้องการสีอ่อน-แก่ เพราะอัญชันไม่มีกลิ่น-รสกวนใจ
เรื่องกล้วย ๆ มัน ๆ ในน้ำกะทิสีคราม ลุคส์ใหม่ล่าสุดของผมครับ
กล้วยน้ำว้า กะทิ และมะพร้าวน้ำหอม เวลาอยู่ด้วยกันนี่หอมมาก ๆ ยิ่งกล้วยที่ออกจะงอมจนถึงหง่อม รสหวาน กินง่าย คำก็แล้ว สองคำยิ่งแล้ว สัมผัสนุ่มนวลชวนนึกถึงแม่ชีรุ่นคุณยายคุณย่าในภวังค์สมาธิวิปัสสนา ท่วงทีร่มเย็น สงบ และงาม...
𝄞 ...สุขเถิดแม่ชีอยู่ดีเถิดหนา พลอยโมทนาหมู่มารอย่ามี... ♬ ♪
โฆษณา