4 ก.ค. 2022 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม ตีกราฟมากเกินไป ไม่ใช่เรื่องดี ในการเทรดหุ้น
รู้หรือไม่ว่า การที่เราใช้กราฟ และอินดิเคเตอร์เยอะเกินไปในการตัดสินใจ จะกลายเป็นการทำลายประสิทธิภาพ ในการลงทุนของเราเสียเอง
เพราะอินดิเคเตอร์ที่เราใช้นั้น เกือบทั้งหมดเป็นการแสดงข้อมูลของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เราดูเพียงเท่านั้น
ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยครั้งเข้า ก็มักจะทำให้เราคิดว่า อินดิเคเตอร์ที่ใช้อยู่ไม่ได้ผล
และเราต้องแก้ปัญหา โดยการเพิ่มอินดิเคเตอร์เข้าไปอีก ด้วยความหวังว่าจะทำให้การซื้อขายแม่นยำขึ้น
แต่การมีอินดิเคเตอร์ เต็มหน้าจอไปหมดนั้น จะทำให้เราเกิดความสับสน
และอาจทำให้เรามีอคติ เข้าซื้อด้วยอินดิเคเตอร์หนึ่ง แล้วออกด้วยอีกอินดิเคเตอร์หนึ่ง
เช่น เมื่อสัญญาณขายเกิดขึ้น เราก็จะเข้าข้างตัวเองว่าควรจะรออีกอินดิเคเตอร์ให้แน่ชัด
จนทำให้เลื่อนการขายออกไปเรื่อย ๆ จนประสบกับการขาดทุนหนัก
BillionMoney ขอยกตัวอย่างนักลงทุนคนหนึ่ง ที่ใช้อินดิเคเตอร์เพียงแค่อย่างเดียว แบบเรียบง่าย
นั่นก็คือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน หรือ MA200 แต่สามารถหลีกเลี่ยงการขาดทุนหนัก
ในช่วงเหตุการณ์ Black Monday ในปี 1987 ที่ดัชนีดาวโจนส์ ตกลงมากถึง 22.6% ภายในวันเดียว
พร้อมทั้งทำกำไรได้มากถึง 200% อีกด้วย
ชื่อของเขาคือ คุณ Paul Tudor Jones ผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Tudor Investment Corporation
ที่ ณ ตอนนี้มีทรัพย์สินภายใต้การดูแลมากถึง 248,000 ล้านบาท
กลยุทธ์การเทรดของคุณ Jones ไม่มีอะไรซับซ้อน
โดยถ้าหากราคาสินทรัพย์ปิดเหนือเส้น MA200 ก็แปลว่า ตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เขาจึงจะเข้าซื้อ
แต่ถ้าหากราคาสินทรัพย์ปิดต่ำกว่าเส้น MA200 ก็แปลว่า ตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาลง เขาก็จะขายสินทรัพย์ออก และทำการขายชอร์ตสินทรัพย์นั้น
โดยในปี 1987 นั้น เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังเติบโต
จากนโยบายเศรษฐกิจ ของประธานาธิบดี Ronald Reagan ที่ทำการลดภาษี
พร้อมทั้งเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ
ซึ่งการที่เศรษฐกิจดีแบบนี้ ก็ได้ทำให้ตลาดหุ้นเติบโตอย่างร้อนแรงเช่นเดียวกัน
จนไม่มีใครคำนึงถึงความเสี่ยง ที่ตลาดหุ้นจะตกลงมาแต่อย่างใด
แต่คุณ Jones ที่ได้ลองเทียบรูปแบบของตลาดหุ้น ณ ตอนนั้น กับในช่วงก่อนที่เศรษฐกิจจะตกต่ำ ในปี 1929
ก็ได้พบความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก จึงทำให้เขาเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการลงทุน
หลังจากนั้น ดัชนีดาวโจนส์ก็ได้ทำการปิดต่ำกว่าเส้น MA200 ในวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 1987
คุณ Jones จึงทำการขายสินทรัพย์ของเขาออก พร้อมเริ่มการขายชอร์ตดัชนีดาวโจนส์
เนื่องจากเขามองว่า หลังจากนี้จะเป็นการปรับตัวลงครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นอย่างแน่นอน
และดัชนีดาวโจนส์ที่ตกลงมาถึง 22.6% ในอีก 3 วันต่อมาก็ได้ยืนยันว่าเขาเดาถูก
ซึ่งเหตุการณ์นี้ ได้สร้างกำไรให้กับเขา เป็นจำนวน 3,550 ล้านบาท
และหลังจากนั้น เขาก็รอให้ดัชนีดาวโจนส์กลับมาปิดเหนือเส้น MA200 จึงค่อยเข้าซื้ออีกครั้ง
กรณีศึกษาของคุณ Jones นี้เอง ได้แสดงให้เห็นว่า การจะทำกำไรให้ได้มาก ๆ นั้น
ไม่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือ ที่ซับซ้อนแต่อย่างใด
แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ ไม่แพ้อินดิเคเตอร์ที่ใช้ คือความรู้และประสบการณ์ในการวิเคราะห์ตลาด
และวินัยในการทำตามกลยุทธ์การเทรดของตัวเอง
เพราะถ้าหากในตอนนั้น คุณ Jones ลังเล ไม่ยอมทำตามกลยุทธ์ของตัวเอง
หรือมัวแต่รอสัญญาณยืนยัน จากอินดิเคเตอร์หลาย ๆ ตัว
เขาอาจจะประสบกับการขาดทุนหนัก ไม่ต่างกับนักลงทุนคนอื่น ๆ ก็ได้
ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เราควรทำ ไม่ใช่การหาอินดิเคเตอร์ที่ดีที่สุด แต่เป็นการหาความรู้ และฝึกฝนวินัยในการเทรด
เนื่องจากหลาย ๆ ครั้ง อินดิเคเตอร์ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราใช้ตัดสินใจเสมอไป
เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะสั่งให้นิ้วมือของเรากดปุ่มซื้อขายได้ ก็คือความคิดของตัวเราเอง
โฆษณา