5 ก.ค. 2022 เวลา 15:45 • ไลฟ์สไตล์
คนหมดใจ เงินเท่าไรก็รั้งยาก! เมื่อแรงใจจากภายใน คือไฟในการทำงานที่แท้จริง
หากคุณเป็นผู้นำทีม คุณมีวิธีกระตุ้นลูกทีมอย่างไร ?
1
โดยปกติแล้ว วิธีการที่องค์กร หรือเจ้านายใช้สำหรับกระตุ้นพนักงานของตัวเองให้มีแรงจูงใจในการทำงานออกมาให้ดี และมีกำลังใจในการทำงานต่อไปเรื่อยๆ นั้นก็มีมากมายหลายวิธี แต่วิธีที่พบเห็นได้มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น การชื่นชมให้กำลังใจ เพิ่มเงินพิเศษให้ หรือรางวัลพิเศษ
แต่ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่า แรงกระตุ้นจำพวก เงินรางวัล หรือสวัสดิการเจ๋งๆ จะเป็นวิธีการที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีไปตลอด และเป็นแรงกระตุ้นที่ถูกต้องอย่างแท้จริงสำหรับพนักงานของเราในระยะยาว โดยไม่หมดไฟ Burnout ไปเสียก่อน
แน่นอนว่าทุกคนนั้น ทำงานเพราะหวังผลตอบแทน เพียงแต่ว่าผลตอบแทนของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ซึงผลตอบแทนที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการใช้ชีวิตที่สุดก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า “เงิน”
แต่นอกเหนือจากเงิน ทุกคนก็คงมีคาดหวังกับผลตอบแทนในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์ พื้นที่ในการแสดงออก และอีกมากมาย ซึ่งผลตอบแทนทั้งหมดแล้วเหล่านี้ หากได้รับการกระตุ้นที่ถูกจุดแล้วล่ะก็ มันจะช่วยดึงศักยภาพของคนคนนั้นออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแรงกระตุ้นที่ว่านั้นเรียกว่า “Intrinsic Motivation” หรือ “แรงกระตุ้นจากภายใน” นั่นเอง
Intrinsic Motivation แรงกระตุ้นจากภายใน ที่มองไม่เห็น แต่จับต้องได้
Intrinsic Motivation หรือ แรงกระตุ้นจากภายใน คือแรงขับเคลื่อนทางใจที่คอยกระตุ้นให้เราเกิดพฤติกรรม หรือการกระทำต่างๆ ที่ไม่ว่าจะมาจากความคิด ทัศนคติ ความสนใจ ความชอบ หรือแม้แต่ความเชื่อของเราก็ตาม ซึ่งล้วนแล้วทั้งหมดส่งผ่านออกมาเป็นการกระทำของตัวเรา โดย Intrinsic Motivation นั้นเป็นแรงจูงใจที่ยั่งยืน และส่งผลให้เราแสดงออกทางด้านพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง และยาวนาน
เช่นเดียวกับที่มนุษย์มีความต้องการทางกายภาพ เช่น ความหิวโหย หรือความเหนื่อยล้า ที่ต้องได้รับการเติมเต็ม มนุษย์เองก็มีความต้องการที่จะเติมเต็มทางด้านจิตใจเช่นเดียวกัน เช่น ความเป็นที่ต้องการ ความสามารถ หรือคุณค่าภายในจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเล่นกีฬาเก่งแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเก่งมีคุณค่า บางคนทำงานจิตอาสาที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นแล้วอิ่มเอมใจ หรือบางคนทำงานอะไรก็ตามที่รู้สึกว่าสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็จะทำให้พวกเขามีความสุข ทำงานเหล่านั้นได้ดี รวมถึงทำมันได้นาน
Intrinsic Motivation ในการทำงาน
จิม บาร์เน็ต (Jim Barnett) CEO ของ Glints แพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาอาชีพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขียนบทความลงใน Forbes ว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว องค์กรต่างๆ มักจะพยายามหาแรงจูงใจ หรือทำการกระตุ้นพนักงานด้วยแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก หรือ Extrinsic Motivation อย่างการให้โบนัสก้อนโต การเลื่อนตำแหน่ง การขึ้นเงินเดือน หรือทริป Outing ที่ต่างประเทศ ซึ่งวิธีการเหล่านี้นั้นเป็นวิธีการแบบดั้งเดิม ที่แม้จะได้ผลดีในระยะสั้น แต่ไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวบริษัทและพนักงานในระยะยาว
และถึงแม้ว่ารางวัลที่องค์กรต่างๆ พยายามนั้นจะดูแล้วมีค่ามากแค่ไหน สุดท้ายแล้วตัวพนักงานเองก็จะรู้สึกว่าพวกเขากำลังโดนมัดมือชก โดนควบคุมการทำงานมากเกินไป โดยแทนที่พนักงานจะรู้สึกตื่นเต้น และท้าทายที่จะไปให้เหนือกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไฟในการทำงานกลับมอดลงไปเรื่อยๆ
เป็นเหตุจากการทำงานที่ไม่มีความหมายที่กัดกินจิตใจไปทุกๆ วัน ถึงแม้จะฝืนเติมเชื้อเพลิงอย่าง เงินเดือน โบนัส หรือรางวัล เข้าไปเพื่อให้เห็นผลระยะสั้นที่ทำให้ไฟในการทำงานลุกโชนขึ้นมาในช่วงสั้นๆ แต่เมื่อนานไป สุดท้ายพนักงานก็จะหมดไฟ Burnout ไปอย่างน่าเศร้า
ในทางกลับกัน ถ้าเกิดว่าองค์กร หรือผู้นำทีมสามารถหา Intrinsic Motivation ของพนักงานได้ เช่น โอกาสในการเติบโต หรือจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ซึ่งเป็นแรงผลักดันจากภายในตัวพนักงานเอง มันก็จะกลายเป็นแรงกระตุ้นจากภายใน ที่คอยเติมไฟในการทำงานของพวกเขาเอง โดยที่บริษัทหรือผู้นำทีมนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาปัจจัยภายนอกมากระตุ้นเลยแม้แต่น้อย
ในบทวิเคราะห์ Meta-Analysis ที่ตีพิมพ์ลงใน Psychological Bulletin ในปี 2014 นี้ พบว่า สำหรับงานที่มีความซับซ้อน และอาศัยความครีเอทีฟในการทำงานนั้น มีข้อพิสูจน์ออกมาแล้วว่าการใช้ Intrinsic Motivation ในการกระตุ้นพนักงาน ทำให้พนักงานสามารถทำผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ Extrinsic Motivation ถึง 6 เท่าด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมีบทวิจัยจาก Annual Review of Organizational Psychology and Organizational Behavior ที่ได้ค้นพบ Intrinsic Motivation รูปแบบต่างๆ ที่ได้รับการศึกษาแล้วว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานมีความสุขกับงานของตัวเอง โดยมี 3 สิ่งด้วยกันก็คือ
1. ความสัมพันธ์ของพวกเขาต่อทีมที่ทำงาน และหัวหน้างาน ที่ส่งเสริมให้เกิดการพูดคุย ถกเถียงกันอย่างเปิดเผย
2. มีความเป็นอิสระสูง และได้รับความไว้วางใจในที่ทำงาน
3. ได้รับการจัดสรรตำแหน่ง และความรับผิดชอบงานที่ชัดเจน โดยอิงกับจุดแข็ง และความชอบของพวกเขา
1
“3C” วิธีค้นหาแรงกระตุ้นภายในใจ สำหรับผู้นำ
แน่นอนว่า ต่างคนก็ต่างวาระ ทุกคนมีแรงจูงใจ และแรงกระตุ้นที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางทีพนักงานหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Intrinsic Motivation ของตัวเองคืออะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำต่างๆ อย่าง CEO หรือหัวหน้าทีม ที่ควรค้นหา และตอบสนองความต้องการเหล่านั้นให้กับลูกทีมของตัวเอง ซึ่งก็สามารถทำได้ตามวิธี “3C” ดังนี้
1. Conversation (การพูดคุย) สำหรับผู้นำแล้ว การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาแบบจริงจังหรือแค่พูดคุยหยอกล้อกันเล่น ก็สามารถทำให้เราผู้นำรับรู้ได้ว่าลูกทีมของเราเป็นคนอย่างไร ต้องการอะไรในชีวิต และต้องการประสบความสำเร็จอย่างไรในหน้าที่การงาน
2. Choice (การให้อิสระทางเลือก) ผู้นำควรมอบอิสระ และทางเลือกในการทำงานสำหรับพนักงานมากขึ้น ช่วยให้พวกเขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของงานที่ทำ (Sense of Ownership) ให้อิสระกับวิธีการทำงาน รวมถึงให้พวกเขาเป็นคนตัดสินเองว่าพวกเขาประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่
3
3. Coaching (การฝึกสอน) การ Coaching ไม่ได้เป็นเพียงการให้แนะนำเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการช่วยนำทางพนักงานไปสู่ความสำเร็จ และค้นหาคำตอบ ที่พวกเขามีอยู่แล้วในตัวออกมาให้เจอ ช่วยให้พวกเขาเกิดความหลงใหล ในหน้าที่ของตนเอง รวมถึงทำให้พวกเขารู้ว่าเราพร้อมที่จะให้คำแนะนำอยู่เสมอ
ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่ได้กำลังจะบอกว่า ค่าตอบแทนอย่างเช่น โบนัส ค่าทำงานล่วงเวลา หรือการเพิ่มเงินเดือนนั้นไม่สำคัญ เพียงแต่ว่าการที่จะผู้นำนั้นจะสามารถทำให้เหล่าลูกทีมของตัวเองเติบโตไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้นได้นั้น มันอาจจะต้องเกิดมาจากแรงผลักดันภายในใจของแต่ละคนเอง เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เราสามารถเปลี่ยนงานที่ให้ความรู้สึก “จำเจ” เป็น “ภูมิใจ” ได้เมื่อไหร่แล้วล่ะก็ เราจะสามารถมองเห็นคุณค่าใหม่ๆ ของชีวิตที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อนเลยก็เป็นได้
อ้างอิง
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#intrinsicmotivation
#leadership
โฆษณา