6 ก.ค. 2022 เวลา 08:52 • ศิลปะ & ออกแบบ
“ย่ามจกโบราณ ชาวไทยวน ในราชบุรี"
(เมตตากดติดตามด้วยนะครับ)
ย่ามโบราณ กลุ่มไท-ยวนราชบุรี (ข้อมูลเดิมระบุ "ตระกูลคูบัว")
ทอด้วยเส้นไหมแท้ ด้านในบุและปักขอบถุงด้วยฝ้าย เย็บต่อด้วยไหม ลวดลายตัวถุงใช้วิธีการจกลาย เป็นลายนกคู่ ลายประแจ ลายฟันปลาเค้า และลายมะลิเลื้อย รวมถึงมีการใช้เทคนิคยกมุก อายุประมาณ 118-150 ปี (เจ้าของเดิมเป็นภิกษุ)
“ย่ามจก” ไทยวน ราชบุรี เป็นย่ามที่ใช้เทคนิคการทอหลากหลาย อาทิ
- เทคนิคทอขัดธรรมดาเป็นลวดลายริ้วแนวขวางสลับสีระหว่างสีเขียวกับสีแดง ซึ่งเป็นการให้ระยะในการจัดวางลวดลายอย่างสม่ำเสมอ
- เทคนิคยกมุก ทอยกตะกอ หรือทอเก็บเส้นยืนด้วยไม้หลาบตลาดหน้าผ้า แล้วจึงเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษด้วยเส้นฝ้าย และหรือเส้นไหม เป็นลวดลายเดียวกัน สีเดียวกัน ตลอดหน้าผ้า (โดยใช้เส้นพุ่งพิเศษเส้นเดียวกัน)
- เทคนิคจก ด้วยเส้นฝ้าย หรือไหม สีแดง สีดำ สีเหลือง สีขาว สีเขียว และสีครามเป็นลวดลายขอประแจ ลวดลายมะลิเลื้อย ลวดลายนกคู่กินน้ำร่วมเต้า และลวดลายฟั่นปลาเค้า ตกแต่งบนผืนผ้า
โครงสร้างของผ้าย่ามจก หรือย่ามจก ของชาวไทยวน ราชบุรี ประกอบด้วยผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ผืน ขนาดความยาวต่างกัน นำมาเย็บต่อกันโดยให้ผืนผ้าที่มีความยาวที่สุด เป็น “หู ” หรือ “สาย” ไว้สำหรับคลองสะพายโดยการสอดเข้าที่ไหล่ หรือบ่า ส่วนผืนผ้าที่มีขนาดสั้นกว่าจะเป็นตัวถุง ทั้งยังนิยมการ "ปัก" โดยใช้ไหมหลากสี ตกแต่งบริเวณปากถุง บริเวณตะเข็บถุง เพื่อความสวยงาม คงทนและอาจมีการใช้ผ้าฝ้ายเนื้อดีเย็บบุซ้อนด้านในของย่าม เพื่อให้เกิดความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานอีกด้วย
“ย่ามจก” ไทยวน ราชบุรีที่มีลักษณะจก ยกมุก เป็นลวดลายเต็มผืนผ้าในรุปแบบนี้ นิยมใช้ถวายพระสงฆ์ หรือผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ เพื่อสำหรับใส่สัมภาระ
อรรถพงษ์ ประดิษฐพงษ์ / เขียน
เป็นศรีเวียงน่าน / รูปภาพ
ย่ามจกโบราณ จาก “จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว” วัดโขลงสุวรรณคีรี ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี โดย ดร. อุดม สมพร
สามารถแชร์ข้อมูลและรูปภาพได้
แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอกข้อมูล และรูปภาพเพื่อไปใช้ในงานส่วนตัว ก่อนการได้รับอนุญาตทุกกรณีครับ
.
อ้างถึงสิทธิในลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที นับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือผ่านพิธีการใดๆ
โฆษณา